• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คุยเฟื่องเรื่องแว่นตา

 

มีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่มาปรึกษาเรื่องเกี่ยวกับสายตาและแว่นตาด้วยคำถามหลายๆอย่างพอจะเก็บรวบรวมมาคุยให้ทราบได้ เฉพาะที่น่าสนใจ ตังแต่รายแรกจนกระทั่งรายสุดท้ายดังนี้ครับ


ถาม  :  ตามัวขอวัดแว่น เมื่อสวมแว่นตาจะทำให้ตาเห็นดีขึ้นไหม ?
ตอบ  : ไม่แน่ เพราะมีโรคตามากมายหลายโรคที่ทำให้ตามัวหรือตาพร่าไป ไม่สามารถจะทำให้เห็นดีด้วยการใช้แว่นตา เช่น ตาดำเป็นฝ้าต้อกระจก, วุ้นลุกตาขุ่น หรือโรคของจอประสาทรับภาพ ฯลฯ เป็นต้นการใช้แว่นตา จะช่วยให้เห็นดีเฉพาะในรายที่มีสายตาผิดปกติเท่านั้น ได้แก่สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง หรือสายตาคนมีอายุ (ตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ใช้อ่านหนังสือ)


ถาม  :
 สายตาผิดปกติ เป็นโรคทางกรรมพันธุ์หรือเปล่า?
ตอบ  : ใช่ แต่บางคนอาจเกิดได้เองตามการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาของลูกตาของผู้นั้นได้ภายหลัง


ถาม  : สายตาผิดปกติ มีวิธีรักษาด้วยการใช้แว่นเพียงอย่างเดียวหรือ ?
ตอบ  : ถูกต้อง แต่อาจจะเปลี่ยนแปลงมาใช้เลนส์สัมผัส หรือคอนแทคเลนส์ (contact lens) ได้ในบางคนหรือบางอาชีพ หรือความจำเป็นอย่างมาก หรือความต้องการของผู้ป่วย


ถาม  : เด็กอายุ 5-6 ขวบ ชอบทำตาขยิบๆ และขยี้ตาอยู่เสมอเมื่อมองอะไร ถ้าอ่านหนังสือมักถือหนังสือใกล้เกือบติดใบหน้า มีทางเป็นโรคสายตาสั้นหรือเปล่า ?
ตอบ  : มีทาง เพราะเด็กระยะก่อนเข้าเรียน ถ้ามีอาการเช่นว่า ให้พ่อแม่ ผู้ปกครองหรือครู (ถ้าเรียน ร.ร.อนุบาล) สังเกตเด็กให้ดี และควรพาไปหาจักษุแพทย์โดยตรงเลย อาการเช่นว่านี้ เด็กมักมีสายตาผิดปกติ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง


ถาม  : ลูกดิฉันอายุ 6 ขวบ (ผู้ชาย) เวลามองอะไรชอบเอียงหน้า จะมีสายตาผิดปกติหรือเปล่า ?
ตอบ  :  อาจเป็นได้ คือเป็นได้ทั้งสายสั้นหรือสายตาเอียง และถ้าให้กว้างออกไปอีก อาจมีการทำงานของกล้ามเนื้อกลอกตาไม่สัมพันธ์กันข้างใดข้างหนึ่ง


ถาม  : เด็กเล็กๆ ขนาด 3-5 ขวบ ก็ใส่แว่นได้หรือ ? ถ้าเป็นเช่นนี้มิต้องใส่แว่นตาตลอดชีวิต ?
ตอบ  : แว่นตาสามารถจะสั่งให้ใช้ได้ตั้งแต่เด็ก 3 ขวบขึ้นไป จนกระทั่งเด็กโต ผู้ใหญ่ คนแก่ และใกล้จะเข้าโลง เพราะสายตาเด็กๆ อาจมีผิดปกติไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งได้ ถ้าไม่ให้ใช้แว่น เด็กจะมองไม่ชัด เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง และอาจทำให้ตาเขได้เมื่อเริ่มสวมแว่นตั้งแต่เล็กๆ ก็ต้องสวมเรื่อยไปจนโต หรือตลอดชีวิตนั่นแหละ


ถาม  : มีวิธีอื่นไหมที่ไม่ต้องใช้แว่นตา เพราะเป็นปมด้อย ไม่อยากให้ใครล้อว่า “อีตา (ยาย) แว่น” ?
ตอบ  : ไม่มี นอกจากใช้เลนส์สัมผัส (contact lens) ซึ่งก็ไม่เหมาะกับเด็กเล็กๆ หรือผู้ที่มีความระมัดระวังในการใช้ไม่รอบคอบพอ


ถาม  : สายตาผิดปกติ ถ้าไม่ใช้แว่นตา จะเป็นอันตรายไหม ? หมายถึงทำให้ตาบอดน่ะ !
ตอบ  : ไม่ เพียงว่ามองไม่ชัดเท่านั้นและมีอาการปวดกระบอกตา ปวดขมับ ปวดศีรษะอยู่เสมอ กล่าวง่ายๆ ว่าไม่สบายตา อาจหงุดหงิดง่าย พอดีพอร้ายคิดว่าตัวเอง “ประสาท” ส่งไปเลย เพียรไปปรึกษาจิตแพทย์อยู่เรื่อยๆ แท้ที่จริงตัวเป็นคนสายตาผิดปกติต่างหาก


ถาม  : ช่วยอธิบายลักษณะแว่นที่ใช้กับสายตาที่ผิดปกติให้พอเข้าใจ ?
ตอบ  : ถ้าสายตาสั้น คือ จะอ่านหนังสือหรือทำงานต้องมองใกล้ ๆ จึงจะชัด ถ้ามองไกลๆ รู้สึกมัว พวกนี้ต้องใช้เลนส์แว่นตาชนิด “เลนส์เว้า”

สายตายาว มองไกลชัดดี มองใกล้ไม่ค่อยชัด พวกนี้ต้องใช้เลนส์ชนิด “เลนส์นูน”

สายตาเอียง มัวทั้งใกล้และไกล ยังมีอาการปวดตา ปวดศีรษะร่วมด้วย ต้องใช้เลนส์ชนิด “เลนส์ทรงกระบอก”

สายตาคนมีอายุ พวกที่มีอายุใกล้ 40 หรือ 40 กว่า เวลาอ่านหนังสือพิมพ์หรือทำงานใกล้ ต้องเหยียดออกห่างออกไปจึงจะชัดต้องใช้แว่นชนิด “เลนส์นูน”


ถาม  : สายตาผิดปกติเพียงตาเดียวหรือสองตามีผลต่างกันอย่างไร ?
ตอบ  : สายตาผิดปกติ มักจะไปด้วยกันทั้ง 2 ข้าง ทั้งนี้อาจจะเท่ากันหรือต่างกันเพียงเล็กน้อย มีเพียงจำนวนน้อยที่สายตาสั้นหรือยาวหรือเอียงเพียงข้างเดียว ในขณะที่ตาอีกข้างปกติ ไม่ต้องใช้แว่น
และมีบ้างเหมือนกันที่ตาข้างหนึ่งสั้นเอามากๆ ชนิดที่กำลังใช้แว่นตาเกือบ 1000 หรือ 10.00 ไดออพเตอร์ (Diopters)


ถาม  : จริงหรือไม่ที่ว่า อ่านหนังสือที่ๆมีแสงสว่างไม่พอ จะทำให้สายตาเสีย ?
ตอบ  : ไม่จริง เพียงแต่เห็นไม่ชัดเท่านั้น


ถาม  : ดูทีวี.นานๆ หรือใกล้จนเกินไป ทำให้เสียสายตาไหม ?
ตอบ  : ไม่ แต่ควรจะให้ห่างพอควรประมาณ 2-3 เมตรกำลังดี เพื่อจะได้ไม่เพลียตาเร็วเกินไป


ถาม  : สวมแว่นตาแล้ว ต้องเปลี่ยนแว่นทุกปีหรือ ?
ตอบ  : ไม่แน่ แล้วแต่บางคนว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางศรีรวิทยาของลูกตาเร็วช้าแค่ไหน ? บางคน 2-3 ปีจึงเปลี่ยน บางคน 6-7 เดือนเปลี่ยน ไม่ใช่กฎตายตัว เอาเป็นว่าถ้าแว่นที่ใช้อยู่รู้สึกว่ามันมัวลง ปวดกระบอกตา แสบตาเสมอๆ น้ำตาไหลเมื่อเพ่งตานานๆ ควรไปตรวจวัดใหม่ได้แล้ว


ถาม  : แว่นใสสีขาว หรือแว่นสีช่วยกันแดดด้วย อันไหนดีกว่า ?
ตอบ  : ไม่ต่างกันในเชิงหน้าที่ แต่อาจต่างกันในเชิงสบายตาถ้าทำงานในที่ร่ม ควรใช้แว่นใสสีขาว ถ้าทำงานกลางแจ้ง อาจเปลี่ยนเป็นเลนส์สีตัดแสงแดดได้ จะทำให้สบายตายิ่งขึ้น ส่วนจะเลือกสีเลนส์ ก็แล้วแต่ความพอใจหรือความสบายตาตัวเราเองเป็นหลัก ไม่มีกฎอะไรตายตัว


ถาม  : อยากทำแว่นตากันแดดสักอัน จะเลือกสีอะไรดี ?
ตอบ  : สีอะไรก็ได้ที่ทำให้ท่านมองไปแล้วรู้สึกสบายตา แต่ผมไม่แนะนำให้ใช้สีที่มืดเข้มจนเกินไป เพราะจะทำให้การเห็นในบริเวณร่มเงาด้อยไป อีกทั้งควรจะให้กลมกลืนเข้ากับผิวใบหน้าด้วยก็ดี แว่นกันแดดถือเป็นเครื่องประดับที่มีความนิยมตามแฟชั่นที่ทันสมัย


ถาม  : แว่นแบบชนิดแก้วกับแบบพลาสติคอันไหนดีกว่ากัน ?
ตอบ  : มีดีมีเสียพอๆ กัน คือ แว่นชนิดแก้วมีน้ำหนักมาก แต่ความใสคงทน แตกง่าย ส่วนแว่นพลาสติคเบาดี แต่ความใส ไม่ทนนัก มีรอยขีดขูดง่าย ทำให้มัวและราคาค่อนข้างแพง ตกไม่แตก


ถาม  : การสวมแว่นแบบสวมประจำ หรือแบบสวมบ้างไม่สวมบ้าง จะทำให้สายตาเปลี่ยนแปลงเร็วกว่าปกติหรือเปล่า ? มีบางคนว่าถ้าสวมบ้างไม่สวมบ้าง ตาจะเปลี่ยนแปลงเร็ว ขอทราบความเป็นจริง
ตอบ  : ไม่มีผลแตกต่างกันเลย เพียงว่าพวกที่สวมประจำมักจะเป็นผู้ที่สายตาสั้นหรือยาวหรือเอียงค่อนข้างมาก เพราะถ้าถอดแว่นออกจะมองอะไรไม่ชัด ทำอะไรไม่ถูก เมื่อสวมแว่นอยู่จะเห็นชัดดี สบายตาจึงไม่ค่อยเอาออกส่วนพวกที่ใส่ๆ ถอดๆ พวกนี้มักมีสายตาที่ใช้แว่นตากำลังน้อยๆ หมายความว่าการใช้ตาเปล่ากับการสวมแว่นต่างกันเพียงเล็กน้อย ถึงจะใช้ตาเปล่าก็พอเห็นอยู่ เพียงไม่ค่อยชัดเท่านั้น จึงมีสิทธิ์ที่จะเอาแว่นออกได้เป็นครั้งคราวแต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งการสวมเป็นประจำหรือใส่ๆ ถอดๆ มิได้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสายตาให้เร็วหรือช้าลงเลย


ถาม  : ใช้แว่นตาแล้ว ตาจะหายผิดปกติหรือไม่ ?
ตอบ  : ไม่หาย แว่นตาไม่ใช่ยา มาใช้สำหรับเยียวยารักษาภาวะผิดปกติอันใดอันหนึ่ง เมื่อตาผิดปกติไปแพทย์ก็สั่งแว่นที่ตรงกับขนาดความผิดปกติสำหรับตานั้นๆ เพื่อให้การมองเห็นดีเช่นคนปกติ แต่สภาพตาก็ยังคงผิดปกติอยู่ตลอดร่ำไป เฉกเช่นคนเตี้ย เมื่ออยากจะสูงก็ต้องใส่รองเท้าส้นสูงๆ จึงจะแลดูสูง เมื่อถอดรองเท้าออกเดินเท้าเปล่าคนๆ นั้นก็เตี้ยเท่าเก่า


ถาม  : ไม่อยากสวมแว่น คนชอบล้อว่าเหมือนคนแก่ และรำคาญเกะกะดั้งจมูกและใบหน้า มีวิธีอื่นช่วยไหม เป็นต้นว่า กินยา หยอดตา หรือผ่าตัด ?
ตอบ  : ไม่มี และการผ่าตัดยังไม่ใช่วิธีการที่แพทย์แนะนำ การผ่าตัดแก้ไขภาวะผิดปกติของสายตา ไม่ใช่ทำง่ายๆ ผลที่ได้ไม่คุ้มกับเวลาและการเสี่ยงต่อผลแทรกซ้อนอย่างอื่น

มีแพทย์บางคนพยายามจะทดลองทำ ซึ่งยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เว้นเสียแต่ว่าถ้าสายตาสั้นมากๆ กำลังแแว่นตาใกล้เคียง 10 ไดออฟเตอร์ (Diopters) อาจผ่าตัดเอาเลนส์ตาออกได้ แต่ไม่ใช่วิธีการที่ทำประจำ


ถาม  : การประกอบแว่นตา อยากถามคุณหมอว่า ควรจะใช้กรอบแว่นแบบไหนดี หมายถึงว่า กรอบกลมเล็กหรือกรอบโตๆ แบบแฟชั่นที่โฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์ดี ?
ตอบ  : แบบไหนก็ได้ที่รับกับใบหน้า แบบลางเนื้อชอบลางยา บางคนหน้ากลมอ้วนเหมือนพระจันทร์ใช้กรอบกลมเล็กนิดเดียว อาจแลดูตลก หรือหน้าแหลมเล็ก ใช้แว่นขอบโตเบ้อเริ่ม อาจทำให้ดูเหมือนหน้าตั๊กแตนต่อยมวย แต่ก็ไม่สำคัญครับ แล้วแต่ความพอใจ ขอให้กระจกเลนส์ถูกต้องกับขนาดสายตาเป็นใช้ได้


ถาม  : คำว่าสายตาสั้น 200 หมายความว่าไงครับ ?
ตอบ  : หมายความว่า ผู้นั้นต้องใช้แว่นตาชนิดเลนส์เว้า ที่มีกำลังหักเหแสงตามภาษาวิชาแสง 2.00 ไดออฟเตอร์ (Diopters) หรือกล่าวง่ายๆ ว่า เลนส์แว่นตามีความยาวโฟคัสครึ่งเมตร จึงจะทำให้ตาข้างนั้นมองเห็นวัตถุชัดเจนดี


ถาม  : แว่น 2 ชั้น มีความแตกต่างกับแว่นชั้นเดียวประการใด ?
ตอบ  : แว่น 2 ชั้น หมายถึงแว่นตาที่มีคุณสมบัติ 2 อย่างในกรอบเดียวกัน คือ สามารถใช้มองไกลและใกล้ได้ โดยไม่ต้องเปลี่ยนแว่นตาจากอันหนึ่งไปใช้อีกอันหนึ่ง ถ้ามองไกลก็เหลือบตาผ่านเลนส์ชั้นบน ถ้าจะอ่านหนังสือก็เหลือบตามองผ่านเลนส์ชั้นล่างเท่านั้นเอง ผู้ที่ใช้เลนส์แบบนี้เป็นการบ่งบอกชัดเจนแล้วว่า…..เข้าสู่วัยสูงอายุเป็นแน่แท้ ถ้าวัยยังหนุ่มสาว มักจะเป็นเลนส์ชนิดใดชนิดหนึ่งเพียงอย่างเดียว พูดถึงความแตกต่างด้านหน้าที่ไม่มี อาจกล่าวได้ว่าให้ความสะดวกแก่ผู้ใช้ดีเสียอีก ไม่ต้องพกแว่น 2 อัน


ถาม  : ความแตกต่างระหว่างแว่นตากับคอนแทคเลนส์ อยากทราบว่าอันไหนจะดีกว่ากัน ? ช่วยอธิบายสังเขป เพราะเห็นโฆษณาคอนแทคเลนส์บ่อยๆ ชักอยากใช้บ้าง แต่ยังไม่กล้า
ตอบ  :  กล่าวรวมๆ ของคำถามนี้คือ ไม่มีอะไรต่างกัน ทั้ง 2 อย่าง ทำให้ตาเห็นดีขึ้นเป็นหน้าที่ใหญ่ แต่ในรายละเอียดข้อต่างกันของทั้ง 2 มีพอลำดับได้คร่าวๆ คือ

แว่นตา สะดวก ปลอดภัย ใช้ง่าย ราคาไม่แพง แต่เกะกะหน้า แลดูแก่ บางครั้งมีภาพหลอก

คอนแทคเลนส์ ต้องหัดใช้ทำไม่ดีไม่เป็นเกิดตาดำอักเสบได้ โดยเฉพาะลืมถอดก่อนนอน ราคาแพงกว่าแว่น 2-3 เท่า ข้อดี คือไม่มีใครรู้ว่าสายตาผิดปกติ สะดวกต่อการเล่นกีฬากลางแจ้ง แสดงละคร หรือภาพยนตร์หรือร้องเพลงเห็นชัดเจนดี ไม่มีภาพหลอก

ส่วนจะเลือกใช้แว่นหรือคอนแทคเลนส์ ก็โปรดได้พิจารณาเอาตามเหมาะสมแก่อัตภาพเอง
ว่าก็ว่าเถอะครับ คนใช้คอนแทคเลนส์เทียบส่วนกับคนใช้แว่นตาแล้ว กะคร่าวๆ ประมาณ 1 : 100 ใช้ในระดับคนกลางๆ และคนชั้นสูง ส่วนคนชั้นกรรมาชีพ แทบไม่ต้องพูดถึงและยิ่งกว่านั้น พวกหมอเองก็ยังใช้แว่นตาเป็นสิ่งช่วยให้ตาเห็นดีขึ้น มากกว่าการใช้คอนแทคเลนส์เป็นส่วนใหญ่

หมอที่ว่านี้ผมยังกล่าวเน้นลงไปอีกก็ได้ว่าคือ หมอตานั่นเอง มีกี่คนครับที่ใช้คอนแทคเลนส์แก้สายตาผิดปกติของตัวเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ขอให้ท่านได้พิจารณาเอาเองแล้วกันว่า หมอตายังสวมแว่นตา แล้วคุณยังจะใช้คอนแทคเลนส์อยู่อีกหรือ ? ตอบให้ชื่นใจหน่อยซิครับ อย่ามัวนั่งจ้องหน้าผมเฉยอยู่…..

 

ข้อมูลสื่อ

31-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 31
พฤศจิกายน 2524
โรคตา
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์