มะระขี้นกเป็นผักพื้นบ้านที่มีอยู่ทั่วไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย จัดเป็นพันธุ์หนึ่งของมะระจีน
¾ชื่อวิทยาศาสตร์ Momordica charantin Linn
¾วงศ์ Cucurbitaceae
¾ชื่ออังกฤษ Balsam apple, Balsam pear, Bitter cucumber, Bitter gourd, Bitter melon, Carilla fruit
¾ชื่ออื่นๆ ผักไห่ มะไห่ มะนอย มะห่วย ผักไซ (เหนือ) สุพะซู สุพะเด (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) มะร้อยรู มะระหนู (กลาง) ผักเหย (สงขลา) ผักไห (นครศรีธรรมราช) ระ (ใต้) ผักสะไล ผักไส่ ผักไซร้ (อีสาน) โกควยเกี๋ยะ โควกวย (จีน) มะระเล็ก มะระขี้นก (ทั่วไป) ชาวปานามาเรียก บัลซามิโน่
มะระขี้นกมีถิ่นกำเนิดอยู่ในเขตร้อนของเอเชียและทางตอนเหนือของแอฟริกาเขตร้อน
¾ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ลำต้นเป็นเถาเลื้อยมีสีเขียวขนาดเล็กมี 5 เหลี่ยม มีขนอยู่ทั่วไป มีมือเกาะซึ่งเปลี่ยนมาจากใบเจริญออกมาจากส่วนของข้อ ใช้สำหรับยึดจับ
ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน ก้านใบยาว ขอบใบเว้าหยักลึกเข้าไปในตัวใบ 5-7 หยัก ปลายใบแหลม ใบกว้าง 4.5-11.5 เซนติเมตร ยาว 3.5-10 เซนติเมตร เส้นใบแยกออกจากจุดเดียวกันแล้วแตกเป็นร่างแห มีขนอ่อนนุ่มปกคลุมเล็กน้อย เมื่อแก่จัดจะมีสีเขียวเข้ม
ดอกเป็นดอกเดี่ยวแยกเพศอยู่ในต้นเดียวกัน เจริญมาจากข้อ เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5-3.5 เซนติเมตร มีกลีบนอก 5กลีบ สีเขียวปนเหลือง กลีบในมี 5 กลีบ สีเหลืองสด ดอกตัวผู้เจริญออกมาก่อนดอกตัวเมีย เกสรตัวผู้มี 3 อัน แต่ละอันมีก้านชูเกสรตัวผู้ 3 อัน และมีอับเรณู 3 อัน ดอกตัวเมียมีรังไข่แบบหลบใน (inferior ovary) มีรังไข่ 1 อัน stigma 3 คู่ ก้านชูเกสรตัวเมีย 3 อัน
ผลรูปร่างคล้ายกระสวยสั้นๆ ผิวเปลือกขรุขระและมีปุ่มยื่นออกมา ผลยาว 5-7 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางผล 2-4 เซนติเมตร ผลอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีเหลืองอมแดง ปลายผลจะแตกเป็น 3 แฉก
เมล็ดมีรูปร่างกลม รี แบน ปลายแหลมสีฟางข้าว เมื่อแก่เต็มที่มีเมือกสีแดงสดห่อหุ้มเมล็ดอยู่
เนื่องจากพืชชนิดนี้เป็นผักพื้นบ้านธรรมชาติที่ขึ้นได้ทั่วๆ ไป นกจึงชอบมาจิกกินทั้งผลและเมล็ด จากนั้นก็ถ่ายเมล็ดไว้ตามที่ต่างๆ ถ้าเมล็ดได้ดินดีมีน้ำพอเหมาะก็จะงอก ผลิใบทอดลำต้นเลื้อยไปเกาะตามที่ๆ มันเกาะได้ เช่น ต้นไม้ใหญ่ แนวรั้วบ้าน เหตุนี้เองมะระลูกเล็กลูกนี้จึงถูกเรียกว่า "มะระขี้นก"
¾ขมเป็นอาหาร
มะระขี้นกมีรสขมมากกว่ามะระจีน จึงนิยมกินในหมู่ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ผลอ่อนนำไปต้มหรือเผากินได้ทั้งลูก ผลแก่ต้องนำมาผ่ากลาง คว้านเมล็ดออกเสียก่อน
การลดความขมของมะระขี้นกนั้นทำได้โดยต้มน้ำให้เดือดจัด ใส่เกลือสักหยิบมือ ลวกมะระในน้ำเดือดสักครู่ มะระจะยังคงมีผลสีเขียวสด หรือจะต้มกินกับน้ำพริกก็ได้ บางครั้งราดด้วยกะทิสดเพื่อเพิ่มรสชาติ
การปรุงแกงจืดมะระขี้นกยัดไส้หมูสับ ต้องต้มนานหน่อยให้ความขมจางลง หรือปรุงอาหารเผ็ด เช่น พะแนงมะระขี้นกยัดไส้ หรือเป็นแกงเผ็ดก็ได้ ถ้าจะนำไปปรุงอาหารผัด เช่น ผัดกับไข่ ให้ต้มน้ำแล้วเททิ้งหนึ่งครั้ง หรือคั้นกับน้ำเกลือแล้วล้างออกเพื่อลดความขมก็ได้ อีกทั้งสมัยโบราณมีการนำมะระขี้นกมาปรุงเป็นกับข้าวต้มเค็มกินด้วย
นอกจากใช้ผลเป็นอาหารแล้ว ใบของมะระขี้นกก็นำมาทำอาหารได้ แต่ไม่นิยมกินสดเพราะมีรสขม ยอดมะระลวกเป็นผักจิ้มกินกับน้ำพริก หรือกับปลาป่นของชาวอีสาน ยิ่งเด็ดยิ่งแตกยอดเพิ่มอีก ทางภาคเหนือนิยมนำยอดมะระสดมากินกับลาบ หรือนำไปทำแกงคั่ว แกงเลียง และแกงป่า ได้รสน้ำแกงที่ขมเฉพาะตัว
ทางอีสานนิยมนำใบมะระขี้นกใส่ลงไปในแกงเห็ดแบบพื้นบ้านจะทำให้แกงมีรสขมนิดๆ กลมกล่อมมาก บ้างนิยมนำใบมะระมาต้มหรือลวกจิ้มน้ำพริก
¾ขมเป็นยา : มะระขี้นกในภูมิปัญญาไทยและชนชาติอื่น
น้ำต้มรากมะระขี้นกใช้ดื่มเป็นยาลดไข้ บำรุงธาตุ เป็นยาฝาดสมาน แก้ริดสีดวงทวาร แก้บาดแผลอักเสบ
ใบช่วยเจริญอาหาร ช่วยระบาย
น้ำคั้นใบดื่มเป็นยาทำให้อาเจียน บรรเทาอาการท่อน้ำดีอักเสบ
ดอกชงกินกับน้ำแก้อาการหืดหอบ
ผลกินเป็นยาขม ช่วยเจริญอาหาร บำรุงร่างกาย ขับพยาธิ แก้ตับและม้ามอักเสบ หรือจะคั้นน้ำมะระดื่มสัปดาห์ละไม่เกิน 1 แก้ว เพื่อลดระดับน้ำตาลในเลือด และเป็นยาระบาย
ส่วนเมล็ดใช้เป็นยาขับพยาธิตัวกลม
มะระมีฤทธิ์เย็น จึงมีคำแนะนำว่าไม่ควรกินติดกันเกินไป เว้นระยะกินอาหารผักอย่างอื่นบ้างให้ร่างกายเกิดสมดุล แล้วจึงกลับมากินมะระได้อีก
ชาวโอกินาวาในประเทศญี่ปุ่นกินมะระขี้นกมาก เชื่อกันว่ามะระขี้นกมีส่วนช่วยให้ชาวโอกินาวามีอายุเฉลี่ยยืนยาวกว่าชาวญี่ปุ่นทั่วไป
แพทย์พื้นบ้านในทวีปเอเชียใช้มะระในตำรับยารักษาโรคมานาน ชาวเอเชีย ปานามา และโคลัมเบียใช้ชาใบมะระป้องกันและรักษาโรคมาลาเรีย ฤทธิ์ดังกล่าวได้มีการตรวจสอบแล้วในห้องปฏิบัติการ
มะระมีความขมจึงมีฤทธิ์กระตุ้นการย่อยอาหาร ช่วยบุคคลที่ระบบย่อยอาหารไม่ค่อยทำงาน อาหารไม่ย่อย หรือท้องผูก แต่ก็อาจก่อให้เกิดอาการกรดไหลย้อนหรือแผลในกระเพาะอาหารได้ด้วย
น้ำมันจากมะระขี้นกมีกรดเอลีโอสเตียริก การศึกษาพบว่ากรดดังกล่าวมีฤทธิ์ป้องกันไม่ให้เกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ มีนัยยับยั้งการขยายขนาดของก้อนมะเร็งที่จำเป็นต้องมีหลอดเลือดไปหล่อเลี้ยง
ผลจากห้องปฏิบัติการพบว่าโปรตีนและไกลโคโปรตีนเล็กทินจากมะระขี้นกมีประโยชน์ในการรักษาผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง แต่สารเหล่านี้ดูดซึมผ่านระบบทางเดินอาหารได้น้อยมาก การกินเป็นอาหารจึงไม่สามารถลดปริมาณเชื้อไวรัสในผู้ป่วยได้ คาดว่าได้ประโยชน์ในการสร้างภูมิคุ้มกันมากกว่า โดยทั่วไปมักใช้ผลอ่อนคั้นน้ำดื่มหรือตากแห้งบดเป็นผงใส่แคปซูลกิน การใช้น้ำคั้นจากผลดื่มได้ผลดีพอสมควร แต่การสวนทวารด้วยน้ำคั้นมะระจะได้ผลดีกว่าการดื่ม เพราะสารสำคัญ MAB-30 เป็นสารโปรตีนที่จะถูกทำลายโดยกรดและน้ำย่อยอาหารในกระเพาะอาหารได้ โปรตีนดังกล่าวมีหลักฐานอ้างอิงว่ามีฤทธิ์ต้านมะเร็ง
ชาวปานามาใช้ชาชงใบมะระกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชาวไทยใช้เนื้อมะระขี้นกลดน้ำตาลในเลือด รักษาโรคเบาหวาน โดยหั่นเนื้อมะระตากแห้งชงน้ำดื่ม ถ้าต้องการกลบรสขมให้เติมใบชาลงไปด้วยขณะที่ชง ดื่มต่างน้ำชา
เนื่องจากซีกโลกตะวันตกจัดมะระขี้นกเป็นมะระจีนพันธุ์หนึ่ง ฤทธิ์ของมะระขี้นกถูกรวบรวมไว้ในฤทธิ์ของมะระแต่ไม่สามารถแยกออกมาได้ บทความนี้จึงไม่สามารถอ้างอิงบทความทางการแพทย์จากแหล่งตะวันตกได้
การใช้มะระขี้นกรักษาอาการของโรคใดควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของแพทย์แผนไทยอย่างเคร่งครัด เว้นแต่ถ้าใครจะกินมะระขี้นกเป็นอาหารให้บ่อยขึ้น กรณีดังกล่าวนี้ทำได้ทันทีโดยแวะตลาดสดใกล้บ้านนะคะ
- อ่าน 84,448 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้