• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รองเท้านารีคางกบคอแดง : ดาวเด่นรองเท้านารีของไทย

                                                   

รองเท้านารีเป็นชื่อกล้วยไม้ ที่มีลักษณะดอกต่างจากกล้วยไม้อื่นๆ โดยนำลักษณะของปากหรือกระเป๋าที่มีรูปร่างคล้ายหัวรองเท้าแตะของผู้หญิงมาตั้งเป็นชื่อในภาษาอังกฤษว่า Lady's Slipper แล้วแปลเป็นภาษาไทยว่ารองเท้านารี

ทั่วโลกพบกล้วยไม้รองเท้านารีแล้ว 5 สกุล (genus) รวม 137 ชนิด (species) ในประเทศไทย พบเพียงสกุลเดียวคือสกุล Paphiopedilum รวม 17ชนิด (จากทั้งหมด 66 ชนิดทั่วโลก)

รองเท้านารี เป็นกล้วยไม้ประเภทแตกกอเช่นเดียวกับหวายและคัทลียา ลำต้นแท้จริงเรียกว่าเหง้า และมีต้นย่อย แตกหน่อมาจากลำต้นแท้อีกหลายต้น ลำต้นย่อยสั้นมาก และไม่มีลำลูกกล้วย จึงมองเห็นส่วนใบขึ้นเหนือพื้น

ดอกออกบริเวณยอด มีทั้งชนิดดอกเดี่ยว และดอกเป็นช่อ จุดเด่นของดอกอยู่ที่กลีบดอกชั้นนอก กลีบบนมีขนาดใหญ่สะดุดตา และกลีบในกลีบที่สามเปลี่ยนรูปร่างเป็น กะเปาะ รูปคล้ายรองเท้านารี ซึ่งเป็นที่มาของชื่อรองเท้านารีนั่นเอง

ช่วงปี พ.ศ.2488 มีการเก็บรองเท้านารีคางกบจากป่าประเทศไทยส่งออกไปประเทศยุโรปตะวันตก ปีละหลายแสนต้น ส่วนมากส่งไปที่ประเทศ เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี เพราะรองเท้านารีคางกบมีราคาสูงกว่ากล้วยไม้รองเท้านารีชนิดอื่น

ในบรรดากล้วยไม้รองเท้านารีคางกบของไทย รองเท้านารีคางกบคอแดงนับเป็นดาวเด่นที่สุด ชื่อของรองเท้านารีชนิดนี้มาจากสีแดงอมม่วงที่บริเวณโคนต้น หรือคอดินจึงได้ชื่อว่าคอแดง นอกจากนั้น รูปทรงของดอกก็แปลกและสวยงามมาก ถือเป็นกล้วยไม้รองเท้านารีที่หายาก  เพราะพบตามธรรมชาติอยู่ในเขตจังหวัดจันทบุรี ระยองและตราดเท่านั้น นอกจากนี้ก็พบเฉพาะในประเทศกัมพูชา

รองเท้านารีคางกบคอแดงมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Paphiopedilum appletonianum (Gower) Rolfe ชื่อวงศ์ Orchidaceae ชื่อสามัญ Paphiopedilum

ลักษณะของใบมีลายคล้ายหินอ่อน ดอกเดียว สีแดงอมชมพู โคนกลีบเขียว ใบประดับดอกรูปหอก ดอกกว้าง 6 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงบนรูปไข่กลับแกมรูปขอบขนาน กลีบเลี้ยงคู่ข้างเชื่อมกัน กลีบดอกรูปแถบแกมรูปไข่กลับ ปลายกลีบบางครั้งมีแฉกขนาดเล็กสองแฉก กลีบขนานกับพื้น กลีบปากเป็นถุงลึก ขอบกลีบด้านบนเรียบไม่ม้วนเข้า

ช่วงเวลาออกดอกตามธรรมชาติคือช่วงเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม แต่มีรายงานว่าบางสายพันธุ์สามารถออกดอกได้ตลอดปี

ขอขอบคุณภาพจากหนังสือ "ร้อยพรรณพฤกษา"

ข้อมูลสื่อ

366-022
นิตยสารหมอชาวบ้าน 366
ตุลาคม 2552
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร