• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้อความร่วมมือในระดับนานาชาติเพื่อต่อสู้กับโรคอ้วนและโรคเรื้อรัง

ในการประชุมโภชนาการนานาชาติ ครั้งที่ 19 ณ ศูนย์ประชุมไบเทค บางนา กรุงเทพฯ เมื่อวันอังคารที่ 6  ตุลาคม พ.ศ.2552 ดร.เค ศรีนาท เรดดี้ (Dr.K Srinath Reddy) จากมูลนิธิสาธารณสุขสุขภาพอินเดีย ประเทศอินเดีย ได้บรรยายหัวข้อ "ความร่วมมือในระดับนานาชาติเพื่อต่อสู้กับโรคอ้วนและโรคเรื้อรัง" ว่าการเกิดปัญหาภาวะโภชนาการเกินมีความสัมพันธ์กับเศรษฐฐานะของประชากร ในบางกรณีพบว่าปัญหาเหล่านี้มักเกิดในกลุ่มประชากรหรือกลุ่มประเทศที่มีฐานะดี แต่ปัจจุบันกลับพบว่ากลุ่มประชากรหรือกลุ่มประเทศที่ยากจนได้รับผลร้ายจากโรคอ้วนและโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้นทุกที ส่งผลให้กลุ่มคนดังกล่าวมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น กลายเป็นภาระหนักของกลุ่มประชากรที่ด้อยโอกาสในสังคม

การเปลี่ยนแปลงด้านโภชนาการในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง ส่งผลให้ประชากรมีอายุขัยที่ยืนยาวขึ้น มีการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรมและการขยายตัวของเขตเมืองเพิ่มขึ้น  รวมทั้งโลกาภิวัตน์ สถานการณ์เหล่านี้มีทั้งผลดีและผลเสีย ตัวอย่างเช่น โลกาภิวัตน์ทำให้มีการบริโภคเฟรนช์ฟรายส์และขนมขบเคี้ยวมากขึ้น เนื่องมาจากการตลาดเชิงพาณิชย์ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้การให้ความรู้ด้านโภชนาการในระดับบุคคลมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่นั่นก็ยังไม่เพียงพอ มีความจำเป็นที่จะต้องปรับรูปแบบการตลาดด้วยการให้การศึกษา และการกำหนดนโยบายในระดับชาติ รวมทั้งกำหนดกลยุทธ์ในระดับนานาชาติ


โรคอ้วนมีความคล้ายคลึงกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศอยู่ในหลายๆ ส่วน กล่าวคือทั้ง 2 สิ่งต้องการการใส่ใจอย่างเร่งด่วน และจะสามารถแก้ไขได้ก็ต่อเมื่อมีการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการออกแบบสภาพแวดล้อมในเขตเมือง และการเปลี่ยนแปลงการบริโภคอาหารโดยตั้งใจ ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีความคาบเกี่ยวของ 2 เรื่องนี้ คือการผลิตปศุสัตว์ในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งต้องใช้ทรัพยากรเป็นอย่างมาก และยังก่อให้เกิดของเสียปริมาณมากด้วย ในขณะที่สามารถผลิตอาหารที่มีพลังงานสูง และมีไขมันอิ่มตัวสูงในราคาถูกให้แก่ประชากร  

ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงนโยบายจำเป็นต้องอาศัยการดำเนินการด้วยสหวิชาการ จากโมเลกุลสู่การตลาด จากปัจจัยเสี่ยงสู่สิทธิมนุษยชน จากวิชาการสู่นโยบาย สู่การปฏิบัติ


ดร.ฟิลิป เจมส์ (Dr.Phillip James) คณะทำงานรณรงค์เรื่องโรคอ้วนระดับนานาชาติ สหราชอาณาจักร ได้บรรยายร่วมในหัวข้อเดียวกันต่อจาก ดร.เค ศรีนาท เรดดี้ ว่าองค์การอนามัยโลกได้เสนอแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับโรคเรื้อรัง ที่แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคอาหารและการขาดการออกกำลังกายที่ส่งผลต่อปัญหาเรื่องโรคอ้วนและโรคเบาหวานของโลก การที่การเปลี่ยนแปลงการบริโภคอาหารและการออกกำลังกายมีผลต่อทวีปเอเชียมากกว่าที่พบได้ในทวีปยุโรปหรืออเมริกาเหนือ แสดงให้เห็นชัดเจนว่าปัจจัยทางพันธุกรรมมีผลต่อการเพิ่มของโรคอ้วนและโรคเบาหวาน ในขณะเดียวกันมีหลักฐานที่แสดงว่า ยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อการปรับตัวต่อความต้องการพลังงานที่ลดลงเนื่องจากการทำงานและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป


ในอดีตที่ผ่านมามีการให้ความสำคัญต่อการให้เงินทุนสนับสนุนการเกษตรเพื่อส่งเสริมการผลิตผลิตผลบางชนิด นำไปสู่การผลิตและการบริโภคอาหารที่มีพลังงานสูง ซึ่งขัดกับความจำเป็นต่อวิถีการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน การเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มักขึ้นอยู่กับแรงผลักดันด้านราคา สินค้านั้นมีให้เลือกซื้อหรือไม่ และขึ้นอยู่กับการตลาดมากกว่าความสำคัญทางโภชนาการ เป็นเหตุให้มีขนมขบเคี้ยวอยู่มากมายในโลก


ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับความจำเป็นที่จะต้องอภิปรายกันให้ถ่องแท้เกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเพื่อให้เกิดผลกระทบสูงสุด การให้ความรู้ด้านโภชนาการต่อประชากรเป็นรายบุคคลนั้นไม่เพียงพอ  ตัวอย่างที่เห็นจากกรณีที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือ นโยบาย เช่น การเรียกเก็บภาษีจากการขายเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่มีผลต่อการบริโภค นโยบายของรัฐบาลที่ส่งผลให้สามารถลดจำนวนเด็กขาดสารอาหารได้อย่างมากในประเทศไทย ดังนั้น นโยบายที่สอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและนานาชาติมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการแก้ไขปัญหาโรคอ้วนและโรคเบาหวานของโลก

 

ข้อมูลสื่อ

367-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 367
พฤศจิกายน 2552
กองบรรณาธิการ