โรคที่พบแต่กำเนิดนั้นมีมากมาย เมื่อไรที่เป็นโรคเหล่านี้ตั้งแต่คลอด ก็ต้องคิดเสียว่าเคราะห์ร้าย ซิฟิลิสแต่กำเนิดเป็นโรคที่ป้องกันได้ เราจึงควรที่จะรู้จักโรคซิฟิลิสให้มากขึ้น จะได้ช่วยป้องกันไม่ให้ลูกหลานผู้เกิดใหม่ต้องเคราะห์ร้ายแต่กำเนิด และทนทุกข์ทรมานไปอีกนานหลายๆ ปี
ซิฟิลิสเป็นโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เรารู้จักโรคนี้มาตั้งแต่คริสต์ศักราชที่ 15 เชื้อที่ทำให้เกิดโรคเป็นเชื้อสไปโรขีต ชนิดหนึ่ง มนุษย์เป็นแหล่งเก็บเชื้อ ไม่พบเชื้อในสัตว์อื่น โรคนี้จึงเป็นโรคของมนุษย์เท่านั้น
การติดต่อ ติดต่อได้ 3 ทาง คือ
1.ทางเพศสัมพันธ์ เมื่อหญิงหรือชายไปสัมผัสกับผู้ที่เป็นโรคในระยะติดต่อ อาจติดต่อทางแผลริมแข็งที่อวัยวะเพศ แผลที่ เยื่อเมือก ผิวหนัง น้ำลาย เลือด ตกขาว หรือ ติดจากผื่นที่พบในระยะที่สองของโรค การกอดจูบอาจติดต่อได้ แต่น้อย ส่วนการติดต่อทางอ้อม เช่น จากเสื้อผ้า ของใช้ที่เปื้อนเชื้อนั้น ติดต่อได้น้อยมาก
2.ติดเชื้อก่อนเกิด คือ พวกทารกในครรภ์ติดเชื้อจากแม่ทางรก ทำให้เกิดเป็นโรคซิฟิลิสตั้งแต่เกิด
3.ติดเชื้อจาการได้เลือด ในกรณีที่ได้รับการถ่ายเลือดโดยใช้เลือดที่ยังสดใหม่ๆ หากใช้เลือดที่เก็บในคลังเลือดที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส นานเกิน 72 ชั่วโมง เชื้อที่อาจมีติดมาจากผู้บริจาคเลือดก็จะตายหมดไป การใช้เลือดสดๆ จึงควรเลือกเฉพาะรายที่เลือดปราศจากเชื้อซิฟิลิสเท่านั้น
ระยะฟักตัวของโรค คือ ระยะที่เชื้อเข้าสู่ร่างกายจนเกิดอาการของโรคนั้นประมาณ 10 วันถึง 10 อาทิตย์ โดยเฉลี่ย 3 อาทิตย์
เนื่องจากโรคนี้ยังพบได้มากในบ้านเรา เมื่อปี 2520 จากรายงานของกองควบคุมกามโรค มีผู้ป่วยถึง 11,345 ราย เป็นผลให้เราพบโรคซิฟิลิสตั้งแต่เกิดได้เสมอๆ เช่น ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบได้ปีละประมาณ 40 ราย จากการคลอดปีละประมาณ 18,000 ราย หรือพบได้ 1 รายจากการคลอด 450 ราย
อาการในผู้ใหญ่
ระยะที่ 1
แผลริมแข็ง เกิดแผลตรงที่เชื้อไชร่างกาย ซึ่งมักเป็นบริเวณอวัยวะเพศ มักเป็นแผลเดี่ยวนูนขึ้นริมแข็งและไม่เจ็บปวด ขนาดแผลมีได้ต่างๆ กัน ตั้งแต่ไม่กี่มิลลิเมตรจนโตขนาด 1-2 เซนติเมตรแผลนี้ถึงไม่รักษาก็หายเองใน 4-6 สัปดาห์
ฝีมะม่วง ต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต หลังจากมีแผล 1 สัปดาห์ มักเป็นข้างเดียว ไม่แตกเป็นหนอง อาการไม่รุนแรง
ระยะที่ 2
ระยะผื่นออก (ชาวบ้านเรียกว่า ออกดอก) ผื่นมีได้หลายแบบ ซิฟิลิสมีชื่อในการเลียนแบบ ผื่นซิฟิลิสจึงดูคล้ายผื่นในโรคผิวหนังหลายๆ โรค อาการทั่วไป อาจพบพร้อมผื่นก่อนผื่นออกหรือหลังผื่นออกก็ได้ มีไข้ต่ำๆ ปวดกล้ามเนื้อและข้อ เบื่ออาหาร ปวดหัว ต่อมน้ำเหลืองโตทั่วตัว ได้แก่ที่ลังหู ท้ายทอย ข้อศอก ขาหนีบ และหลังขาพับ พบโลหิตจางด้วย อาการทั่วไปเหล่านี้พบได้ในผู้หญิงร้อยละ 50 ผู้ชายร้อยละ 25
ระยะที่ 3
เกิดหลังรับเชื้อ 3-10 ปี ทิ้งช่วงนานจนลืมไปแล้วว่า เคยเป็นโรคนี้ จะเป็นได้ที่ผิวหนัง เยื่อเมือก กระดูก ตา อวัยวะภายใน หลอกเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจตีบ ลิ้นหัวใจรั่ว เส้นเลือดใหญ่พองจนอาจทะลุได้ นอกจากนี้ยังเป็นซิฟิลิสของระบบประสาทได้อีก คือ เป็นในสมอง หรือในไขสันหลัง หรือตลอดระบบประสาท
จะเห็นได้ว่าโรคนี้เป็นโรคร้ายแรงในผู้ใหญ่ ระยะโรคนานหลายปี ทำให้เสียสุขภาพและเศรษฐกิจ ทั้งยังแพร่เชื้อถึงภรรยา ผู้อื่น และทารกในครรภ์ได้อีก
อาการของซิฟิลิสตั้งแต่เกิด แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก และระยะสุดท้าย เทียบได้กับระยะสองและสามของซิฟิลิสในผู้ใหญ่
ระยะแรก
อาการมีได้ต่างๆ กัน ตามระยะที่ติดโรค (อายุครรภ์ของแม่) และการรักษาที่แม่ได้รับ เด็กมักตัวเล็กกว่าอายุ, อาจมีผื่นเมื่อแรกคลอดแต่บางรายก็เกิดอาการทีหลัง, อาจมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกไหล คล้ายเป็นหวัดเรื้อรัง, พบตับและม้ามโตได้บ่อยๆ, ต่อมน้ำเหลืองโต, บางรายมีอาการทางไต บวมทั้งตัว หรือมีท้องมารด้วย แต่พบได้น้อย, บางรายเด็กนอนนิ่งไม่ขยับเขยื้อนคล้ายเป็นอัมพาตเนื่องจากเยื่อหุ้มกระดูกอักเสบ, เด็กมักซีด ตัวเหลืองเพราะตับอักเสบ, บางรายปอดบวม, บางรายมีต้อหิน, บางรายก็มีอัณฑะอักเสบ นอกจากนี้ยังพบอาการทางระบบประสาทได้ เช่น ประสาทสมองพิการ ปัญญาอ่อน
ระยะท้าย
พบหลังเด็กอายุได้ 2 ขวบ ระยะนี้ไม่ติดต่อ อาการได้แก่ เพดานโหว่ จมูกบี้ รอบปากเป็นแผล รูปฟันผิดปกติ แข็งบวม ข้อเข่าบวม มีน้ำในข้อเข่าแต่ไม่เจ็บ ตาดำอักเสบ หูหนวก ปัญญาอ่อน
การป้องกัน
1.ผู้เป็นพ่อไม่ควรประพฤติสำส่อนทางเพศ หากติดโรคซิฟิลิสแล้วควรรีบรักษาให้หายขาด ไม่ควรรักษาเองอย่างครึ่งๆ กลางๆ หรือคิดว่าแผลริมแข็งหายแล้วก็หมดเรื่อง เมื่อรู้ว่าเป็นโรค ต้องกล้าหาญบอกความจริงกับภรรยา และพาภรรยาไปตรวจรักษาด้วย
2.เมื่อแม่เด็กตั้งครรภ์ ควรตรวจเลือดแต่เนิ่นๆ ไม่ควรรอจนเด็กในครรภ์ดิ้นหรือรอจนใกล้คลอดจึงไปฝากครรภ์ หากทราบว่าแม่เป็นโรคแล้วรักษาเต็มที่แต่แรก เด็กก็อาจปลอดภัยได้
3.หญิงที่มีประวัติแท้งลูกบ่อยๆ หรือมีลูกตายในครรภ์หรือภายหลังคลอดไม่นาน น่าจะได้ตรวจเลือด
ดูอาจพบเลือดบวก ถ้ารักษาให้หายแล้วก็อาจมีลูกปกติได้
4.หญิงที่ได้ตรวจเลือดแล้วไม่พบว่าเป็นในระยะตั้งท้องใหม่ๆ เมื่อใกล้กำหนดคลอด ก็น่าจะตรวจซ้ำอีก เพราะอาจจะติดเชื้อจากสามีได้อีกในระยะหลัง
การรักษา
เมื่อวินิจฉัยโรคซิฟิลิสตั้งแต่เกิดได้ ก็ต้องรักษาเต็มที่ตามที่แพทย์แนะนำ และยังต้องนำเด็กมาให้แพทย์ตรวจติดตามดูอาการของโรคอีกเป็นระยะๆ เพราะอาจจะมีอาการเมื่ออายุมากขึ้นเช่นกว่าจะมีอาการทางตาก็อายุเข้าวัยรุ่น อาการทางข้อก็เห็นได้เมื่อโตดังกล่าวแล้วในตอนต้น
การทำนายโรค ผลของการรักษาโรค จะได้ผล ถ้าการรักษาเริ่มเร็ว คือในระยะครรภ์อ่อนๆ ก่อน 16 อาทิตย์แรกยิ่งดี เด็กจะไม่มีอาการเลยถ้ารักษาก่อนอายุครรภ์ได้ 4 เดือน ถ้ารักษาแม่ช้าเท่าไร ลูกก็ยิ่งมีอาการมากและผลของการรักษาก็ไม่ดีเท่ากับพวกที่รักษาแต่แรกๆ เด็กที่มีอาการตั้งแต่แรกคลอดเลยนั้น จะหนักกว่าพวกที่เกิดอาการในระยะต่อมา ถ้าเป็นเด็กครบกำหนดก็จะมีความรุนแรงของโรคน้อยกว่าเด็กที่คลอดก่อนกำหนด
สรุป ซิฟิลิสตั้งแต่เกิด เป็นโรคร้ายแรง แต่ป้องกันได้ หญิงมีครรภ์ควรตรวจเลือด เพื่อที่โรคซิฟิลิสจะได้ไม่ติดต่อไปถึงลูก
ท่านที่เกรงว่าจะเป็นโรคนี้ ขอเชิญไปรับการตรวจได้ที่ กองกามโรค โรงพยาบาลบางรัก และหน่วยกามโรคของโรงพยาบาลต่างๆ ตลอดจนศูนย์บริการสาธารณสุขทุกแห่ง
- อ่าน 22,204 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้