เปรียบเทียบการแพทย์แผนตะวันตก-แผนจีน (12)ปรับสมดุลตามนาฬิกาชีวิต (ตอนที่ 1 )วิธีปฏิบัติตัวไร้โรค 12 คาบเวลา
มนุษย์ทุกคนต้องดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ธรรมชาติ คนจีนตั้งแต่สมัยโบราณได้สืบทอดหลักวิชาการมีอายุยืนยาว เรียกว่า วิธีปฏิบัติตัวไร้โรค 12 คาบเวลา
นาฬิกาชีวิตกับการดูแลสุขภาพ
การดำเนินชีวิตของมนุษย์ล้วนอยู่ภายใต้การกำกับควบคุมของนาฬิกาชีวิต การทำงานของอวัยวะต่างๆ และระบบสรีระของร่างกายล้วนถูกกำหนดจากพลังลมปราณหรือสารชีวเคมีในร่างกาย สารชีวเคมีต่างๆ เหล่านี้ถูกหลั่งออกมาตามจังหวะเวลาที่แน่นอนอย่างมีกฎเกณฑ์ จึงเสมือนหนึ่งว่าการเปลี่ยนแปลงของพลังแสงอาทิตย์ในแต่ละวันเป็นตัวกำหนดการเปลี่ยนแปลงของการทำงานของร่างกายสิ่งมีชีวิตในโลกทั้งมวล
ร่างกายมนุษย์มีความซับซ้อนในการควบคุมภาวะสมดุลและการดำเนินไปของระบบสรีระเพื่อมีชีวิตอยู่ เช่น อุณหภูมิของร่างกาย การเกิด-การตายของเซลล์ ระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต การเต้นของหัวใจ การนอนหลับ การย่อยดูดซึมอาหาร การขจัดของเสีย การซ่อมแซมร่างกาย ฯลฯ
ภาวะเหล่านี้มีการปรับตัวและถูกกำหนดการทำงานอย่างมีกฎเกณฑ์ตามจังหวะนาฬิกาชีวิต พลังแห่งดวงอาทิตย์มีผลต่อพลังเส้นปราณต่างๆ ในร่างกาย ถ้าคนเราไม่เรียนรู้และเข้าใจแล้วดำเนินชีวิตที่ไม่สอดรับกับจังหวะของพลังธรรมชาติ ระบบการทำงานของร่ายกายก็จะแปรปรวน ทำให้การปรับตัวในการสร้างสมดุลเสียหาย การหลั่งฮอร์โมนสับสน ภูมิคุ้มกันตกต่ำ สุขภาพเสื่อมทรุด แก่เร็วและเกิดโรคภัยไข้เจ็บง่าย
การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างเวลากับภาวะของร่างกายสิ่งมีชีวิตตามแพทย์ปัจจุบัน
มีการศึกษาวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวกับเวลาและพฤติกรรมรวมถึงภาวะทางสรีระของร่างกาย ตัวอย่างนาฬิกาชีวิตกับกฎเกณฑ์ของชีวิต เช่น
- อุณหภูมิต่ำสุดของร่างกาย อยู่ที่เวลา 04.00 น.
- อุณหภูมิสูงสุดของร่างกาย อยู่ที่เวลา 18.00 น.
- นกทีน่ากัวเตมาลา ในทวีปอเมริกาใต้ ร้องทุกครึ่งชั่วโมง
- หนอนในแอฟริกา เปลี่ยนสีทุก 1 ชั่วโมง
- ต้นไม้ใบใหญ่ชนิดหนึ่งในแอฟริกาใต้ จะเคลื่อนไหวทุก 2 ชั่วโมง
- ต้นไม้ป่าชนิดหนึ่งในอาร์เจนตินา จะบานในช่วงกลางคืน 20.00 น.
- ระยะรอบของการเปลี่ยนแปลงความแข็งแรงของร่างกายประมาณ 23 วัน
- ระยะรอบของการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ประมาณ 28 วัน
- ระยะรอบของการเปลี่ยนแปลงระดับสติปัญญาประมาณ 33 วัน
ตำแหน่งนาฬิกาชีวิตอยู่ที่ไหน พบว่าสัมพันธ์กับการรับแสงสว่าง-ความมืด จากสิ่งแวดล้อมเป็นจังหวะเดียวกัน น่าจะอยู่ที่ส่วนหน้าของไฮโพทาลามัส หรือต่อมไพเนียลซึ่งสัมพันธ์กับการหลั่งสารเมลาโทนิน
ข้อมูลสารสนเทศของจักรวาล เป็นตัวกำหนดกฎเกณฑ์การเคลื่อนไหวของชีวิต เช่น การเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็ก สนามไฟฟ้า แรงโน้มถ่วง รังสี และแสงการเคลื่อนไหวของดาวนพเคราะห์ แรงดึงดูดของดวงจันทร์และโลก
การเปลี่ยนแปลงทางสรีระกับนาฬิกาชีวิต
01.00 น. - ร่างกายเข้าสู่ระยะการหลับตื้น (มีการฝัน) ตื่นง่าย ฝัน มีความไวต่อการเจ็บปวด โรคมักจะกำเริบรุนแรง
02.00 น. - ตับทำงาน เป็นช่วงที่ร่างกายสงบที่สุด มีการขจัดของเสียออกจากร่างกาย ระบบต่างๆ ของร่างกายอยู่ในสภาพทำงานช้า หรือเข้าสู่สภาวะพัก
03.00 น. - ร่างกายทั้งหมดอยู่ในสภาวะพัก กล้ามเนื้อทั้งร่างกายผ่อนคลาย ความดันโลหิตต่ำ การเต้นของหัวใจและการหายใจช้าลง
04.00 น. - ความดันโลหิตยิ่งต่ำลง เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง การไหลเวียนเลือดไปยังกล้ามเนื้อต่างๆ น้อยที่สุด การหายใจอ่อน เป็นช่วงที่คนตายง่ายที่สุด การทำงานของอวัยวะต่างๆ ยังแผ่วช้า แต่ประสาทหูเกี่ยวกับการได้ยินไว ถูกกระตุ้นได้ง่าย ได้ยินเสียงอาจตกใจตื่น
05.00 น. - การหลั่งฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตน้อย แต่ร่างกายได้ผ่านการพักผ่อนหลับนอนมาแล้ว 3-4 ชั่วโมง (ช่วงนอนหลับมีฝันกับไม่ฝัน) ในช่วงเวลานี้ถือว่าร่างกายมีภาวะที่ได้เติมเต็มชีวิตชีวาเพียงพอแล้ว
06.00 น. - ความดันโลหิตเริ่มสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเครื่องยนต์ของร่างกายถูกปลุกให้ตื่น ได้เวลาทำงาน การนอนหลับมักไม่สนิท เป็นช่วงเวลาที่มีความจำดีที่สุดระยะที่ 1
07.00 น. - ต่อมหมวกไตหลั่งฮอร์โมนมากขึ้น ทำให้ความดันโลหิต อุณหภูมิร่างกาย การเต้นของหัวใจ และภูมิคุ้มกันของร่างกายสูงขึ้นด้วย
08.00 น. - ภาวะร่างกายเข้าสู่ระบบถูกกระตุ้น การขับของเสียต่างๆ ของตับสู่ภายนอกสิ้นสุด ความจำของสมองดีมากเป็นระยะที่ 2
09.00 น. - ระบบประสาทถูกกระตุ้นมากขึ้น ความจำในช่วงนี้ดี ความรุนแรงของโรคลดลง การตอบสนองต่อการเจ็บปวดต่างๆ น้อยลงมาก การทำงาน ของหัวใจมีกำลังมาก ร่างกายแข็งแกร่ง
10.00 น. - ระดับการกระตุ้นยังสูงต่อเนื่องไปถึงเที่ยงวัน เป็นช่วงที่ร่างกายแข็งแกร่งที่สุด ความเจ็บปวดต่างๆ ของร่างกายลดลงมาก การทำงานช่วงนี้มีประสิทธิภาพสูงไม่ควรปล่อยเวลาการทำงานให้ผ่านไป
11.00 น. - การทำงานของหัวใจยังคงมีจังหวะถูกกระตุ้นต่อเนื่อง ร่างกายยังคงไม่อ่อนล้า การทำงานยังคงดำเนินต่อไปได้
12.00 น. - พลังร่างกายทั้งหมดทั้งร่างกายได้รับการกระตุ้นขึ้นมา ร่างกายต้องการอาหารกลางวัน ช่วงเวลานี้ร่างกายไวต่อการกระตุ้นของสุรา ถ้าดื่มสุราช่วงอาหารกลางวัน จะมีผลกระทบอย่างมากในช่วง
ตอนบ่าย
13.00 น. - หลังอาหารเที่ยง ร่างกายจะอ่อนเพลีย ช่วงเวลากลางวันที่เป็นภาวะกระตุ้นได้ผ่านไปแล้ว ร่างกายอยากพักผ่อน ควรงีบหลับครึ่งถึง 1 ชั่วโมง
14.00 น. - เป็นช่วงเวลาครั้งที่ 2 ในรอบ 24 ชั่วโมง ที่พลังร่างกายและสมองอยู่ในช่วงอ่อนล้า การตอบสนองของร่างกายและสมองช้าลง
15.00 น. - ร่างกายเริ่มมีการปรับตัว เข้ารูปเข้ารอย อวัยวะรับความรู้สึกเริ่มไวต่อการตอบสนอง กำลังร่างกายเริ่มฟื้นฟูในช่วงสั้นๆ ไม่กี่ชั่วโมง
16.00 น. - ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น แต่จะลดลงในเวลาอันรวดเร็วคล้ายกับภาวะเบาหวานหลังกินอาหาร
17.00 น. - ประสิทธิภาพการทำงานยิ่งสูงขึ้น ความรู้สึกในการดมกลิ่นรับรสไวมากเป็นช่วงที่ 2 ของความรู้สึกในการฟังเสียงดี ควรออกกำลังกายบริหารในช่วงนี้จะได้ผลดีกว่าช่วงเช้า
18.00 น. - พลังในการทำงานและความทนต่อการทำงานถึงจุดสูงสุด บางคนรู้สึกอยากออกกำลังกาย ช่วงนี้เวลาความรู้สึกต่อการเจ็บปวดลดลง นักกีฬาควรออกกำลังกายและฝึกฝนร่างกาย
19.00 น. - ความดันโลหิตสูง ภาวะทางจิตใจไม่คงที่ ตกต่ำถึงขีดสุด หงุดหงิดง่าย มีอารมณ์ชวนทะเลาะ
20.00 น. - อาหารที่กินระหว่างวันถูกเก็บสะสม น้ำหนักตัวหนักสุด การตอบสนองรวดเร็ว ว่องไว การขับรถขับรามักไม่ค่อยมีอุบัติเหตุ
21.00 น. - ความจำดีเยี่ยม เป็นช่วงที่ความจำของร่างกายดีที่สุด จนถึงเวลาใกล้เข้าหลับนอน
22.00 น. - อุณหภูมิร่างกายลดลง มีความรู้สึกง่วงนอน ภูมิคุ้มกันของร่างกายสูง การไหลเวียนเลือดสู่เม็ดเลือดขาวมาก การหายใจ การเต้นของหัวใจช้าลงฮอร์โมนเกี่ยวกับการกระตุ้นลดต่ำ การทำงานของร่างกายมีแนวโน้มต่ำลง
23.00 น. - ร่างกายเตรียมตัวพักผ่อน เซลล์ต่างๆ ของร่างกายเริ่มซ่อมแซมฟื้นฟูตัวเอง
24.00 น. - ร่างกายเริ่มภารกิจที่หนักอึ้ง ทำการขจัดเซลล์ที่ตาย และสร้างเซลล์ที่ใหม่ขึ้นมา
- อ่าน 12,242 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้