• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มหัศจรรย์ทุเรียน ราชาของผลไม้

                                               
                                                 

ทุเรียน (durian)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Durio zibethinus Murr.

วงศ์ Bombaceaceae

ชื่อท้องถิ่น ภาคเหนือเรียก มะทุเรียน ภาคใต้เรียก เรียน มาเลเซีย-ใต้เรียก ดูรียัน (กัวลาลัมเปอร์-เคดาห์) ดือแย (กลันตัน-ตรังกานู)

คำว่าทุเรียนมาจากภาษามาเลย์ ดูริแปลว่าหนาม และเสียงเอียนทำให้คำดังกล่าวเป็นคำนาม ส่วนชื่อสปีชี่ส์มาจากชื่อวิทยาศาสตร์ของชะมดชนิดหนึ่ง Large Indian Civet (Viverra zibetha) ซึ่งชอบกินทุเรียนสุกเป็นอย่างยิ่งนั่นเอง

ทุเรียนมีถิ่นกำเนิดบริเวณหมู่เกาะอินโดนีเซีย และแถบประเทศบรูไนและมาเลเซีย เป็นไม้ผลที่มีขนาด ผลใหญ่ มีหนามแหลม รสชาติหวานมัน ได้ชื่อว่าเป็นราชาของผลไม้ (King of the fruits) เป็นไม้ผลยืนต้น สูง 5-15 เมตร

ทุเรียนมีใบเขียวตลอดปีเป็นใบเดี่ยวขนาดใหญ่เป็นคู่อยู่ตรงกันข้ามระนาบเดียวกัน ก้านใบกลมยาว 2-4 เซนติเมตร แผ่นใบรูปไข่แกมขอบขนานเรียบปลายใบ ใบเรียวแหลมยาว 10-18 เซนติเมตร ผิวใบเรียบลื่น มีไขนวล ใบด้านบนมีสีเขียว ท้องใบสีน้ำตาล เส้นใบด้านล่างนูนเด่น

ดอกเป็นดอกช่อ 3-30 ดอก เกิดตามลำต้นและกิ่ง เป็นดอกสมบูรณ์เพศทรงระฆังยาว 1-2 เซนติเมตร ดอกมีกลีบดอกห้ากลีบ มีสีขาวและมีกลิ่นหอม

ผลเป็นผลสดเดี่ยว เปลือกผลสีเขียวมีหนามแหลม แตกตามแต่ละส่วนของผลเรียกเป็นพู เมื่อสุกจะมีสีน้ำตาลอ่อน ผลยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร หนัก 1-3 กิโลกรัม เนื้อในจะนิ่มกึ่งอ่อนกึ่งแข็งมีสีขาว เมื่อสุก สีเหลืองมีรสหวาน เมล็ดกลมรีมีเยื่อหุ้มเปลือกสีน้ำตาลผิวเรียบ เนื้อในเมล็ดสีขาวมีรสฝาด

ดอกทุเรียนมีขนาดใหญ่ มีน้ำหวานมาก ส่งกลิ่นหนักหอมเอียน เป็นลักษณะเฉพาะของดอกไม้ที่ถูกผสมเกสรโดยค้างคาวบางชนิดที่กินน้ำหวานและเกสรดอกไม้

งานวิจัยในประเทศมาเลเซียและประเทศไทยพบว่าทุเรียนส่วนใหญ่รับการผสมเกสรจากค้างคาวเล็บกุด (Eonycteris spelaea) ซึ่งเป็นค้างคาวถ้ำกินผลไม้ ปัจจุบันนี้ค้างคาวดังกล่าวมีจำนวนประชากรลดลงมากเนื่องจากถูกล่าและมีการระเบิดภูเขาหิน ทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยของค้างคาวดังกล่าวลดลง การลดจำนวนประชากรค้างคาวอาจมีผลต่อปริมาณผลทุเรียนที่เก็บเกี่ยวได้ในอนาคต

ทุเรียนพันธุ์ต่างๆ มีชื่อเรียกและมีรหัสหมายเลขกำกับ เช่น กบ (D99) ชะนี (D123) ก้านยาว (D158) และหมอนทอง (D159) แต่ละสายพันธุ์มีรสและกลิ่นที่แตกต่างกัน ในประเทศไทยมีทุเรียนมากกว่า 200 สายพันธุ์ แต่พันธุ์ที่ได้รับความนิยมใช้เป็นต้นตอมากที่สุดคือพันธุ์ชะนี เพราะทนต่อโรครากเน่าโคนเน่า พันธุ์ที่ปลูกในเชิงพาณิชย์มากที่สุดในประเทศไทยคือพันธุ์ชะนี กระดุมทอง หมอนทอง และก้านยาว

ประเทศไทยส่งออกทุเรียนเกินกว่าร้อยละ 50 ของทุเรียนที่มีจำหน่ายในตลาดโลก ปริมาณการกินทุเรียนในตลาดโลกเมื่อ 10 ปีที่แล้วคือ 1.4 ล้านตัน ตลาดขยายไกลไปจนถึงญี่ปุ่น ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา บางส่วนในรูปของผลิตภัณฑ์แช่แข็ง
 

คุณค่าทางโภชนาการ ต่อ 100 กรัม
(3.5 ออนซ์) ของทุเรียน
พลังงาน                  150 กิโลแคลอรี
คาร์โบไฮเดรต     27.09 กรัม
เส้นใยอาหาร            3.8 กรัม
ไขมัน                     5.33 กรัม
โปรตีน                   1.47 กรัม
น้ำ                             65 กรัม
วิตามินซี                19.7 มิลลิกรัม ร้อยละ 33
โพแทสเซียม          436 มิลลิกรัม ร้อยละ 9
Source: USDA Nutrient database Percentages are relative to US recommendations for adults


ทุเรียนเป็นผลไม้เลื่องชื่อเรื่องกลิ่น (อันไม่พึงประสงค์) ถูกห้ามนำขึ้นเครื่องบิน รถไฟฟ้า และห้ามนำเข้าโรงแรมชั้นนำต่างๆ ของโลก

งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า สารระเหยหอมหลายชนิด ได้แก่เอสเทอร์ คีโทน และสารประกอบซัลเฟอร์หลายชนิดเป็นที่มาของกลิ่นทุเรียนเลื่องชื่อนี้ กลิ่น ทุเรียนสุกสามารถขจรขจายไปไกลได้กว่ากิโลเมตร นำพาสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศน์ของป่าฝนเขตร้อนหลายชนิด เช่น กระรอก กวาง หมู อุรังอุตัง ช้าง และเสือมาพบกับผลไม้อันโอชะนี้ สัตว์ใหญ่กินทั้งเนื้อและเมล็ดทุเรียน นำเมล็ดไปถ่ายเป็นมูลสัตว์ไว้ในสถานที่อื่นไกลจากทุเรียนต้นแม่เป็นการกระจายพันธุ์ทุเรียนตามธรรมชาติ

การกินทุเรียนสุกเท่าไรนั้นเป็นความชอบของแต่ละบุคคลและแต่ละภูมิภาค ชาวใต้ส่วนหนึ่งชอบ ทุเรียนห่ามรสอ่อน ส่วนชาวเหนือชอบทุเรียนสุก เนื้อนิ่ม กลิ่นอบอวล ส่วนชาวมาเลเซียและสิงคโปร์จะปล่อย ให้ทุเรียนสุกต่ออีก 1-2 วันหลังจากเปลือกพูทุเรียนแตกเองแล้ว บ้างทิ้งไว้จนมีกลิ่นหมักแอลกอฮอล์ก็มี

"เนื้อทุเรียนมีพลังงานและไขมันสูง ให้ธาตุอาหารสำคัญคือโพแทสเซียมและกรดอะมิโนทริปโทเฟน"

การกินทุเรียน
การกินเนื้อผลทุเรียนของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีมานานแล้ว แต่มีการกล่าวถึงในบันทึกของชาวยุโรปที่มาเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกในคริสต์ศตวรรษที่ 15

ประเทศมาเลเซียมีการใช้ทุเรียนแต่งรสอาหารหวานหลายชนิด เช่น ลูกอม ขนมบิสกิต ปรุงเป็นข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียน ปัจจุบันประยุกต์เป็นไอศกรีม มิลค์เชก ขนมไหว้พระจันทร์ ผสมครีมแต่งหน้าเค้ก เป็นต้น

ที่มลรัฐซาบาห์จะทอดทุเรียนกับหอมใหญ่และพริกเสิร์ฟเป็นเครื่องเคียง หรือปรุงเป็นองค์ประกอบในซุปปลา

ชาวเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซียใช้ทุเรียนหมักปรุงอาหารกินกับข้าวสุก
ประเทศไทย นอกจากมีการกินทุเรียนเป็นผลไม้และเป็นอาหารหวานในรูปของข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียนแล้ว ยังมีการเก็บรักษาเป็นทุเรียนกวนและทุเรียนทอด แต่ปัจจุบันมักมีการปนเนื้อฟักทองกวนในผลิตภัณฑ์ทุเรียนกวนดังกล่าว

เนื้อทุเรียนมีพลังงานและไขมันสูง ให้ธาตุอาหารสำคัญคือโพแทสเซียม และกรดอะมิโนทริปโทเฟน ช่วยให้นอนหลับง่าย แต่ทุเรียนมีน้ำตาลสูง ไม่เหมาะแก่ผู้ที่ต้องควบคุมอาหาร เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วน

ชาวมาเลเซียนิยมดื่มน้ำต้มใบและรากทุเรียน และประคบหน้าผากเพื่อลดไข้ ตรงกับการใช้งานของแพทย์พื้นบ้านไทย การแพทย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแพทย์แผนจีนเชื่อว่า เนื้อทุเรียนมีผลสำหรับอบอุ่นร่างกายและขับเหงื่อ ถ้าต้องการลดฤทธิ์นี้ให้กินร่วมกับเนื้อมังคุดที่มีฤทธิ์ช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย ทั้งนี้ จึงมีการห้ามไม่ให้หญิงมีครรภ์และผู้ที่มีความดันเลือดสูงกินเนื้อทุเรียน และห้ามกินร่วมกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ชาวอินโดนีเซียในเกาะชวาเชื่อว่าเนื้อทุเรียนมีฤทธิ์ช่วยเสริมพลังเพศ

ทุเรียนมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน
ปี พ.ศ.2551 นักวิจัยของประเทศชิลีทำการทดสอบทุเรียน 5 สายพันธุ์ ได้แก่ หมอนทอง ชะนี ก้านยาว พวงมณีและกระดุม ที่สุกเท่าๆ กัน เพื่อเลือกใช้เป็นอาหารเสริม

พบว่าทุเรียนหมอนทอง ชะนี และพวงมณี มีปริมาณโพลีฟีนอลรวม ฟลาโวนอยรวม แอนไซยานิน และฟลาวานอล มากกว่าที่พบในพันธุ์กระดุมและก้านยาวอย่างมีนัยสำคัญ

การตรวจสอบด้วยเครื่องมือพบว่าพันธุ์หมอนทอง ชะนี และพวงมณีมีกรดคาเฟอิกและสารเควอเซติน เป็นสารหลัก

การตรวจสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชันพบว่าหมอนทอง ชะนี และพวงมณีมีความสามารถในการต้านออกซิเดชันสูงกว่าพันธุ์กระดุมและก้านยาว โดยการทดสอบด้วยวิธี FRAP, CUPRAC และ TEAC ผู้วิจัยจึงแนะนำให้พิจารณาใช้ทุเรียน 3 สายพันธุ์ดังกล่าวเป็นอาหารเสริมได้

ปีเดียวกันนี้นักวิจัยชาวโปแลนด์พบว่า ทุเรียนหมอนทองมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันดีกว่าพันธุ์ชะนีและก้านยาว และพบว่าทุเรียนหมอนทองมีฤทธิ์ลดไลพิดในพลาสม่าและคงปริมาณสารต้านออกซิเดชันในหนูไขมันสูงอีกด้วย

"ห้ามไม่ให้หญิงมีครรภ์และผู้ที่มีความดันเลือดสูงกินเนื้อทุเรียน"Ž

เชื่อหรือไม่ ทุเรียนลดไขมันในเลือด
นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้เสนอผลงานวิจัยเชิงเคมี และฤทธิ์ลดการเพิ่มไขมันในพลาสม่าหนูเมื่อปี พ.ศ. 2550 พบว่าทุเรียนมีปริมาณเส้นใยสูง มีโพลีฟีนอล รวม 309.7 +/-19.3 มิลลิกรัม of GAE/100 กรัม of FW และมีฟลาโวนอยด์ 61.2 +/- 4.9 มิลลิกรัม of CE/100 กรัม of FW ปริมาณสารต้านออกซิเดชันใน ทุเรียนวัดได้สูงกว่าที่พบในมังคุด พบว่า มีสารเควอเซติน มากที่สุด รองลงมาคือกรดพาราคูมาริก กรดซินนามิก และกรดคาเฟอิกตามลำดับ

"ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ห้ามกินพร้อมยาแก้ไข้พาราเซตามอล"Ž

นอกจากนี้ การทดลองในหนูในงานวิจัยข้างต้นยังพบพบว่า หนูที่ได้รับอาหารคอเลสเตอรอลสูงกับเนื้อผลทุเรียนร้อยละ 5 มีผลขัดขวางการเพิ่มของระดับไลพิดในพลาสม่าและขัดขวางการลดลงของฤทธิ์ต้านออกซิเดชันได้ดีกว่าการกินเนื้อมังคุดอีกด้วย

ปีเดียวกัน นักวิจัยชาวโปแลนด์ทำการวิจัยกับทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่สุกไม่เท่ากัน คือเนื้อแข็ง สุก และสุกงอม พบว่าหมอนทองสุกมีปริมาณสารโพลีฟีนอลรวมและฟลาโวนอยรวมสูงกว่าทุเรียนเนื้อแข็งและสุกงอมอย่างมีนัยสำคัญ และมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันสูงกว่าทุเรียนเนื้อแข็งและสุกงอมด้วย

การทดลองให้อาหารคอเลสเตอรอลสูงกับหนูทดลองผนวกกับการให้ผงทุเรียนหมอนทองแช่แข็ง อบแห้ง (freeze-dried powder) ร้อยละ 5 ของอาหารปกติ พบว่าหนูที่ได้อาหารที่มีหมอนทองสุกมีค่าไลพิดในพลาสม่าไม่สูงขึ้นมาก และคงสภาวะฤทธิ์การต้านออกซิเดชันไว้ได้ดี หนูกลุ่มนี้สามารถรักษาไนโตรเจนไว้ได้สูงและรักษาระดับกลูโคสในพลาสม่าไว้ได้คงที่ มีไฟบริโนเจนต่ำกว่ากลุ่มอื่นเห็นได้จากผลอิเล็กโทรฟอรีซิส ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวพบได้จากโปรตีนมวลโมเลกุลต่ำในซีรั่มของหนู ผลเนื้อเยื่อหลอดเลือดเอออต้า ไม่พบความต่างในกลุ่มทดลองมากนัก

ผู้วิจัยสรุปว่าทุเรียนหมอนทองสุกน่าจะเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ดีสำหรับผู้ป่วยคอเลสเตอรอลสูงและผู้ป่วยเบาหวาน ถึงกับมีการเสนอให้พัฒนาทุเรียนเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับผู้ป่วยหลอดเลือดแข็งตัวในงานวิจัยบางชิ้น

งานวิจัยชิ้นใหม่จากประเทศมาเลเซียพบว่า ทุเรียนมีดัชนีไกลซีมิก (Glycemic Index) ต่ำกว่าแตงโม มะละกอ และสับปะรด (49 +/- 5, 55 +/- 3, 58 +/- 6 และ 82 +/- 4 ตามลำดับ)

ข้อมูลเหล่านี้อาจทำให้ท่านผู้อ่านกินทุเรียนในฤดูกาลปีนี้ด้วยความสบายใจมากขึ้น แต่ทุเรียนเป็นผลไม้ที่ห้ามกินพร้อมยาแก้ไข้พาราเซตามอล และมีค่าพลังงานค่อนข้างสูง จึงควรกินทุเรียนตามหลักทางสายกลาง แนะนำทุเรียนหมอนทองแต่ห้ามปรุงเป็นข้าวเหนียวน้ำกะทิทุเรียนนะคะจะเพิ่มปริมาณไขมันในหลอดเลือดแทน
 

ข้อมูลสื่อ

362-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 362
มิถุนายน 2552
บทความพิเศษ