• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

หน่อกะลา

                                


ไปทำงานที่เกาะเกร็ดจังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่สนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) มีทอดมันหน่อกะลา บริเวณท่าเทียบเรือตรงวัดปรมัยยิกาวาส เดินตรงไปอีกนิดเดียวก็เห็นร้าน " ทอดมันหน่อกะลา " อยู่ตรงหัวมุมกับกระทะใบใหญ่ กำลังขายทอดมัน ถูกปั้นโยนลงกระทะทอดอยู่ตลอดเวลา

ฟังดูจากชื่อน่าสนใจ และเป็นรายการอาหารที่น่าสงสัยว่าหน่อกะลาคืออะไร หรือมีลักษณะอย่างไร ฟังเผินๆ อาจเดาไม่ถูกว่าลักษณะของต้นไม้ชนิดนี้เป็นวงศ์เดียวกับต้นมะพร้าวหรือเปล่า 

หน่อกะลาใช้นำมาประกอบอาหารหลายอย่าง ถือเป็นอาหารพื้นเมืองของจังหวัดนนทบุรี ทำทอดมัน สามารถใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก อาจกินสดหรือลวก ใช้ใส่ในแกงส้ม ห่อหมกหน่อกะลา แกงคั่วหอยหน่อกะลา ผัดเผ็ดปลากับหน่อกะลาและอื่นๆ แต่ที่มาของชื่อพื้นเมืองอีกอย่างของหน่อกะลาคือข่าน้ำ เพราะสามารถ ใช้แทนข่าจริงๆ เพื่อใช้ในการทำต้มยำ หรือต้มข่าไก่

หน่อกะลาขึ้นดาษดื่นจนมองคล้ายวัชพืช เพราะว่า เจริญเติบโตและขยายพันธุ์ง่าย เกาะเกร็ดจะถูกน้ำท่วมอยู่กี่ครั้งกี่หน แต่หน่อกะลากลับเจริญเติบโตได้ดี นี่อาจเป็นที่มาของชื่ออีกชื่อหนึ่งของหน่อกะลาคือข่าน้ำ สามารถแพร่พันธุ์ขยายไปทั่วเกาะ

ชาวเกาะเกร็ดเดิมที่เป็นเชื้อชาติมอญปรุงอาหารกินจากหน่อกะลากันมานานแล้ว จริงๆ ผู้เขียนได้ยินชื่อหน่อกะลาจากโรงเรียนสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน คือโรงเรียนพิชญศึกษา จังหวัดนนทบุรี ที่เด็กนักเรียนสนใจพืชชนิดนี้ที่ขึ้นอยู่ในจังหวัดของตนเอง ได้ทำการศึกษาอย่างละเอียด และส่งตัวอย่างใบหน่อกะลามาที่ อพ.สธ. เพื่อทำ DNA Fingerprint โดยหน่วยปฏิบัติการชีวโมเลกุลพืช

ไม่น่าแปลกใจถ้าเห็นต้นหน่อกะลาว่าจัดอยู่ในพืชวงศ์ขิง Zingiberaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์คือ Alpinia nigra Burrt มีชื่ออื่น เช่น ข่าน้ำ กะลา เร่ว เร่วน้อย เป็นต้น  หน่อกะลามีลักษณะคล้ายๆ พืชวงศ์ขิงโดยทั่วไปที่มีเหง้าที่เป็นลำต้นอยู่ใต้ดิน และมีลำต้นบนดินเป็นต้นเทียม ต้นโตสูงประมาณ 3 เมตร ลักษณะเป็นกอแน่น ชอบอยู่ในพื้นที่ที่น้ำท่วมถึง มีแสงแดดส่อง เหง้าหน่อกะลาสามารถใช้พอกแผลแก้ผื่นคันตามผิวหนัง เพราะมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยายืนยันได้ว่าเป็นภูมิปัญญาไทยที่ถูกต้องว่าสามารถยับยั้งเชื้อราบนผิวหนังได้หลายชนิด
    
เอกสารอ้างอิง
1. จุลสารข้อมูลสมุนไพร ปีที่ 26 ฉบับที่ 2 เมษายน พ.ศ.2552
2. http://www.stks.or.th/botany

 

 

ข้อมูลสื่อ

365-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 365
กันยายน 2552
ต้นไม้ใบหญ้า
ดร.ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์