• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างสำเร็จรูปชุดแรกในไทย


จากสถิติขององค์การอนามัยโลกพบว่า มีประชากร 120 ล้านคนติดเชื้อโรคเท้าช้าง และ 40 ล้านคนเกิดความพิการทั่วโลก องค์การอนามัยโลกจึงได้จัดทำ " โครงการกำจัดโรคเท้าช้างในแหล่งระบาดทั่วโลก "ขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี พ.ศ.2536 โรคเท้าช้างจะถูกควบคุมและกำจัดให้หมดไปหรือจำกัดให้เหลือจำนวน ผู้ติดเชื้อน้อยที่สุด

โรคเท้าช้างที่พบในไทยเกิดจากเชื้อพยาธิตัวกลมซึ่งมียุงเป็นพาหะนำโรคโดยพยาธิจะไปเจริญเติบโตในระบบน้ำเหลืองทำให้ต่อมน้ำเหลืองอักเสบท่อน้ำเหลืองอุดตันเรื้อรังส่งผลให้แขน ขา หรืออวัยวะเพศบวมโต

ทีมนักวิจัยภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงทำการวิจัยและพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างและสำเร็จเป็นแห่งแรกในไทย

รศ.ดร.สิริจิต วงศ์กำชัย หัวหน้าโครงการพัฒนาชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้าง ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างสำเร็จรูปนี้ได้รับความร่วมมือในการจัดเตรียมตัวพยาธิเท้าช้างจาก ศ.เวช ชูโชติ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย   เชียงใหม่ มาวิจัยพัฒนาชุดตรวจจนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งใช้งานง่าย ได้ผลดี รู้ผลเร็ว สามารถตรวจพบพยาธิในกระแสเลือดแม้จะมีจำนวนน้อย และราคาถูกกว่าต่างประเทศประมาณ 2 เท่า

นอกจากนี้การตรวจยังใช้เลือดเพียงเล็กน้อยจากปลายนิ้ว ซึ่ง อสม.(อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) สามารถทำได้ และที่สำคัญคือ สามารถเจาะเลือดในเวลากลางวันได้ ไม่จำเป็นต้องออกเจาะเลือดในเวลากลางคืนเหมือนที่เคยทำ (โดยปกติการเจาะเลือดเพื่อตรวจวินิจฉัยหาพยาธิเท้าช้างระยะตัวอ่อนที่อยู่ในกระแสเลือดต้องทำในเวลากลางคืนจึงจะพบเชื้อ) จึงเหมาะกับการนำไปใช้ในพื้นที่ของจังหวัดนราธิวาสที่มีเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งจะทำให้โครงการกำจัดโรคเท้าช้างในจังหวัดนี้บรรลุเป้าหมาย 

ผลิตภัณฑ์ชุดตรวจวินิจฉัยโรคเท้าช้างนี้จะเริ่มใช้ที่ศูนย์แห่งการเรียนรู้โรคติดต่อนำโดยแมลง  โครงการงานควบคุมปราบปรามโรคติดต่อและการสาธารณสุข ศูนย์ศึกษาเพื่อการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจาก พระราชดำริ จังหวัดนราธิวาสเป็นแห่งแรก พร้อมกับถ่ายทอดความรู้ในการตรวจแก่บุคลากรและเจ้าหน้าที่

งานวิจัยดังกล่าวนอกจากจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากรที่อาศัยในแหล่งระบาดแล้วยังเสริมสร้างความแข็งแกร่งและพัฒนาศักยภาพงานวิจัยของไทยให้เกิดองค์ความรู้ใหม่และการวิจัยต่อยอดในอนาคตได้อีกขั้น

  

ข้อมูลสื่อ

365-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 365
กันยายน 2552
อื่น ๆ