• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคกระเพาะจากยา


พูดถึงโรคกระเพาะ พวกเราคงรู้จักกันดี และใน “หมอชาวบ้าน” ฉบับที่ 10 ก็ได้ลงรายละเอียดเรื่องยารักษาโรคกระเพาะไปแล้ว แต่ก็คงมีเพียงไม่กี่คนเท่านั้น ที่รู้ว่าโรคกระเพาะเกิดจากอะไร และก็น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ยาบางตัวที่เขาใช้กันอย่างแพร่หลายนี่แหละ เป็นตัวการสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะ ดังนั้นเราจะรู้จักแต่เพียงยาที่ใช้รักษาโรคกระเพาะนั้นย่อมไม่เป็นการเพียงพอแน่ เรายังจะต้องรู้ด้วยว่า ยาอะไรบ้างที่ใช้แล้วอาจจะทำให้เกิดโรคกระเพาะได้ ซึ่งส่วนใหญ่เราก็คงเคยรู้จักและใช้ยากันอยู่บ่อยๆ

ยาที่ใช้แล้วทำให้เกิดโรคกระเพาะได้ ที่พบเห็นกันบ่อยๆ ได้แก่
เพร็ดนิโซโลน
เด๊กซ่าเมทาโซน
เฟนิลบิวตาโซน
แอสไพริน
อินโดเมทาซิน
ยาบำรุงพวกเหล็ก
โปแตสเซี่ยมคลอไรด์
เตตร้าซัยคลีน
แอลกอฮอร์
รีเซอร์ปีน
รวมทั้งที่ไม่ใช่ยาโดยตรง เช่น บุหรี่ และกาแฟ ฯลฯ


เพร็ดนิโซโลน, เด๊กซ่าเมทาโซน (Prednisolone, Dexamethasone)
เป็นยาพวกสเตียรอยด์ ใช้ลดอาการอักเสบได้ผลดีมาก จึงนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย ตามร้ายค้านิยมจัดใส่ในยาชุดต่างๆ สารพัดโรค เช่น ยาชุดแก้ปวดเมื่อย ปวดตามข้อ ยาอ้วน ยาชุดแก้หอบ ฯลฯ เมื่อใช้ไปนานๆ จะทำให้เยื่อบุกระเพาะบางลง มีเลือดออกและเกิดแผลในกระเพาะ อาจรุนแรงจนถึงขั้นทำให้กระเพาะทะลุได้ ยิ่งกว่านั้นยังเกิดอาการแทรกซ้อนอื้นๆ อีกมากมาย ยานี้จึงควรใช้เมื่อถึงคราวจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ไม่ควรใช้กันพร่ำเพรื่อตามสบาย


เฟนิลบิวตาโซน (Phenylbntazone)
ยานี้มีชื่อการค้าหลายชื่อเช่น บิวตาโคท (Butacote), บิวตาโลน (Butalone), บิวตาโซลิดีน (Butazolidine), บูตาเพรด (Butapred), พัยราซอน (Pyrazon) ฯลฯ ตัวยานี้เป็นยาลดอาการอักเสบ แก้ปวดตามข้อ ร้านขายยามักจะนิยมใส่ในยาชุดแก้ปวดเมื่อย เมื่อใช้แล้ว จะระคายเคืองกระเพาะอาหาร คนที่เป็นโรคกระเพาะจึงไม่ควรใช้ยานี้


แอสไพริน
(Aspirin)
ยานี้เราคงรู้จักกันดี เรียกชื่อต่างๆ กันเช่น แอสไพริน, ยาเม็ดสีชมพู, เอ.พี.ซี. และยังมีแบบที่ทำเป็นยาซองอีกหลายยี่ห้อ ที่ชาวบ้านนิยมใช้กันก็มี ทัมใจ, ประสระบอแรด, เอ.เอ็น.ที., บูรา, บวดหาย, หัวสิงห์ ฯลฯ ยานี้จะทำให้เกิดระคายเคืองกระเพาะและเกิดเลือดออกในกระเพาะได้


อินโดเมทาซิน
(Indomethacin)
ยานี้มีชื่อการค้าเช่น อินโดซิด (Indocid) ใช้เป็นยาลดการอักเสบ ได้ผลดีในการรักษาโรคปวดข้อรูห์มาตอยด์ โรคปวดข้อในคนชรา และปวดข้อเฉียบพลันของโรคเก๊าท์ มักจะถูกจัดอยู่ในยาชุดแก้ปวดเมื่อย, ปวดข้อ แต่เมื่อใช้แล้ว จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง


ยาบำรุงพวกเหล็ก
(Ferrous Salts)
เช่น ยาเม็ดฟอร์รัส ซัลเฟต เป็นยารักษาโรคโลหิตจาง แต่มีผลข้างเคียงคือ ระคายเคืองกระเพาะอาหารมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้


โปแตสเซี่ยม คลอไรด์ (Potassium Chloride)
ใช้สำหรับคนที่ขาดโปแตสเซี่ยม จะทำให้เกิดแผลในลำไส้เล็ก ควรกินหลังอาหาร และควรใช้ชนิดน้ำจะลดการระคายเคืองในลำไส้ได้


เตตร้าซัยคลีน (Tetracycline)
เป็นยาปฏิชีวนะ ใช้ฆ่าเชื้อ มีชื่อการค้าที่รู้จักกันดีเช่น ออริโอมัยซิน, ฮีโร่มัยซิน เป็นต้น เมื่อใช้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เนื่องจากเกิดการระคายเคืองในทางเดินอาหาร


แอลกอฮอร์ (Alcohol)
จะทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหารและมีเลือดออกจากกระเพาะ เมื่อกินไปนานๆ จะทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ


รีเซอร์ปีน (Reserpine)
เป็นยาลดความดันโลหิต ยานี้จะทำให้มีกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น ผู้ป่วยโรคแผลในกระเพาะอาหาร ควรหลักเลี่ยงที่จะใช้ยานี้


บุหรี่และกาแฟ
บุหรี่ซึ่งมีสารนิโคติน และกาแฟซึ่งมีสารคาเฟอีน จะกระตุ้นให้มีการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารมากขึ้น ดังนั้นคนที่เป็นโรคกระเพาะจึงควรงดบุหรี่และกาแฟ มิฉะนั้นจะทำให้แผลหายช้าลง

ยาและสารเคมีที่กล่าวมานี้ล้วนแต่ทำให้เกิดระคายเคืองต่อทางเดินอาหารทั้งสิ้น ดังนั้น คนที่เป็นโรคกระเพาะจึงไม่ควรใช้หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง ถ้าจะใช้ยาเหล่านี้ ควรกินหลังอาหารทันที

 

ข้อมูลสื่อ

34-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 34
กุมภาพันธ์ 2525
ยาน่าใช้
ภก.วนิดา สุชนวนิช