• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หอมเล็ก

 


⇒ ชื่ออื่น

ปะเซ้ส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) ; ปะเซอก่อ (กะเหรี่ยง-ตาก) ; หอม (ทั่วไป) ; หอมแดง (ภาคกลาง-ภาคใต้) ; หอมไทย, หอมหัว (ภาคกลาง) ; หอมบัว (ภาคเหนือ) ; ชัง,ตังชัง (จีน) ; shallot.

 

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
Allium ascalonicum L. วงศ์ Liliaceae

 

⇒ ลักษณะ
เป็นพืชขนาดเล็ก สูง 15-50 ซม. มีกาบใบพองสะสมอาหารเป็นกระเปาะคล้ายหัว สีแดงถึงน้ำตาลเหลือง (ขยี้ดมกลิ่นฉุนและระคายเคืองตาทำให้น้ำตาไหล) หัวยาว 1.5-4 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 1-4 ซม. ใบสีเขียวเข้มเป็นเส้นกลม ภายในกลวง ยาวประมาณ 30 ซม. ปลายใบแหลม ก้านช่อดอกเป็นเส้นกลมภายในกลวง สีเขียวยาว 20-50 ซม. ที่ยอดดอกออกเป็นช่อลักษณะคล้ายร่ม เมื่อดอกบานเต็มที่เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5-3.5 ซม. มีดอกย่อยจำนวนมาก ก้านดอกย่อยยาว 1-1.5 ซม. กลีบ
เลี้ยงเป็นเยื่อบางๆ กลีบดอกมี 6 กลีบสีขาว หรือออกม่วงอ่อนๆ ยาว 0.4-0.9 ซม. เกสรตัวผู้มี 6 อัน มีรังไข่อยู่เหนือส่วนอื่นทั้งหมด ผลอยู่รวมกันเป็นกระจุกกลม เมล็ดสีดำ ออกดอกในฤดูหนาว พบปลูกขายเป็นผักสด มีปลูกมากทางภาคเหนือเพื่อเก็บหัวขาย

 

⇒ ส่วนที่ใช้
หัวหอม (กาบใบที่สะสมอาหาร) และเมล็ดใช้เป็นยา
หัวหอม เมื่อต้นเจริญเต็มที่ใบเริ่มเหี่ยว ขุดหัวมัดเป็นกระจุกห้อย เก็บไว้ใช้
เมล็ด ผลแก่เก็บตากแห้งแยกเอาเมล็ดเก็บไว้ใช้

 

⇒ สรรพคุณ
หัวหอม (กาบใบที่สะสมอาหาร) มีรสฉุน สุขุม ทำให้ร่างกายอบอุ่น ขับลม แก้ท้องอืดแน่น ช่วยย่อยอาหารทำให้เจริญอาหาร แก้บวมน้ำ ฆ่าพยาธิแลพแก้อาการอักเสบต่างๆ

เมล็ด แก้กินเนื้อสัตว์เป็นพิษ อาเจียนเป็นเลือด ร่ากายซูบผอมเหลือง

 

⇒ วิธีและปริมาณที่ใช้
หัวหอมสด 15-30 กรัม ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอก ตำ ถู ทา
เมล็ด แห้ง 5-10 กรัม ต้มน้ำกิน

 

⇒ ข้อควรระวัง
กินหัมหอมปริมาณมากเป็นประจำ อาจทำให้หลงลืมได้ง่าย รากผมเป็นโรคเรื้อรัง ผมไม่เจริญงอกงาม ทำให้มีกลิ่นตัว ฟันเสีย เลือดน้อย ตาฝ้ามัวไม้แจ่มใส ถ้ากินปริมาณมากเกินอาจทำให้ประสาทเสียได้

 

⇒ ตำรับยา
1.หน้าบวม ท้องอืดแน่น ปัสสาวะขัดหรือน้อย อาการหอบหืด ใช้ถั่วแดงชนิดเมล็ดเล็ก 1 ถ้วยชา หัวหอม 10 หัวซอยเป็นฝอย ใส่น้ำ 5 ถ้วยชา ต้มจนถั่วสุก ให้น้ำแห้งพอดี ใส่เซียวเจี๊ยะ (Niter มี KNO3 เป็นสารสำคัญ อาจใช้ดินปลาสิวแทนได้) 30 กรัมลงในกะละมัง ต้มบดคลุกกับถั่วและหัวหอมให้ละเอียดได้เป็นของเหลวข้นๆ กินทุกวันตอนท้องว่าง แล้วกินเหล้าองุ่นตามด้วยครึ่งช้อนชา

2.กินเนื้อสัตว์เป็นพิษ อาเจียนเป็นเลือด ร่างกายผอมเหลือง ใช้เมล็ด 1 ถ้วยชา ล้างให้สะอาด ตำให้แตกใส่น้ำต้ม รินกิน เมื่อน้ำเย็นครั้งละครึ่งถ้วยชา วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

 

⇒ หมายเหตุ
หัวหอม ใบและช่อดอกอ่อน
กินเป็นผักสดและปรุงเป็นอาหาร
หอมทั้งหัวและใบ ดอกเปรี้ยวกินเป็นผักจิ้ม

ในฟิลิปปินส์ ใช้หัวหอมเป็นยาขับพยาธิ กระตุ้นน้ำย่อย แก้ท้องเสีย อหิวาตกโรค ปวดหลังบริเวณเอว ปวดหัว และปวดเนื่องมาจากประจำเดือนไม่มา

ในอาฟริกาตะวันตก ใช้น้ำคั้นจาหัวหอมถูทาตัวเด็กใช้แก้ไข้ ใช้เป็นยากระตุ้นความรู้สึกทางเพศ แก้ปวดและแก้ไข้

ในมาเลเซีย ใช้น้ำคั้นจากหัวหอมถู ทาผิวหนัง ทำให้ร้อน ขับพยาธิ แก้ปวดท้องเนื่องจากกินมากเกินทำให้อาหารไม่ย่อย หรือใช้น้ำคั้นจากหัวหอมผสมน้ำขมิ้นให้เด็กกินแก้ปวดท้อง แก้ปากเป็นฝ้าขาว

น้ำคั้นจากหัวหอมอุ่นร่วมกับใบผักกาดน้ำ เปลือกชลูด ถูทาบริเวณฟกช้ำ นอกจากนี้ ยังใช้ผสมทำลูกแป้งหมักเหล้า ใช้เป็นยาพอกผิวหนังช้าง และผสมอาหารให้ช้างกิน ขับพยาธิในลำไส้ และยังใช้ผสมกับยาพิษติดปลายลูกศรหรือลูกดอกอีกด้วย

ตามสรรพคุณโบราณของไทยกล่าวว่า ใบมีรสเค็มหวาน เป็นเมือก ใช้แก้หวัดและเลือดกำเดาออก หัวหอมรสเผ็ดร้อน แก้ไข้มีเสมหะ ใช้ในปริมาณน้อย บำรุงผมให้งอกงาม ทำให้ผิวหนังสดชื่น แก้ไข้ ถูทาผิวหนังทำให้ร้อน ขับเสมหะ แก้โรคในปาก บำรุงธาตุ ใช้ภายนอก ใช้หัวหอมสดผสมหัวเปราะหอม พิมเสน และเหล้าเล็กน้อย ตำคั้นเอาน้ำ แล้วชุปสำลีปิดรอบกระหม่อมเด็ก เว้นรูตรงกลางกระหม่อมไว้ ให้ทำในตอนเย็นประมาณ 1 ซม.แล้วเอาออก แก้เด็กเป็นหวัดคัดจมูก เด็กเป็นลมชักใช้หัวหอมตำให้ละเอียดทาศีรษะและตามหน้าช่วยให้เด็กหายใจดีขึ้น

 

 

ข้อมูลสื่อ

27-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 27
กรกฎาคม 2524
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ