• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

"ใคร? ขโมยความจำ...ของฉันไป"

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดงาน "ใคร? ขโมยความจำ...ของฉันไป" กิจกรรมให้ความรู้ประชาชน เนื่องในวันอัลไซเมอร์โลก (World Alzheimer's Day) 21 กันยายน ที่ผ่านมา งานนี้จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของโรคอัลไซเมอร์

ภายในงานมีการเสวนาเรื่อง "โรคสมองเสื่อม" สาธิตการทำอาหารสำหรับผู้ป่วยสูงอายุ การตรวจวัดความดันและมวลกระดูก การตรวจคัดกรองภาวะสมองเสื่อม และการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพและความรู้เรื่องยา รวมถึงกิจกรรมนันทนาการต่างๆ พร้อมทั้งการพูดคุยกับคุณแอน ทองประสม นักแสดงที่มีประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม

นายแพทย์มัยธัช สามเสน ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า "โรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ เป็นโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ผู้ป่วยจะมีความผิดปกติของสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสมองส่วนที่เกี่ยวกับความคิด ความจำ และการใช้ภาษา อาการหลงลืมจากโรคอัลไซเมอร์จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มจากไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดได้ และในที่สุดก็ไม่สามารถจดจำบุคคลใกล้ชิดได้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำรงชีวิต และอาจมีการเปลี่ยนแปลงของบุคลิกภาพ เช่น หงุดหงิดง่าย เฉื่อยชา หรือเฉยเมย เป็นต้น โดยในระยะสุดท้ายของโรคจะสูญเสียความจำทั้งหมด โรคอัลไซเมอร์ไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่สามารถให้ยาช่วย เพื่อชะลอการสูญเสียความจำของผู้ป่วยให้ช้าลง ให้สามารถดูแลตนเองและทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ ได้นานขึ้น แต่ไม่สามารถให้กลับมาจำได้ดีเท่าเดิม การเฝ้าระวังและสังเกตอาการผู้สูงอายุในครอบครัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากสงสัยว่าผู้สูงอายุในครอบครัวมีอาการที่อาจจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ ควรพาไปพบแพทย์ทันที"

การดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใกล้ชิด จึงจำเป็นที่คนในครอบครัวต้องได้รับความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง"

เภสัชกรหญิงศิริลักษณ์ สุธีกุล กล่าวถึงโรคอัลไซเมอร์ว่า เป็นโรคที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางสมองแต่ส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตัวผู้ป่วยเองนั้นส่วนใหญ่ไม่ได้กลัวเรื่องภาวะทางสมอง แต่กลัวจะลืมสิ่งที่รัก กลัวลืมคนที่เขารัก และกลัวจะลืมคนที่รักเขา ส่วนผู้ดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงเกือบทุกคนที่ต้องต่อสู้กับความทุกข์ที่เกิดจาก ความกังวล ความห่วงใย เห็นใจ ความรัก หรือแม้แต่ความโกรธกับภาระที่ตนเผชิญ...

ประสบการณ์เหล่านี้ได้ถ่ายทอดออกมาในแง่มุมต่างๆ ทั้งในแง่ความรัก ความเข้าใจ การดูแลเอาใจใส่ ความผูกพัน ความทรงจำ และการหลงลืม โดยสะท้อนแนวคิดและมุมมองดีๆ ที่เราอาจไม่เคยรู้ หรืออาจมองข้ามไป รวบรวมไว้ในหนังสือ "จะได้ไม่ลืมกัน" โดยผู้ที่ดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์สามารถติดต่อรับหนังสือได้ฟรีที่คลินิกรักษาโรคทางระบบประสาททั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจสามารถร่วมบริจาคสมทบทุนมูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา 100 บาทขึ้นไป ก็จะได้รับหนังสือเล่มนี้ฟรี
 

ข้อมูลสื่อ

367-023
นิตยสารหมอชาวบ้าน 367
พฤศจิกายน 2552
กองบรรณาธิการ