กล้วยที่นิยมกินกันมีหลายชนิด ได้แก่ กล้วยไข่ (Sucrier), กล้วยหอม, กล้วยหอมเขียว (Lacantan), กล้วยหอมทอง (Martinigue Banana), กล้วยน้ำว้า, กล้วยเล็บมือนาง, กล้วยหักมุก, กล้วยน้ำ, กล้วยน้ำไท, กล้วยนาก (Red Fig Banana) ฯลฯทุกชนิดมีชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกัน
⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
Musa sapientum L. MUSACEAE (M. paradisiacal L. var. sapientum O. Ktzl)
⇒ ลักษณะต้น
เป็นพืชล้มลุกขนาดใหญ่ สูง 2-5 เมตร ที่เห็นเป็นลำต้นเกิดจากก้านใบหุ้มซ้อนกันขึ้น เหนือก้านใบเป็นแผ่นใบ ยาว 1.5-3 เมตร กว้าง 40-60 ซม. แกนใบเห็นได้ชัดเจน เส้นใบขนานกัน ก้านใบยาวกว่า 30 ซม. ดอกเป็นช่อเรียก หัวปลี ห้อลงมา 60-130 ซม. มีกาบหุ้มช่อดอกสีแดงปนม่วงกลมรี ยาว 15-30 ซม. ดอกย่อยออกติดกันเป็นแผง ดอกที่ฐานเป็นดอกตัวเมีย ส่วนบนเป็นดอกตัวผู้ ดอกตัวผู้จะหลุดหล่นไป ช่อดอกเจริญไปเป็นเครือกล้วย ซึ่งประกอบด้วยหวีกล้วย เครือละ 7-8 หวี แต่ละหวีมีผลกล้วยประมาณสิบกว่าผล เนื้อกล้วยสีเหลือง ผลรูปกลมยาว ขนาดและรูปร่างขึ้นอยู่กับชนิดกล้วย เวลาสุกเปลือกเป็นสีเหลือง แต่ละต้นให้ผลครั้งเดียว ขยายพันธุ์โดยวิธีแตกหน่อ
⇒ ส่วนที่ใช้
ผลสุก ผลดิบ หัวปลี (ทุกชนิด)
⇒ สรรพคุณ
ผลสุก เป็นอาหาร ยาระบายสำหรับผู้ที่มีอุจจาระแข็ง หรือเป็นริดสีดวงทวารขั้นเริ่มแรก จนกระทั่งถ่านเป็นเลือด
ผลดิบ เป็นยาฝาดสมาน แก้ท้องเสีย บำบัดอาการแผลในกระเพาะอาหารและอาหารไม่ย่อย
หัวปลี แก้โรคโลหิตจาง ลดน้ำตาลในเลือด และแก้โรคเกี่ยวกับลำไส้
⇒ ตำรับยาและวิธีการใช้
1.ยาระบาย สำหรับริดสีดวง ใช้กล้วยสุก 2 ลูก ปิ้งอย่าให้เปลือกไหม้ กินทั้งเปลือก
2.ท้องเสีย เป็นแผลในกระเพาะอาหารและอาหารไม่ย่อย ใช้กล้วยดิบทั้งลูก บดปั่นกับน้ำเล็กน้อย เติมน้ำตาล(ชนิดใดก็ได้)กิน (อาจใช้กล้วยดิบ แห้ง บดเป็นผงเก็บในภาชนะที่ปิดแน่น ไว้ใช้ยามจำเป็น โดยผสมกับน้ำอุ่นหรือน้ำผึ้งกิน)
⇒ ผลทางเภสัชวิทยา
เซอโรโทนิน (Serotonin) และ นอร์แอดรีนาลีน (Noradrenaline) พบในเนื้อและเปลือกกล้วยที่กินทุกชนิด แต่ปริมาณเซอโรโทนินจะแตกต่างกันไปตามชนิดของกล้วย กล้วยไข่มีปริมาณมากที่สุด คือ 47 ไมโครกรัมต่อกรัม กล้วยหอม 2.8 ไมโครกรัมต่อกรัม และกล้วยน้ำว้า 0.1 ไมโครกรัมต่อกรัม นอกจากนี้ ยังพบว่าปริมาณเซอโรโทนินเพิ่มขึ้นตามความสุกของกล้วยจนถึงระยะที่งอมจัดจนเปลือกสีดำจึงจะมีปริมาณลดลง
เซอโรโทนินมีผลยับยั้งการหลั่งน้ำย่อยของกระเพาะอาหารและกระตุ้นลำไส้เล็กให้บีบตัวมากขึ้น (จึงใช้บำบัดอาการแผลในกระเพาะอาหารและทำให้ระบายได้) ให้กินเซอโรโทนินเกินกว่า 20 มิลลิกรัม ก็ยังไม่พบอาการที่เป็นอันตรายแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามมีบางราย (โดยเฉพาะหญิงท้อง) เมื่อกินกล้วยหอมจะรู้สึกจุกแน่นบริเวณยอดอก บางรายมีอาการคล้ายจะเป็นลมและ
บางรายมีอาการท้องอืดแต่ไม่มีอาการเมื่อกินกล้วยน้ำว้า ทั้งนี้อาจเนื่องจากบางคนที่มีระบบการย่อยอาหารไม่ดี มีอาการแน่นท้องและไม่เจริญอาหาร (แพทย์จีนเรียกว่าอาการม้ามพร่อง จะมีฝ้าสีขาวบนลิ้นและอุจจาระหยาบร่วมด้วย) สารในกล้วยหอมจะมีผลต่อกระเพาะอาหารทำให้จุกแน่นมากขึ้น (จีนถือว่ากล้วยหอมมีฤทธิ์เย็นจะทำให้ม้ามพร่องมากขึ้น) จึงทำให้เกิดอาการไม่สบายดังกล่าว
- อ่าน 4,823 ครั้ง
พิมพ์หน้านี้