• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคผิวหนังที่พบบ่อย(ตอนที่ 1)หิด-ตุ่มคันตามง่ามมือง่ามเท้า


โรคผิวหนังที่พบบ่อยในหมู่ชาวบ้านๆ เรา ก็มีหิด เหา กลากเกลื้อน ลมพิษ ผื่นคัน พุพอง ชันนะตุ
เรียนหมอจากภาพ ตั้งแต่ฉบับนี้เป็นต้นไป จะได้กล่าวถึงโรคเหล่านี้ เพื่อให้คุณผู้อ่านสามารถนำไปปฏิบัติการดูแลรักษากันเองได้เลยครับ


ฉบับนี้เราเริ่มเรื่อง หิด ดีไหมครับ
คุณผู้อ่านถ้าพบเด็กๆ หรือผู้ใหญ่ ที่มีตุ่มคันที่ง่ามนิ้วมือนิ้วเท้า (รูปที่ 1) ขึ้นพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ก็น่าจะนึกถึงโรคนี้ได้เลย



หิด จะต้องมีอาการคันมาก และคนที่เป็นมักจะเกาจนบางครั้งเป็นฝีหนอง พุพอง หรือน้ำเหลืองไหล
ขอให้จำไว้เลยว่า ตุ่มอะไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่คันมักจะไม่ใช่หิด นอกจากง่ามนิ้วมือนิ้วเท้าแล้วยังอาจจะขึ้นที่รอบเอว ข้อศอก รักแร้ ก้น ข้อเท้า เต้านม บางคนขึ้นที่อวัยวะเพศ จนบางทีอาจทำให้ตกใจนึกว่าเป็นกามโรคก็ได้ (จะสังเกตได้ว่า กามโรคมักจะไม่คัน)

โรคนี้เกิดจากเชื้อหิด ซึ่งเป็นตัวไรชนิดหนึ่ง (รูปที่ 2)
เป็นโรคผิวหนังที่ติดต่อได้ง่าย เพียงแต่นอนด้วยกัน หรือใช้เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัวด้วยกัน หรือแตะต้องถูกตัวกัน ก็สามารถติดเชื้อหิดได้ จึงมักพบว่าเป็นพร้อมๆ กันทั้งครอบครัว หรือเป็นพร้อมกันหลายคนตามโรงเรียน ตามวัด หรือกองทหาร

การดูแลรักษา
ให้ใช้ ขี้ผึ้งกำมะถัน (หลอดละประมาณ 1.50 บาท) หรือยารักษาหิดเหาขององค์การเภสัชฯ (น้ำยาเบนซิลเบนโซเอต ชนิด 25% ขวดละประมาณ 2.50 บาท) ทาตามบริเวณที่เป็นวันละ 2-3 ครั้ง
ถ้าเกาจนเป็นหนองเฟะ ให้แช่น้ำด่างทับทิมนาน 15-30 นาทีก่อน แล้วจึงทายาดังกล่าว ควรตัดเล็บให้สั้น ห้ามเกา อาบน้ำฟอกสบู่ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง อย่านอนรวมกับคนอื่น อย่าใช้เข้าของเครื่องใช้ เตียงนอน ร่วมกับคนอื่น

และข้อสำคัญ จะต้องรักษาทุกคนที่เป็นหิดพร้อมๆ กัน จึงจะหายขาดได้ มิฉะนั้นจะติดต่อกันไปมา ไม่มีที่สิ้นสุด

 

 

ข้อมูลสื่อ

35-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 35
มีนาคม 2525
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ