• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคพยาธิตัวจี๊ด


พยาธิตัวจี๊ด พอได้ยินชื่อปั๊บท่านผู้อ่านคงทราบได้ทันทีเลยใช่ไหมครับว่า พยาธิตัวนี้มันคงต้องทำให้เราเกิดอาการอะไรสักอย่างที่มีความรู้สึกจี๊ดๆ แน่ๆ
ครับ…คงต้องมีอะไรจี๊ดๆ ในร่างกายแน่ ไม่งั้นคงไม่ชื่อนี้
เพื่อให้เราทราบถึงที่มาของพยาธิตัวจี๊ด “หมอชาวบ้าน” จึงขอพาท่านมาคุยเรื่อง โรคพยาธิตัวจี๊ด กับ ศจ.น.พ.สวัสดิ์ แดงสว่าง


ศจ.น.พ.เฉลิม พรหมมาส (คุณหลวงเฉลิมคัมภีรเวชช์) และ ศจ.น.พ.สวัสดิ์ แดงสว่าง ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศในทางวิชาการเรื่อง พยาธิตัวจี๊ด ในขณะที่วงการแพทย์ทั่วโลกกำลังหาคำตอบเกี่ยวกับเจ้าพยาธิตัวนี้ ท่านทั้งสอง ก็ได้ค้นพบวงชีวิตของพยาธิตัวจี๊ด ทำให้มนุษย์สามารถหาทางป้องกันการติดต่อของโรคนี้ได้

 

ทำไมตั้งชื่อพยาธิชนิดนี้ว่า “ตัวจี๊ด”

ชื่อนี้อาศัยจากปากคำของผู้ป่วยซึ่งมีอาการบวม เจ็บ และคันผิวหนังและมีตัวหนอนพยาธิตัวกลมเล็กๆ ออกมา โดยมากบอกว่า เมื่อเป็นโรคนี้แล้วเกิดอาการบวมคันและปวดจี๊ดๆ จึงเห็นว่า เรียกอย่างนี้จะทำให้คนทั่วไปรู้จักง่ายขึ้นเพราะเคยเรียกกันอยู่แล้ว

บางคนก็เรียกว่าโรคจี๊ด เพราะไม่รู้ว่าเป็นอะไรแน่ แต่อาการจี๊ดนั้น เกิดจากสัตว์มีตัวจึงเรียกตัวมันว่า ตัวจี๊ด และโรคเกิดจากมัน จึงเรียกว่า โรคตัวจี๊ด หรือ โรคพยาธิตัวจี๊ด แต่ปัจจุบันนี้โรคตัวจี๊ด มีความร้ายแรงมากพบว่าเข้าสู่อวัยวะอื่นได้อีกหลายแห่ง ถาเข้าสู่สมองก็อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

 

พยาธินี้มีวงชีวิตอย่างไร

ขอเล่าอย่างคร่าวๆ นะครับ
พยาธิตัวจี๊ดนี้จัดอยู่ในพยาธิตัวกลมชนิดหนึ่ง ตามปกติแล้วตัวแก่ของมันอาศัยอยู่ที่ผนังกระเพาะอาหารของสัตว์บางชนิด เท่าที่พบในไทยก็มีสุนัข แมว และเสือ
ตัวแก่ของ พยาธิตัวจี๊ดตัวผู้ (ยาวประมาณ 20 มม.) และตัวเมีย (ยาวประมาณ 50 มม.) จะผสมพันธุ์และออกไข่อยู่ในกระเพาะอาหารของสัตว์ดังกล่าว เมื่อสัตว์ที่ว่าถ่าย ไข่พยาธิจะติดออกมากับอุจจาระของสัตว์นั้น

ถ้าอุจจาระอยู่ในที่แห้งเป็นเวลานาน ไข่พยาธิก็จะตาย
แต่ถ้าอุจจาระอยู่ในที่ที่มีความชื้นและความร้อนพอเหมาะเช่น ในแอ่งน้ำ หนอง บึง ลำคลอง แม่น้ำ ประมาณไม่เกิน 2 อาทิตย์ ไข่ก็จะกลายเป็น ตัวอ่อน ใน 4-5 วัน และจะฟักเป็นตัวใน 1-2 วัน ตัวอ่อนจะออกมาว่ายไปมาในน้ำ (ตัวอ่อนเจริญเติบโตระยะที่ 1) ถ้าปล่อยทิ้งไว้ก็จะตายภายใน 2-3 วัน ในน้ำทั่วๆ ไป มักมี กุ้งไร (ไซคลอพ - Cyclops) เมื่อกุ้งไร (ที่เรียกว่า โฮลท์ที่ 1) ไปกินตัวอ่อนของพยาธิเข้ามันก็ไปเจริญเติบโตในกุ้งไร (ตัวอ่อนเจริญเติบโตระยะที่ 2) และเปลี่ยนแปลงรูปร่าง ลอกคราบให้ทนทานยิ่งขึ้นตามสมควร รูปร่างระยะนี้คล้ายตัวแก่ แต่ตัวเล็กมาก จะมีชีวิตอยู่ได้นาน แม้ว่าตัวกุ้งไรตายแล้ว เมื่อมันหลุดออกมาก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ เคยทดลอง ปรากฏว่าอยู่ในน้ำได้ถึง 16 วัน ตราบใดที่กุ้งไรมีชีวิตอยู่ ตัวอ่อนมันก็มีชีวิตร่วมอยู่ตลอดเวลา
 

 

ต่อมา เราพบว่ามีสัตว์หลายชนิด (ที่เรียกว่า โฮลท์ที่ 2) ที่กินกุ้งไรที่มีตัวอ่อนของพยาธิเข้าไป เจ้าตัวอ่อนก็จะไปเจริญเติบโตเต็มที่เป็นระยะที่ 3 ซึ่งมีความทนทานมากขึ้นและอยู่ในสัตว์ดังกล่าว
ปัจจุบันพบว่ามีสัตว์ 44 ชนิด ที่มีตัวอ่อนระยะนี้ได้ตามธรรมชาติคือ
ปลาน้ำจืด 16 ชนิด เช่น ปลาดุก ปลาช่อน ฯลฯ
สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 2 ชนิด คือ กบ 2 ชนิด
สัตว์เลื้อยคลาน 11 ชนิด เช่น งูบางชนิด เหี้ย ฯลฯ
สัตว์ปีก 11 ชนิด เช่น ไก่ เป็ด นก ฯลฯ
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 4 ชนิด เช่น กระแต หนู ฯลฯ
เมื่อสัตว์ข้างต้นที่ว่า กินกุ้งไรเข้าไป ตัวอ่อนที่อยู่ในตัวกุ้งไรก็จะหลุดเข้าไปในกระเพาะและลำไส้ของสัตว์นั้น แล้วจะทะลุไปอยู่ในส่วนต่างๆ โดยมากพบอยู่ในเนื้อของสัตว์ดังกล่าว จะเจริญเติบโตจนถึงจุดหนึ่ง แล้วจะสร้างถุงหุ้มตัวเองขึ้น ฝังตัวเองอยู่ในส่วนต่างๆ ของสัตว์เหล่านั้น การสร้างถุงหุ้มตัวทำให้มันมีชีวิตอยู่ได้นานมาก เคยทดลอง ปรากฏว่า 3 ปี ก็ยังมีชีวิตอยู่ คิดว่ามันคงอาศัยอาหารภายในถุงหุ้มที่มันสะสมไว้

หลังจากนี้ พยาธิมันก็ไม่ไปไหน ถ้าไม่มีใครกินสัตว์ที่มีพยาธินี้เข้าไป ถ้าเป็นเวลานานมากเข้าใจว่าอาจตายได้เอง ถ้าแมว สุนัข กินสัตว์ที่มีพยาธินี้เข้าไป ก็จะทำให้มันกลายเป็นตัวแก่ในกระเพาะอาหาร ผสมพันธุ์ออกไข่เกิดวงชีวิตวนเวียนเหมือนที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น
ถ้าเป็นสัตว์เช่น แมว สุนัข กินเข้าไปก็คงไม่มีปัญหากับคน
แต่บังเอิญคนไปกินสัตว์ที่มีพยาธินี้โดยกินเป็นอาหารดิบๆ หรือสุกๆ ดิบๆ ก็เลยเกิดปัญหาขึ้น
ถ้าต้ม นึ่ง ย่าง อบ ให้เนื้อหรือสัตว์ดังกล่าวสุก เจ้าพยาธิก็ตาย

      


เมื่อคนกินเนื้อสัตว์ดังกล่าว ดิบๆ สุกๆ ที่มีพยาธิตัวอ่อนซึ่งมีถุงหุ้มหรือไม่มีถุงหุ้มอยู่ พยาธิจะไชทะลุกระเพาะอาหารและลำไส้ ไม่นาน ก็จะเข้าไปในอวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย
พยาธินี้เวลาเข้าไปในแมว สุนัขมันจะไชตามอวัยวะต่างๆ แล้วเป็นตัวแก่รวมกันที่กระเพาะอาหารของสัตว์นั้นและผสมพันธุ์กันขึ้นที่นั่น แต่สำหรับในคนนั้น เท่าที่พบ จะไชไปในอวัยวะหลายแห่ง ยังไม่เคยพบว่ากลับไปรวมกันเป็นตัวแก่ที่ผนังกระเพาะอาหาร

 

ถ้าหากเรากินกุ้งไรที่มีพยาธิตัวอ่อนเข้าไปจะเป็นอย่างไรบ้าง

เรื่องนี้ยังเป็นปัญหา

 

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวเรามีพยาธิตัวจี๊ดหรือไม่

ยังไม่มีหลักอะไรที่จะทำการวินิจฉัยโดยตรวจอาการของโรคนี้ได้อย่างแม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์ ที่สามารถจะบอกได้ใกล้เคียงมากพอสมควรคือ ดูจากอาการของโรค จากประวัติการกินอาหาร ลักษณะและอาการบวมเคลื่อนที่ ตรวจเลือด ฯลฯ

 

ผู้ที่เป็นโรคพยาธิตัวจี๊ดมักจะมีอาการอย่างไรบ้าง

สำหรับอาหารของโรคนี้ต่างกันสุดแล้วแต่พยาธิมันจะไปอยู่ส่วนไหนของร่างกาย แต่ที่พบ เมื่อตัวพยาธิมาอยู่บริเวณผิวหนังหรือเยื้อหุ้มบางแห่งจะมีอาการคือ  

1. อาการบวม เห็นได้ชัด เมื่อพยาธิขึ้นมาอยู่บริเวณผิวหนัง แต่เมื่อพยาธิเลื่อนไปอยู่ที่ใหม่ ลึกมากจากผิวหนัง อาการบวมตำแหน่งเดิมก็ค่อยๆ ยุบหายไป วันดีคืนดีก็ขึ้นมาอยู่บริเวณผิวหนังทำให้เกิดบวมอีกคือ เดี๋ยวบวม เดี๋ยวหาย บริเวณที่บวม มักไม่แน่นอนแล้วแต่พยาธินั้นจะไปอยู่ที่ใดนานพออาจเป็นบริเวณหน้า ส่วนลำตัว มือ หนังตา เท้า ฯลฯ

2. อาการปวด ไม่เสมอไปทุกราย โดยมากมีอาการปวดจี๊ดๆ หรือแปล๊บๆ คล้ายตัวสัตว์กัด บางรายมีอาการปวดเป็นพักๆ และบางครั้งก็มากจนถึงกับรบกวน แต่ตามปกติอาการปวดมักไม่ร้ายแรงนัก

3. อาการคัน บางรายมีเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย แต่โยมากมักมีจนชวนให้เกา อาการคันบริเวณดังกล่าวจะหายไปเมื่อพยาธิเคลื่อนไปที่อื่น แต่มักจะทำให้เกิดคันอีกเมื่อยังเคลื่อนอยู่ใต้ผิวหนังตื้นๆ

4. อาการอื่นๆ แล้วแต่พยาธิจะเข้าสู่ไปสู่อวัยวะใด ถ้าเข้าสู่สมองอาจทำให้หมดสติและอาจถึงแก่กรรมได้ มีความร้ายแรงมากน้อยและอาการอีกหลายอย่าง แล้วแต่อวัยวะที่พยาธิเข้าไปอาศัยอยู่

     

 

วิธีการรักษาเป็นอย่างไรบ้างครับ

เท่าที่ทราบ ยังไม่พบยารักษาโดยเฉพาะ ที่ยอมรับทั่วไปแน่นอน
ยารักษาเฉพาะอาการบางอย่างให้ทุเลาหรือหายชั่วคราว มีหลายชนิด ทั้งนี้แล้วแต่แพทย์
บางรายทำการผ่าตัดเอาตัวออกได้ ทั้งนี้แล้วแต่แพทย์และตำแหน่งของพยาธิที่พบ
แต่ก็มีคนไข้บางคนที่พยาธินี้หลุดออกมาเองโดยไม่รู้ตัว เช่น หลุดออกจากเปลือกตา จากการไอหรือขากแสลด หลุดออกทางช่องปัสสาวะ หรือบริเวณผิวหนัง เป็นต้น หรือายไปโดยไม่ทราบชัดแน่นอน พยาธิแต่ละตัวจะมีชีวิตอยู่ในร่างกายเราได้นานหลายๆ ปี

 

ประเทศญี่ปุ่นมีอาหารประจำชาติเป็นปลาดิบ มีปัญหาพยาธิตัวนี้ไหม

มีมากพอสมควร เขามีการวิจัยศึกษาเกี่ยวกับเรื่องพยาธิตัวจี๊ดนี้ด้วย

 

เมื่อไม่มีทางรักษาได้จะแนะนำให้ทำอย่างไรดี

ป้องกัน เป็นวิธีเดียวและดีที่สุด ในขณะนี้ เพื่อให้พ้นอันตรายจากโรคนี้
การป้องกัน คือ อย่ากินอาหารเนื้อดิบๆ หรือ สุกๆ ดิบๆ เช่น ปลาดิบหรืออาหารที่ปรุงขึ้นด้วยเนื้อปลาและเนื้อสัตว์ที่สงสัยอื่นๆ ที่ดิบๆ ควรทำให้สุกก่อน โดยทำให้เป็นชิ้นเล็กพอสมควรแล้วต้มในน้ำกำลังเดือดนานอย่างน้อย 5 นาที หรือ ทอด ปิ้ง ย่าง ให้สุกทั่วถึงดีด้วยความร้อนจัดๆ จึงจะทำให้ตัวอ่อนพยาธิซึ่งอยู่ในเนื้อลึกๆ ตายได้น้ำส้มและน้ำมะนาวที่ใช้ปรุงอาหารกันตามปกติ อาจไม่สามารถฆ่าพยาธิเหล่านี้ได้เร็วตามสมควร

 

มีอะไรเพิ่มเติมบ้าง

ขอให้ท่านที่ชอบกินอาหารดิบๆ สุกๆ หรือดิบๆ เช่น ส้มฟัก หรืออาหารที่ทำจากปลาน้ำจืดหรือเนื้อสัตว์ที่สงสัยบางชนิด อย่างดิบๆ สุกๆ ควรระวัง
ทางที่ดีควรทำให้สุกให้ทั่วถึงด้วยความร้อนเสียก่อน โดยวิธีดังที่กล่าวทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยจากโรคนี้

 

ข้อมูลสื่อ

35-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 35
มีนาคม 2525
โรคน่ารู้
กองบรรณาธิการ