• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แพทย์เชียงใหม่ประสบความสำเร็จปลูกถ่ายตับจากแม่สู่ลูกรายแรกของภาคเหนือ


คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีโครงการจัดตั้งศูนย์ปลูกถ่ายตับของภาคเหนือขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายของโรคที่มีภาวะตับวาย ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้จะเสียชีวิตในระยะเวลาอันสั้นเนื่องจากภาวะตับวาย


การผ่าตัดเปลี่ยนตับจึงได้นำมาใช้เพื่อต่อชีวิตให้ผู้ป่วยได้มีชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพขึ้น ซึ่งปัจจุบันวิวัฒนาการของการปลูกถ่ายตับได้พัฒนาแพร่หลายไปอย่างมาก อัตราการอยู่รอดหลังผ่าตัดโดยเฉลี่ยในระยะ 5 ปีมีมากกว่าร้อยละ 80 และมีภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดที่ลดลง

เนื่องจากภาวะการขาดแคลนผู้บริจาคอวัยวะ จากภาวะสมองตายในประเทศไทยมีจำนวนที่ต่ำมาก เมื่อเทียบ กับสัดส่วนผู้ป่วยที่รอการเปลี่ยนอวัยวะ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องรับบริจาคอวัยวะจากผู้บริจาคที่ยังมีชีวิต ซึ่งเป็น บุคคลภายในครอบครัวหรือญาติพี่น้องที่มีความเกี่ยวข้องกัน จะช่วยลดอัตราการตายจากการรออวัยวะของผู้รับบริจาคและลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดลงได้มาก เนื่องจากผู้รับบริจาคอวัยวะสามารถได้ตับมาเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว และมีการเข้ากันของเนื้อเยื่อได้ดีมากขึ้น

รศ.นพ.นิเวศน์ นันทจิต คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ทีมของคณะแพทย์ฯ ประกอบด้วย รศ.นพ.ณัฐพงษ์  อัครผล, ผศ.นพ.สุรพงษ์  หล่อสมดี, อ.นพ.วีระวร อริยขจร ประสบความสำเร็จในการผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากแม่สู่ลูกเป็นรายแรกของภาคเหนือ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2551 

ด.ญ.อภิรดี  อินตานันท์ ป่วยด้วยอาการภาวะตับวายเรื้อรัง เนื่องจากท่อน้ำดีอุดตันแต่กำเนิดและมีอาการตัวเหลือง ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลมาอย่างต่อเนื่องจนอายุได้ประมาณ 3 ขวบ อาการเริ่มรุนแรงขึ้น คือมีตัวเหลืองมากขึ้นเนื่องจากตับไม่ทำงาน คณะแพทย์จึงปรึกษากับแม่ของเด็กว่าจะทำการผ่าตัดเปลี่ยนตับจากแม่สู่ลูกโดยจะดูแลค่าผ่าตัดและค่ารักษาหลังผ่าตัดให้ เพราะหากปล่อยให้อาการของเด็กรุนแรงมากขึ้นจะมีโอกาสเสี่ยงชีวิตสูง  การผ่าตัดใช้เวลานานกว่า 14 ชั่วโมง หลังผ่าตัด แม่ของเด็กพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 1 สัปดาห์ก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตเป็นปกติได้ ส่วนเด็กต้องนอนรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียูของโรงพยาบาลอีกประมาณ 2 สัปดาห์ เบื้องต้นเด็กมีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ แพทย์ได้ให้เด็กรับยากดภูมิคุ้มกันไว้ เพื่อไม่ให้ร่างกายเกิดอาการต่อต้านสิ่งแปลกปลอม  เพราะหลังการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะมีโอกาสสูงที่ร่างกายจะต่อต้าน หากเด็กไม่ได้รับยกกดภูมิคุ้มกัน อาจมีอาการต่อต้านสิ่งแปลกปลอม เพราะหลังการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ  มีโอกาสสูงที่ร่างกายจะต่อต้าน หากเด็กไม่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันอาจมีอาการตัวเหลือง ตับไม่ทำงานและเกิดอาการตับวายจนเสียชีวิตได้  ปัจจุบันเด็กมีสุขภาพแข็งแรงไม่มีอาการตัวซีดเหลืองแต่ยังต้องเข้ามารับการตรวจที่คลินิกเด็กเป็นระยะและอยู่ระหว่างการปรับยากดภูมิคุ้มกัน

ขณะนี้มีผู้ป่วยรายที่สอง ที่เข้ารับการปลูกถ่ายตับ จากแม่สู่ลูกคือ ด.ญ.ธาริณี ศรีวิชัย  อายุ 5 ขวบ ผู้ป่วย มีภาวะตับวายเรื้อรัง เนื่องจากท่อน้ำดีอุดตันแต่กำเนิด เข้ารับการผ่าตัดปลูกอวัยวะ ปลูกถ่ายตับจากแม่สู่ลูก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2552 ซึ่ง รศ.นพ.ณัฐพงษ์  อัครผล ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ และ อ.นพ.วีระวร  อริยขจร ภาควิชาศัลยศาสตร์ ให้การดูแลอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันพักอยู่หอผู้ป่วยพิเศษ 5 โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่  

เนื่องในโอกาสครบรอบ 50ปี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางมูลนิธิโรงพยาบาลสวนดอก ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้มีการจัดรายการถ่ายทอดสดทางโมเดริ์นไนท์ทีวี เนื่องในวันมหิดล เพื่อหารายได้สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง และอุปกรณ์ในการปลูกถ่ายอวัยวะ ให้กับโรงพยาบาลสวนดอก ในวันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ.2552   ขอเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งและการปลูกถ่ายอวัยวะ เพื่อร่วมทำบุญกุศล

 

 

ข้อมูลสื่อ

363-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 363
กรกฎาคม 2552
อื่น ๆ