"ช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์ไม้นี้ ไว้และขยายพันธุ์เพิ่มเติมเพื่อไม่ให้สารภีเหลือแต่ชื่อเท่านั้น"
ระหว่างที่พยายามหาต้นหมันให้เจอนั้น ได้ไปพบต้นสารภีซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัดพะเยาแทน กำลังออกดอกอยู่ที่วัดสุวรรณดาราราม มีชาวอยุธยา 2-3 คนอยู่ใต้ต้น และมีการวางแผนการเก็บดอกสารภีเป็นอย่างดี โดยวางตาข่ายอยู่ใต้ต้นซึ่งรองรับดอกสารภี
สอบถามดูได้ความว่าเก็บไปเพื่อขาย โดยทำเป็นดอกแห้งให้เรียบร้อย มีคนมารับซื้อไปทำยาสมุนไพร ทำให้นึกถึงพิกัดเกสรทั้ง 5 ได้แก่ ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกสารภี ดอกบุนนาค เกสรบัวหลวง
พิกัดเกสรทั้ง 5 มีสรรพคุณเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ บำรุงโลหิต แก้ลมวิงเวียน หน้ามืดตาลาย แก้โรคตา แก้ร้อนในกระหายน้ำและแก้ไข้
ชื่อวิทยาศาสตร์ของสารภีคือ Mammea siamensis (T. Anderson ) Kosterm
สารภีเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 12-20 เมตร เป็นไม้ไม่ผลัดใบ ลำต้นตรง ขรุขระเล็กน้อย เปลือกเป็นสะเก็ดเล็กๆ มีสีน้ำตาล มีกิ่งแน่น ปลายกิ่งมักห้อยลงและมียางสีเหลืองหรือขาว
ใบรูปไข่ปลายมนกว้าง บางทีปลายใบเว้าลงเล็กน้อย
ดอกสารภี เป็นดอกไม้สีขาว ขนาดเล็กเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2 เซนติเมตร มีเกสรสีเหลืองเป็นเส้นเล็กๆ เป็นวง ดอกจะบานในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม จะบานยามเช้า ประมาณ 7 นาฬิกา ส่งกลิ่นหอมฟุ้งไกล ดอกจะร่วงเร็วมาก บานได้ 1 วัน
ผลกลมเป็นรูปกระปุกเล็กๆ ผิวเรียบสีเขียว พอสุกมีสีเหลือง เนื้อในมีรสหวาน ขนาดผลยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร สามารถขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด
วิธีเก็บดอกสารภีแต่ดั้งเดิมนั้น ชาวบ้านจะปูผ้ารองรับไว้ด้านล่าง เมื่อดอกแห้ง ดีแล้ว เก็บไปไว้ใช้ อาจใช้เข้าพิกัดยาต่างๆ หรืออาจทำเป็นน้ำหอม โดยเพิ่มดอกคำฝอย ส้มป่อยเผา แช่น้ำ จะได้น้ำหอม สำหรับใช้เป็นน้ำสรงพระในเทศกาลสงกรานต์
ดอกสารภีแห้งนั้นมีกลิ่นหอม รสขม บำรุงหัวใจ เป็นยาหอมชูกำลัง แก้โลหิตพิการช่วยเจริญอาหาร บำรุงประสาท แก้ลมวิงเวียน
ดีใจที่เห็นดอกสารภียังปลูกอยู่ในวัด และยังเห็นการใช้ประโยชน์ ไม่ใช่ปล่อยให้ดอกร่วงหล่นไปโดยไร้ประโยชน์ เพราะเมื่อคนเห็นประโยชน์ก็จะรักษาและหวงแหน แต่ทำอย่างไรจะช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์ไม้นี้ไว้ และขยายพันธุ์เพิ่มเติมเพื่อไม่ให้สารภีเหลือแต่ชื่อเท่านั้น
- อ่าน 9,557 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้