ไส้เลื่อนหมายถึงภาวะที่มีลำไส้บางส่วนไหลเลื่อนออกมาตุงอยู่ที่ผนังหน้าท้อง ทำให้เห็นเป็นก้อนบวมตรงบริเวณใดบริเวณหนึ่งของผนังหน้าท้อง
ไส้เลื่อนมีอยู่หลายชนิด ซึ่งจะมีอาการแสดงภาวะแทรกซ้อน และการรักษาแตกต่างกันไป ขึ้นกับตำแหน่งที่เป็น
ไส้เลื่อนส่วนใหญ่จะเห็นเป็นก้อนตุงตรงผนังหน้าท้องหรือขาหนีบ ซึ่งจะบวมๆ ยุบๆ (โผล่ๆ ผลุบๆ) มักจะไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด แต่ถ้าปล่อยให้เกิดการติดคา ไม่ยุบก็อาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้
* ชื่อภาษาไทย ไส้เลื่อน
* ชื่อภาษาอังกฤษ Hernia
* สาเหตุ
เกิดจากผนังหน้าท้องบางจุดมีความอ่อนแอ (หย่อน) ผิดปกติ ส่วนมากเป็นความผิดปกติที่เป็นมาแต่กำเนิด ทำให้ลำไส้ที่อยู่ข้างใต้ไหลเลื่อนทะลักเข้าไปในบริเวณนั้น เห็นเป็นก้อนตุง ส่วนน้อยที่เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลัง (เช่น แผลผ่าตัดที่หน้าท้อง)
ไส้เลื่อนมีอยู่หลายชนิด ที่พบบ่อยได้แก่
- ไส้เลื่อนที่สะดือ (umbilical hernia) ที่เรียกกันว่าสะดือจุ่น มักจะมีอาการมาตั้งแต่แรกเกิด และหายได้เองก่อนอายุ 2 ขวบ
- ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ (inguinal hernia) ผู้ป่วยจะมีหน้าท้องที่บริเวณขาหนีบอ่อนแอผิดปกติมาแต่กำเนิด แต่จะปรากฏอาการไส้เลื่อนเมื่อย่างเข้าวัยหนุ่มสาวหรือวัยกลางคน หรือเมื่อเป็นโรคไอเรื้อรัง เช่น หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมปอดโป่งพอง ไส้เลื่อนชนิดนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงตามมาได้
- ไส้เลื่อนที่เกิดหลังผ่าตัด (incisional hernia) เป็นไส้เลื่อนที่เกิดหลังได้รับการผ่าตัดช่องท้อง เมื่อแผลหายแล้ว ผนังหน้าท้องในบริเวณผ่าตัด เกิดหย่อนกว่าปกติ ทำให้ลำไส้ไหลทะลักเป็นก้อนโป่งที่บริเวณนั้น
ตำแหน่งที่เป็นไส้เลื่อน ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ
* อาการ
- สะดือจุ่น ทารกจะมีอาการสะดือจุ่น หรือสะดือโป่งเวลาร้องไห้ ซึ่งจะเป็นมาแต่แรกเกิด โดยไม่มีความผิดปกติอื่นๆ
- ไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ผู้ป่วยจะสังเกตเห็นมีก้อนตุงที่บริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะ ซึ่งจะเห็นชัดขณะลุกขึ้นยืน หรือเวลายกของหนัก ไอ จาม หรือเบ่งถ่าย เวลานอนหงายก้อนจะยุบหายไป เมื่อคลำดูจะพบว่าก้อนมีลักษณะนุ่มๆ หยุ่นๆ โดยไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด
อาการมีก้อนตุงโผล่ๆ ผลุบๆ แบบนี้มักจะเป็นอยู่นานเป็นแรมปี สิบๆ ปีหรือตลอดชีวิต แต่ถ้ามีภาวะไส้เลื่อนติดคาอยู่ที่ผนังหน้าท้อง ก็จะกลายเป็นก้อนตุง ไม่ยุบหาย และจะมีอาการเจ็บปวดที่ท้อง ปวดท้อง อาเจียนตามมา ซึ่งถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนของไส้เลื่อน
- ไส้เลื่อนที่เกิดหลังผ่าตัด ก่อนผ่าตัดผู้ป่วยไม่มีก้อนตุงที่หน้าท้อง แต่หลังผ่าตัด (อาจนานเป็นแรมเดือน หรือแรมปี ต่อมาก็พบว่าบริเวณใกล้ๆ รอบแผลผ่าตัด จะมีก้อนตุงขนาดใหญ่ ไม่มีอาการเจ็บปวด โดยเฉพาะจะเห็นชัดในท่ายืนหรือนั่ง แต่เวลานอนก้อนจะเล็กลงหรือยุบลง อาการจะเป็นเรื้อรังจนกว่าจะได้รับการผ่าตัดแก้ไข
* การแยกโรค
ก้อนที่บริเวณหน้าท้อง อาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
- ก้อนฝี ซึ่งจะมีอาการปวดบวมแดงร้อน แตะถูกเจ็บ และไม่ยุบหายเวลานอนหงาย
- ก้อนเนื้องอก มักจะเป็นก้อนแข็ง ไม่ยุบ แตะถูกไม่เจ็บ
ส่วนก้อนที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะ นอกจากก้อน ฝีและก้อนเนื้องอกแล้ว ยังอาจเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น
- โรคฝีมะม่วง ซึ่งเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง มีลักษณะบวมแดงร้อน
- ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ถ้าเป็นเฉียบพลันจะมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง ปวด แดงร้อน ถ้าเป็นเรื้อรัง มักจะเป็นก้อนแข็ง ไม่เจ็บ ไม่ยุบ
- ถุงน้ำที่ถุงอัณฑะหรือกล่อนน้ำ (hydrocele) มีลักษณะเป็นก้อนนุ่ม คล้ายลูกโป่งใส่น้ำ ไม่เจ็บ ไม่ยุบ เวลาใช้ไฟฉายส่องจะเห็นโปร่งใส มักพบในเด็กเล็ก ตั้งแต่แรกเกิด ส่วนน้อยอาจพบตอนโตแล้ว (ภายหลังได้รับบาดเจ็บหรือเกิดการอักเสบที่ถุงอัณฑะ)
- อัณฑะบิดตัว (testicular torsion) เกิดจากพัฒนาการที่ผิดปกติของสายรั้งอัณฑะ (spermatic cord) และเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอัณฑะ ทำให้ถุงอัณฑะหลวมกว่าปกติ อัณฑะสามารถบิดหมุนรอบตัวเมื่ออายุมากขึ้นได้ มีอาการปวดอัณฑะรุนแรง ตรวจพบเป็นก้อนบวม แตะถูกเจ็บ ไม่ยุบ
* การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยโรคไส้เลื่อนจากอาการแสดงและสิ่งตรวจพบ ได้แก่ อาการมีก้อนตุงโผล่ๆ ผลุบๆ ก้อนมีลักษณะนุ่มๆ หยุ่นๆ ไม่เจ็บ
ในรายที่ไม่แน่ใจ แพทย์อาจส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ เป็นต้น
* การดูแลตนเอง
ถ้าพบว่ามีก้อนตุงที่บริเวณใดบริเวณหนึ่งของผนังหน้าท้อง รวมทั้งบริเวณขาหนีบและอัณฑะ ก็ควรจะไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด
แต่ถ้าก้อนนั้นมีลักษณะแข็ง โตขึ้น แดงร้อนหรือเจ็บปวด หรือมีอาการปวดท้อง หรืออาเจียนร่วมด้วย ก็ควรจะรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว
ในกรณีที่เป็นไส้เลื่อน แพทย์อาจแนะนำให้รับการรักษาด้วยการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นไส้เลื่อนขนาดใหญ่ หรือขึ้นตรงบริเวณขาหนีบหรือถุงอัณฑะ
หลังจากแผลผ่าตัดหายดีแล้ว ก็สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เช่นคนปกติทั่วไป
* การรักษา
การรักษาขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของไส้เลื่อน
ถ้าทารกเป็นสะดือจุ่น ส่วนใหญ่แพทย์จะไม่ทำอะไร ซึ่งมักจะค่อยๆ ยุบหายไปได้เอง ยกเว้นในรายที่ก้อนโตมาก ให้ใช้ผ้าพันรอบเอวกดสะดือที่จุ่นไว้ไม่ให้ลำไส้ไหลเลื่อนลงมา รอจนอายุ 2 ขวบ ถ้ายังไม่หายอาจต้องผ่าตัด
ถ้าเป็นไส้เลื่อนที่เกิดหลังผ่าตัด ถ้าก้อนไม่โตมาก และไม่มีอาการอะไร แพทย์ก็อาจให้เฝ้าดูอาการไปเรื่อยๆ แต่ถ้าก้อนโตมาก หรือมีอาการปวดท้อง ก็อาจต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด
ส่วนไส้เลื่อนที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะ แพทย์มักจะแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัด โดยนัดทำในเวลาที่เหมาะสม อาจรอได้นานเป็นแรมปี
ในรายที่เป็นไส้เลื่อนชนิดติดคา (ก้อนไส้เลื่อนที่เคยโผล่ๆ ผลุบๆ มีอาการโผล่ไม่ผลุบ (ยุบ) เป็นก้อนแข็งและเจ็บปวดมาก และถ้ามีภาวะลำไส้อุดกั้นก็อาจมีอาการปวดท้อง อาเจียนร่วมด้วย แพทย์จะต้องรีบทำการผ่าตัดแบบฉุกเฉิน เพื่อป้องกันไม่ให้ลำไส้เน่า
ไส้เลื่อนชนิดถูกบีบรัด
* ภาวะแทรกซ้อน
อาจพบในผู้ป่วยที่เป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะ บางครั้งลำไส้อาจติดคาที่ผนังหน้าท้อง ไม่สามารถไหลกลับเข้าช่องท้องได้ดังเดิม เรียกว่าไส้เลื่อนชนิดติดคา ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะลำไส้อุดกั้น มีอาการปวดท้อง อาเจียนได้ และถ้าปล่อยทิ้งไว้ ลำไส้ที่ติดคาจะถูกบีบรัดจนขาดเลือดลำไส้เน่าได้ ซึ่งอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้
* การดำเนินโรค
สำหรับสะดือจุ่นที่พบในทารก ส่วนใหญ่มักจะหายได้เองภายในอายุ 2 ขวบ
ส่วนไส้เลื่อนที่ขาหนีบและไส้เลื่อนที่เกิดหลังผ่าตัด มักจะเป็นเรื้อรัง จนกว่าจะได้รับการผ่าตัดแก้ไข
ในรายที่เป็นไส้เลื่อนที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะ หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ อาจเกิดภาวะไส้เลื่อนติดคาแทรกซ้อนได้
* การป้องกัน
โรคนี้ยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
ส่วนไส้เลื่อนที่ขาหนีบหรือถุงอัณฑะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ด้วยการผ่าตัดแก้ไขเสียแต่เนิ่นๆ
* ความชุก
ไส้เลื่อนที่ขาหนีบพบได้ประมาณร้อยละ 1-2 ของประชากร พบได้บ่อยในเด็กโตและผู้ใหญ่ และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเป็นสิบๆ เท่า
- อ่าน 62,316 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้