• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฉลากอาหาร-โภชนาการ รู้จัก เข้าใจ กินปลอดภัย

ฉลากบนภาชนะบรรจุของผลิตภัณฑ์อาหารนั้นมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวผลิตภัณฑ์อาหาร เนื่องจากฉลากเปรียบเสมือนหน้าต่างของผลิตภัณฑ์ที่ทำให้สามารถมองเห็นผลิตภัณฑ์ภายในภาชนะบรรจุ ฉลากยังเป็นประโยชน์กับทุกองค์ประกอบในห่วงโซ่การผลิตอาหาร กล่าวคือ ผู้ผลิตอาหารใช้ฉลากเป็นเครื่องมือในการสื่อสารข้อมูลและโฆษณาผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภค และยังเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์และการแข่งขันทางการค้า หน่วยงานภาครัฐและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการคุ้มครองผู้บริโภคใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามและตรวจสอบคุณภาพอาหาร และการให้ข้อมูลความรู้ที่มีประโยชน์แก่ประชาชน


ผู้บริโภคสามารถใช้ฉลากเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ฉลากบนภาชนะบรรจุของผลิตภัณฑ์อาหารนั้น แบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ฉลากอาหาร และฉลากโภชนาการ ซึ่งมีการแสดงข้อมูลที่แตกต่างกันไป

 

ฉลากอาหาร
ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 194 เรื่องฉลากอาหาร พ.ศ.2543 ให้คำนิยามของฉลากอาหาร รูป รอยประดิษฐ์ เครื่องหมาย หรือข้อความใดๆ ที่แสดงไว้ที่อาหาร ภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อของภาชนะที่บรรจุอาหาร (รวมถึงแผ่นพับและฉลากคอขวด) โดยกำหนดให้อาหารทุกชนิดที่ผู้ผลิตไม่ได้เป็นผู้ขายอาหารนั้นให้กับผู้บริโภคโดยตรงต้องแสดงฉลากบนภาชนะบรรจุ ข้อมูลที่แสดงบนฉลากอาหารนั้นสามารถจำแนกตามวัตถุประสงค์ได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

ข้อมูลความปลอดภัย ประกอบด้วย วันที่ผลิต/หมดอายุ วิธีการเก็บรักษา วิธีปรุง คำเตือนต่างๆ (กรณีที่กฎหมายกำหนด)

ข้อมูลความคุ้มค่า ประกอบด้วย ชื่อ/ประเภทของอาหาร ส่วนประกอบซึ่งเรียงลำดับตามปริมาณที่ใช้จากมากไปน้อย และปริมาณอาหาร (น้ำหนัก หรือปริมาตร) ในภาชนะบรรจุ

ข้อมูลเพื่อการโฆษณา ได้แก่ รูปภาพและข้อความกล่าวอ้างต่างๆ

ข้อมูลเพื่อแสดงความเชื่อมั่น ได้แก่ ยี่ห้ออาหาร ชื่อและที่อยู่ของผู้ผลิต ผู้จำหน่ายหรือผู้นำเข้า เครื่องหมาย อย. (กรณีที่กฎหมายกำหนด) และตราสัญลักษณ์ต่างๆ

ทั้งนี้ข้อมูลสำคัญบนฉลากอาหารที่ผู้บริโภคควรให้ความสนใจในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารให้ปลอดภัย คือวันที่ผลิต/หมดอายุ และเครื่องหมาย อย. ซึ่งประกอบด้วยเลข อย. หรือเลขสารบบอาหาร ที่เปรียบเสมือนลายนิ้วมือของผลิตภัณฑ์อาหาร เลขสารบบอาหารประกอบด้วยตัวเลข 13 หลัก แบ่งเป็น 5 กลุ่ม โดยเลข 8 หลักแรกแสดงถึงข้อมูลของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าอาหาร เช่น จังหวัด ที่ตั้ง สถานะ และเลข 5 หลักหลังแสดงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ เช่นหน่วยงานที่เป็นผู้ออกเลขสารบบให้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ

 

ฉลากโภชนาการ
ฉลากโภชนาการ คือฉลากอาหารที่มีการแสดงข้อมูลคุณค่าทางโภชนาการของผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ โดยระบุชนิดและปริมาณสารอาหารในกรอบข้อมูลโภชนาการตามรูปแบบเงื่อนไขที่กำหนด โดยอาจมีข้อความกล่าวอ้างทางโภชนาการ เช่น แคลเซียมสูง เสริมวิตามินซี ด้วยหรือไม่ก็ได้ ข้อมูลที่ต้องระบุในกรอบข้อมูลโภชนาการแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่

หน่วยบริโภค ซึ่งหมายถึงปริมาณของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ที่ผู้ผลิตแนะนำให้บริโภคในแต่ละครั้ง และจำนวนหน่วยบริโภคในภาชนะบรรจุนั้น เช่น จำนวนหน่วยบริโภคต่อซอง

ชนิดและปริมาณสารอาหารที่ได้รับจากการกินในปริมาณหนึ่งหน่วยบริโภคและเปรียบเทียบเป็นอัตราส่วนร้อยละของปริมาณที่แนะนำต่อวัน ทั้งนี้สารอาหารที่กำหนดให้แสดงข้อมูลเป็นสารอาหารที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของคนไทย  ได้แก่

- พลังงาน ทั้งปริมาณพลังงานทั้งหมดและปริมาณพลังงานที่ได้จากไขมัน

- ปริมาณสารอาหารที่ร่างกายต้องการในปริมาณมาก ได้แก่ คาร์โบไฮเดรต ไขมันทั้งหมด และโปรตีน รวมถึงใยอาหาร

- ปริมาณวิตามินและแร่ธาตุ โดยเฉพาะ วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 แคลเซียม และเหล็กฃ

- สารอาหารที่ต้องระวังปริมาณการบริโภค ได้แก่ คอเลสเตอรอล โซเดียม ไขมันอิ่มตัว และน้ำตาล

- สารอาหารที่มีการเติมลงในอาหาร เช่น ไอโอดีน สำหรับผลิตภัณฑ์เสริมไอโอดีน

- สารอาหารที่มีการกล่าวอ้าง เช่น ใยอาหาร สำหรับอาหารที่ระบุว่ามีใยอาหารสูง


ปริมาณสารอาหารต่างๆ ที่แนะนำให้บริโภคต่อวันสำหรับคนไทย
ทั้งนี้ฉลากโภชนาการ แบ่งเป็น 2 ประเภทตามรูปแบบและสารอาหารที่ระบุในกรอบข้อมูลโภชนาการ คือ
- ฉลากโภชนาการแบบเต็ม ซึ่งบังคับให้แสดงข้อมูลครบถ้วนทั้ง 3 กลุ่ม โดยระบุสารอาหารในกรอบข้อมูลโภชนาการทั้งหมด จำนวน 15 ชนิด

- ฉลากโภชนาการแบบย่อ ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลเพียง 2 ส่วนแรก โดยระบุสารอาหารเพียง 6 ชนิดในกรอบข้อมูลโภชนาการ ได้แก่ พลังงานทั้งหมด ไขมันทั้งหมด โปรตีน คาร์โบไฮเดรต น้ำตาล และโซเดียม


ปัจจุบันมีการบังคับให้มีการแสดงฉลากโภชนาการเฉพาะกับผลิตภัณฑ์อาหารบางชนิดเท่านั้น ได้แก่
- อาหารที่มีการกล่าวอ้างคุณค่าทางโภชนาการ

- อาหารที่มีการใช้คุณค่าทางโภชนาการในการส่งเสริมการขาย ทั้งนี้จะต้องไม่ระบุในเชิงสรรพคุณในการรักษาโรค

- อาหารที่ระบุกลุ่มผู้บริโภคในการส่งเสริมการขาย

- อาหารควบคุมเฉพาะและอาหารกำหนดคุณภาพมาตรฐานซึ่งต้องยื่นขออนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

ทั้งนี้ประโยชน์ของการแสดงฉลากโภชนาการคือ เป็นการให้ข้อมูลความรู้ทางโภชนาการแก่ผู้บริโภคในการเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจเลือกซื้อและบริโภคอาหารตามความเหมาะสมกับสภาพร่างกายและสุขภาพ นอกจากนี้ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการกล่าวอ้างปริมาณสารอาหารในผลิตภัณฑ์ด้วย  โดยผู้ที่มีปัญหาสุขภาพและผู้ป่วยที่ต้องควบคุมการบริโภคอาหาร ควรให้ความสนใจกับข้อมูลโภชนาการของสารอาหารที่ต้องระมัดระวังในการเลือกซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น ปริมาณไขมันทั้งหมด ไขมันอิ่มตัว และคอเลสเตอรอลสำหรับผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง ปริมาณโซเดียมสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง และปริมาณน้ำตาลสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น  นอกจากนี้ผู้บริโภคยังสามารถใช้ประโยชน์จากฉลากโภชนาการในการประมาณปริมาณ ความเพียงพอและความเหมาะสมของสารอาหารที่ได้รับจากการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ ด้วย

ทั้งนี้ในการบริโภคอาหารให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกายนั้น ต้องได้รับสารอาหารครบถ้วนในปริมาณที่พอเหมาะ กล่าวคือพลังงานทั้งหมดไม่เกิน 2,000 กิโลแคลอรี/วัน สำหรับผู้ที่มีอายุ 6 ขวบขึ้นไป ไม่เกิน 1,600 และ 2,400 กิโลแคลอรีต่อวัน สำหรับเด็กและผู้สูงอายุ และผู้ที่มีกิจกรรมทางกายมาก ตามลำดับ โดยมีความต้องการสารอาหารต่างๆ ในแต่ละวันดังนี้ (อ้างอิงจากความต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี)

   คาร์โบไฮเดรต 300 กรัมต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 55-65 ของปริมาณพลังงานทั้งหมด
   ไขมัน 65 กรัมต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 20-30 ของปริมาณพลังงานทั้งหมด
   ไขมันอิ่มตัว 20 กรัมต่อวัน
   โปรตีน 50 กรัมต่อวัน หรือคิดเป็นร้อยละ 15 ของปริมาณพลังงานทั้งหมด
   คอเลสเตอรอล ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน
   น้ำตาลไม่เกิน 300 กรัมต่อวัน
   โซเดียมไม่เกิน 2,400 กรัมต่อวัน
   แคลเซียม 800 มิลลิกรัม
   เหล็ก 15 มิลลิกรัม
   วิตามินเอ 800 ไมโครกรัมอาร์อี
   วิตามินบี 1.5  มิลลิกรัม
   ไอโอดีน 150  ไมโครกรัม
นอกจากฉลากแล้ว การเลือกซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารให้ปลอดภัยและได้คุณค่าทางโภชนาการ ยังต้องพิจารณาลักษณะอาหาร เช่น สี และร่องรอยการเสียจากจุลินทรีย์ สภาพภาชนะบรรจุซึ่งต้องมีสภาพสมบูรณ์ ไม่มีรอยฉีกขาด รั่วซึม บุบ บวม หรือบู้บี้ รวมถึงสภาวะการเก็บรักษาซึ่งต้องมีความเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์


จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่าฉลากอาหารและฉลากโภชนาการมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคในการเลือกซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัยและให้คุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมกับสภาวะสุขภาพของตนเอง รวมถึงใช้ข้อมูลที่ระบุบนฉลากในการเปรียบเทียบและเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีคุณค่าทางโภชนาการ และความคุ้มค่าที่ดีกว่า  ก่อนซื้ออาหารครั้งต่อไป ใส่ใจฉลากสักนิด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก กองควบคุมอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

 

ข้อมูลสื่อ

366-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 366
ตุลาคม 2552
เรื่องน่ารู้
ดร.นัฐพล ตั้งสุภูมิ