ขึ้นชื่อว่า "ว่าน" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้นิยามไว้ว่า "ว่าน คือพืชที่มีหัวบ้าง ที่ไม่มีหัวบ้าง ใช้เป็นยาบ้าง ใช้อยู่ยงคงกระพันบ้าง"
ว่านส่วนใหญ่มักเป็นพืชมีหัว แต่ที่น่าสนใจตรงที่ว่านนั้นอาจใช้ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาโรคแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะมีลักษณะพิเศษที่นอกเหนือจากการใช้เป็นยารักษาโรค เช่น มีไว้เพื่อให้อยู่ยงคงกระพัน
สำหรับว่านที่จะกล่าวถึงฉบับนี้เป็นว่านที่ได้ชื่อว่าเข้ายาทำเสน่ห์ แนะนำให้หามาปลูกที่บ้าน เพราะเชื่อกันว่าเป็นการเสริมเสน่ห์ให้กับผู้ปลูก ให้คนรักคนหลง ปลูกไว้เพื่อเป็นสิริมงคล และเป็นเมตตามหานิยมให้แก่สถานที่ปลูก นอกจากนั้น ยังเชื่อว่า "มหาหงส์" เป็นว่านที่ให้ลาภแก่ผู้ปลูก อีกทั้งถ้านำหัวพกพาติดตัวไปจะยิ่งเพิ่มเสน่ห์มหานิยม
ถ้านำส่วนเหง้าหรือหัวใต้ดินมาบดเป็นผงคลุกกับน้ำผึ้งปั้นเป็นลูกกลอนกินเช้าและเย็น (ก่อนอาหาร) สามารถแก้กษัย ไตพิการ บำรุงกำลัง และเป็นยาอายุวัฒนะ
ถ้านำเหง้ามาต้ม สามารถใช้เป็นยาแก้ต่อมทอนซิลอักเสบ อีกทั้งน้ำคั้นจากหัวใต้ดินใช้รักษาแผลฟกช้ำได้
ว่านมหาหงส์มีหลายชื่อ เป็นพืชวงศ์เดียวกับขิง Zingiberaceae มีชื่อสามัญภาษาอังกฤษว่า butterfly lilly หรือ white ginger
ทางภาคอีสานเรียก ว่านกระชายเห็น สะเลเต
ส่วนทางภาคเหนือเรียก ตาห่าน
ชื่อวิทยาศาสตร์ของว่านมหาหงส์คือ Hedychium coronarium J.Konig
ว่านมหาหงส์เป็นไม้ล้มลุก ขยายพันธุ์ได้ง่ายโดยการแยกเหง้าไปปลูก ออกดอกได้ตลอดปี ดอกหอมมากโดยเฉพาะช่วงเช้า และช่วงเย็นถึงมืด
แน่นอนว่าการปลูกว่านมหาหงส์ให้เป็นไม้ประดับก็น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่งเพราะดอกนั้นมีกลิ่นหอมมาก ทนต่อแมลงต่างๆ การออกดอกจะทยอยบานและอยู่ทนหลายวัน ถ้าปลูกบริเวณโคนต้นไม้ใหญ่ก็จะเหมาะอย่างยิ่ง ว่านมหาหงส์สามารถปลูกในที่ร่ม แดดไม่จัดมากนัก ชอบที่ชื้นแฉะ ถ้าปลูกในกระถางไม่ควรปล่อยทิ้งให้แห้ง
ปกติจะมีดอกกลีบสีขาว สีดอกจะตัดกับสีเขียวเข้มของต้นและใบอย่างสวยงามมาก ปัจจุบันพบว่ามีผู้นำพันธุ์มหาหงส์มาปลูกกันหลากหลายชนิด จึงมีทั้งชนิดกลีบดอกสีขาว กลีบดอกสีขาวตรงกลางเหลือง กลีบดอกสีเหลืองทองทั้งดอก กลีบดอกสีขาวตรงกลางแดง กลีบดอกสีแดงอมชมพู จนกระทั่งสีแดงเข้มไปทั้งดอก มีทั้งดอกเล็กและดอกใหญ่
ด้วยความหอมของดอกว่านมหาหงส์ วงการสปาทั้งในและต่างประเทศจึงใช้มหาหงส์ผสมครีม โลชัน สบู่ โคลนหมักตัว จึงนับว่าเป็นว่านที่มีประโยชน์มากมายจริงๆ
ขอขอบคุณภาพจาก โรงเรียนอุดมศึกษา คลองหก ปทุมธานี
เอกสารอ้างอิง
1. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2552. นานมีบุ๊คส์พับลิเคชั่น 2546. 1,488 หน้า
- อ่าน 17,945 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้