• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคอันเกิดจากการประกอบอาชีพสิ่งแวดล้อมและการทำงาน


โรคอันเกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการทำงาน ซึ่งทางราชการกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ มีอยู่ 22 ประเภท (ทั้งนี้รวมทั้งโรคผิวหนังอันเกิดจากการสัมผัสรับเนื่องจากการทำงาน) นอกจากนี้ ยังมีอุบัติเหตุอันตรายอันเนื่องจากการประกอบอาชีพ ซึ่งเกิดได้จากสาเหตุใหญ่ๆ อีก 8 ประการ คือ ลื่นหกล้ม ตกจากที่สูง สิ่งของตกใส่ ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ถูกของมีคม แรงระเบิด ไฟฟ้าดูด วัตถุอันตรายและกัมมันตภาพรังสี


กลไกที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังจากการทำงาน คือ สารที่สามารถทำอันตรายระคายเคืองผิวหนัง หรือสารที่มีคุณสมบัติกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้มาถูกผิวหนังเข้าก็จะเกิดอาการเป็นโรคผิวหนังขึ้นอาการนี้มีต่างๆ กัน ตั้งแต่บวมแดง อักเสบ เป็นผื่นคันเป็นเม็ดน้ำพองขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ หนังเปลี่ยนสี หนังแห้ง หนังหนา ตกสะเก็ด และอื่นๆ อีกหลายประการ


ในกรณีของสารที่กัดหรือระคายเคืองต่อผิวหนังแล้ว ระยะที่โรคจะเกิดขึ้น ขึ้นอยู่กับความแรงของสารนั้น รวมกับช่วงเวลาที่ผิวหนังสัมผัส เช่น คนทำงานเกี่ยวกับกรดหรือสารเคมี หากเผอิญมือหรือแขนไปถูกกรดเข้า อาการปวด บวม พองแดง ก็อาจจะเกิดขึ้นได้ในทันที แล้วยังมีอาการอื่นๆ ในภายหลังอีก เช่น เกิดแผลเป็นหรือผื่น สำหรับคนทำงานใกล้ความร้อน เช่น ในโรงงานหลอมเหล็ก หล่อเหล็ก รังสีความร้อนกระจายมาถูกผิวหนังตลอดเวลา ในขนาดที่พอทนได้ อาการทางผิวหนังแบบไฟไหม้
น้ำร้อนลวกจึงไม่ปรากฎเห็น แต่จะปรากฏเป็นอาการแบบเรื้อรัง คือ เป็นช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป ผิวหนังจะแห้งดำขึ้น คล้ำขึ้นต่อไป บางคนเกิดหนังหนา บางคนอาจจะเกิดหนังบางๆ เป็นผื่นแดง และมีหนังแตกเป็นระแหง


ฉะนั้นจะเห็นว่าอาการทางผิวหนังที่เกิดจากสารที่กัดระคายเคือง จะขึ้นอยู่กับขนาดและคุณ
สมบัติความแรงของสารนั้น ร่วมกับระยะเวลาที่ผิวหนังไปสัมผัสจึงจะเกิดปฏิกิริยาขึ้น
ในบางกรณี ขนาดและช่วงเวลามีความสำคัญเท่าๆ กัน คือ สารนั้นๆ จะต้องสัมผัสกับผิวหนังเป็นเวลาที่แน่นอน จึงจะเกิดอาการทางผิวหนังขึ้น แต่ในบางครั้งขนาดก็มีความสำคัญกว่าช่วงเวลา เช่น ในกรณีที่มีขนาดสูงมากๆ อาจเกิดอาการแพ้พิษอย่างเฉียบพลัน (Acute) เช่น ในกรณีกรดและสารเคมีดังกล่าวข้างต้น ในบางครั้งช่วงเวลามีความสำคัญมากกว่าขนาด เช่น ในกรณีขนาดน้อยๆ ก็จะเกิดอาการทางผิวหนังชนิดเรื้อรัง (Chronic)


ในกรณีของการแพ้ (Allergy) สารที่มาสัมผัสกับผิวหนัง ไม่จำเป็นต้องใช้ความแรง แต่ต้องเป็นสารที่มีคุณสมบัติแทรกซึมเข้าสู่ใต้ผิวหนัง แล้วไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา ระยะตั้งแต่ระบบภูมิคุ้มกันถูกกระตุ้น จนถึงภูมิคุ้มกันถูกสร้างขึ้นมาเรียกว่า ระยะฟักตัว ซึ่งอาจจะพบตั้งแต่ 5 วันเป็นเดือน หรือหลายๆ ปีก็ได้ เมื่อสิ้นสุดระยะฟักตัว พอถูกสารที่ทำให้เกิดการแพ้เข้าอีกครั้งหนึ่งก็จะเกิดปฎิกิริยาทางผิวหนัง เกิดเป็นผื่นคันขึ้นมา


การรักษาโรคทางผิวหนังที่เกิดจากอาชีพและทำงาน เป็นการรักษาตามอาการวิธีสำคัญคือการค้นหาสาเหตุและการป้องกันในบางครั้งคนไข้อาจจะรู้สาเหตุได้เอง จากการที่เป็นอยู่บ่อยๆ แต่บางครั้งแพทย์ก็ต้องใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ช่วยทดสอบและยืนยัน

ในด้านการป้องกันอาจจะทำได้หลายวิธี เช่น ใส่ถุงมือป้องกันสารเคมี ในงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีต่างๆ แต่งกายด้วย เครื่องแต่งกายที่เหมาะกับงานที่ทำ สวมรองเท้าที่เหมาะสม เช่น หากทำงานเกี่ยวกับความเปียกชื้น ควรใส่รองเท้าบู๊ทยาว นอกจากนี้อาจจะใช้ครีม ป้องกันอันตรายต่อผิวหนัง (Barrier Cream) ทาบนผิวหนัง ก่อนลงมือปฏิบัติงาน เป็นต้น


สิ่งแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ที่ก่อให้เกิดโรคจากการทำงาน จากหนังสือพิมพ์เราจะพบว่าเจ้าของโรงงานหรือผู้บริหารงานได้ใช้วิธีการต่างๆ ที่ขาดหลักการและผิดกฎหมายแรงงาน เพื่อเอาเปรียบลูกจ้าง ในเวลาเดียวกันเราก็ได้รู้ว่ามีลูกจ้างอีกหลายคนใช้ช่องว่างทางกฎหมาย เอาเปรียบนายจ้าง มีหลายคนอาศัยใบรับรองแพทย์เป็นข้ออ้าง หรือขอให้แพทย์ออกใบรับรองให้ถูกจุดประสงค์ของตัวเอง เพื่อออกจากงานและจะได้รับเงินชดเชยซึ่งขอชี้แจงว่าใบรับรองแพทย์ว่าป่วยเพราะงานชนิดหนึ่ง นายจ้างอาจจะหางานประเภทอื่น ที่เหมาะกับท่านให้ทำก็ได้ แต่ถ้าท่านป่วยจนทำอะไรไม่ได้จริงๆ แพทย์ก็จะรับรองให้ และในกรณีนี้ท่านจะได้รับเงินชดเชยอย่างแน่นอน

 


 

ข้อมูลสื่อ

27-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 27
กรกฎาคม 2524
โรคผิวหนัง
นพ.วิชนารถ เพรชบุตร