• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟ้ามุ่ย ความงามที่ทำให้ฟ้าหม่นหมอง

ในบรรดากล้วยไม้ป่าที่มีกำเนิดในประเทศไทย หากนับเฉพาะที่มีชื่อเสียงรู้จักทั่วไปทั้งระดับประเทศและระดับโลก เพราะมีความงามเป็นเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว และมีคุณค่าด้านเป็นพ่อแม่พันธุ์พัฒนาเป็นกล้วยไม้สายพันธุ์ใหม่ๆ ต่อมาอีกมากมาย กล้วยไม้ป่าดั้งเดิมของไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวจะต้องรวมกล้วยไม้ที่คนไทยเรียกว่า ฟ้ามุ่ย อยู่ด้วยอย่างแน่นอน

                                                       

ฟ้ามุ่ย : ความงามจากป่าสู่ความเป็นสากล
ฟ้ามุ่ย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vanda coerulea Griff. ex Lindle. อยู่ในวงศ์กล้วยไม้ คือ Orchidaceae เป็นกล้วยไม้ประเภทแวนด้า

ใบ
แบนลักษณะใบค่อนข้างกว้างกว่าแวนด้าชนิดอื่น ยาวประมาณ 20 เซนติเมตร กว้าง 2.5 เซนติเมตร ใบซ้อนเรียงสลับกัน

ดอก
ช่อดอกตั้งตรงยาวประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร ออกดอก 5 - 15 ดอก ดอกสีฟ้าอ่อนถึงฟ้าแก่ (ฟ้าเกือบขาวถึงม่วงแดง) บนกลีบมีลายตารางสีเข้มกว่าสีพื้น ปากเล็กหูปากแคบโค้งปลายมน ที่ปลายมี 2 ติ่ง เส้าเกสรเบื้องบนสีขาว ขนาดดอก 7-10 เซนติเมตร บานทน ออกดอกระหว่างเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม

ฟ้ามุ่ยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในป่าตอนใต้ของประเทศ จีน อินเดียตะวันออก พม่า และไทย ในประเทศไทยส่วน ใหญ่พบในป่าภาคเหนือ แต่มีพบบ้างในป่าภาคกลาง

คนไทยรู้จักนำเอากล้วยไม้ฟ้ามุ่ยออกจากป่ามาปลูกเลี้ยงในบริเวณบ้านมานานนับร้อยปีแล้ว เช่นนำมาผูกติดตามต้นไม้ กิ่งไม้ เพียงเท่านั้นฟ้ามุ่ยก็จะเจริญเติบโตออกดอกให้ชื่นชมได้ต่อไปอีกนานหลายสิบปี

เมื่อการเพาะเลี้ยงกล้วยไม้เจริญก้าวหน้าขึ้นจึงมีการคัดเลือกฟ้ามุ่ยป่าที่มีความงามโดดเด่นเป็นพิเศษมา ขยายพันธุ์ หรือโดยการเพาะเมล็ด ผสมพันธุ์ให้งดงามยิ่งขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่าฟ้ามุ่ยที่คนไทยปลูกเลี้ยงอยู่ตามบ้านทุกวันนี้ ส่วนใหญ่มาจากการเพาะเลี้ยง ไม่ได้มาจากป่าโดยตรงดังเช่นอดีตอีกต่อไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ประเทศไทยเสนอให้ถอดชื่อฟ้ามุ่ยออกจากบัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ( CITES ) เพราะพืชและสัตว์ที่อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ห้ามทำการค้าขายโดยเด็ดขาด

เมื่อฟ้ามุ่ยถูกถอดออกจากบัญชีหมายเลข 1 จึงทำให้สามารถเพาะเลี้ยงฟ้ามุ่ยเป็นการค้าได้ โดยเฉพาะการส่งไปขายต่างประเทศ เช่นเดียวกับกล้วยไม้ชนิดอื่นๆ

ความงามอันโดดเด่นของฟ้ามุ่ยอยู่ที่สีของกลีบดอก ซึ่งเป็นสีฟ้า (น้ำเงินอมม่วง) ซึ่งหาได้ยากในกล้วยไม้สายพันธุ์อื่น สีของดอกฟ้ามุ่ยนี่เองที่การบินไทยนำมาเป็นสีของสัญลักษณ์การบินไทย นอกจากนี้เอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของฟ้ามุ่ยก็คือ ลายตารางสีเข้มบนพื้นกลีบดอกซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า "สายตาสมุก" ซึ่งมี 3 รูปแบบคือ ลายตารางใหญ่ ลายตารางเล็ก และลายนกเขา

ความงดงามโดดเด่นของฟ้ามุ่ย ทำให้ถูกยกย่องว่าเป็นกล้วยไม้ป่าที่สวยงามที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ในงานมหกรรมพืชสวนโลกเฉลิมพระเกียรติฯ กล้วยไม้ฟ้ามุ่ยได้รับการตัดสินเป็นกล้วยไม้ยอดเยี่ยมประจำสัปดาห์ กล้วยไม้หอม เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2549

นอกจากฟ้ามุ่ยพันธุ์แท้ที่มีความงามโดดเด่นแล้ว ฟ้ามุ่ยยังทำให้เกิดลูกผสมที่มีลักษณะสีดอก และลาย ตาสมุกโดดเด่นอีกมากมาย จนอาจกล่าวได้ว่าลูกผสมกล้วยไม้แวนด้าสมัยใหม่ส่วนใหญ่ จะมีเชื้อพันธุ์จากฟ้ามุ่ยผสมอยู่ด้วยเสมอ

มีผู้รู้บางท่านอธิบายว่า ชื่อฟ้ามุ่ยมีความหมายว่า ฟ้าหม่นหมอง เนื่องจากความงามจากกลีบดอกสีฟ้าของฟ้ามุ่ย ทำให้สีของท้องฟ้าแลดูหม่นหมองไปเลยนั่นเอง

 

ข้อมูลสื่อ

362-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 362
มิถุนายน 2552
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร