ภาพแสดงผื่นกลีบหุหลาบที่ท้อง
ในฤดูหนาวเช่นนี้อาจพบการระบาดและกำเริบของโรคกลีบกุหลาบ (pityriasis rosea) ได้โรคนี้เป็นโรคผิวหนังที่มีผื่นลักษณะเฉพาะ
เริ่มแรกจะมีผื่นเรียกว่า "ผื่นแจ้งข่าว" ลักษณะเป็นผื่นสีชมพูรูปไข่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-5เซนติเมตร มีขุยเป็นเส้นตามเส้นรอบวง ลักษณะคล้ายผื่นของโรคกลากและโรคสะเก็ดเงิน อีก 1-2 สัปดาห์ต่อมาจะมีผื่นขนาดเล็กลักษณะคล้ายๆ ผื่นแจ้งข่าวกระจายไปทั่วตามแนวลายเส้นของผิวหนัง เป็นอยู่นานราว 2-6 สัปดาห์
พบโรคนี้บ่อยที่สุดในคนกลุ่มอายุค่อนข้างน้อยคือราว 15-40 ปี ในบางรายอาจมีอาการนำมาก่อนผื่นขึ้น ได้แก่ อาการเหนื่อยเมื่อยล้า คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ไข้ ปวดข้อ ต่อมน้ำเหลืองโต และปวดศีรษะ
ที่น่าสนใจคือร้อยละ 75 ของผู้ป่วยโรคกลีบกุหลาบมีอาการคัน ซึ่งร้อยละ 25 อาจคันรุนแรงมากเชื่อว่าเชื้อไวรัส human herpesvirus 6 (HHV-6) และ human herpesvirus 7 (HHV-7) น่าจะเป็นสาเหตุของโรคนี้
พบว่ายาบางตัวทำให้เกิดโรคกลีบกุหลาบได้ เช่น ยาปฏิชีวนะ (metronidazole) ยารักษาสิว (isotretinoin) ยาลดไข้แก้ปวด (aspirin) และยาฆ่าเชื้อรา (terbinafine)
ผู้ป่วยโรคกลีบกุหลาบมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ โรคเซ็บเดิร์ม โรคสิว และรังแค สูงกว่าคนทั่วไป และพบว่ามักมีการกำเริบของผื่นมากขึ้นในคนที่มีความเครียดสูงอีกด้วย
โรคกลีบกุหลาบอาจมีผื่นคล้ายผื่นของโรคซิฟิลิสระยะที่ 2 ที่เรียกว่าระยะเข้าข้อออกดอก แพทย์จึงอาจตรวจเลือดหาซิฟิลิสเพื่อช่วยในการวินิจฉัยแยกโรค โรคนี้จะทุเลาลงไปได้เอง โดยทั่วไปแพทย์จึงรักษาตามอาการ
ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการโดนน้ำ การมีเหงื่อออก และการสัมผัสสบู่ เพราะทำให้ผิวแห้งและระคายเคือง ผื่นจึงมีอาการกำเริบ อาจใช้ยาทาลดอาการคัน ในกรณีที่เป็นมากหรือเป็นทั่วตัวควรพบแพทย์ แพทย์อาจพิจารณาให้สตีรอยด์ในรูปยาทาหรือยากินตามความเหมาะสมในแต่ละรายไป
มีรายงานว่าการฉายรังสียูวีช่วยให้โรคกลีบกุหลาบหายเร็วขึ้น แต่วิธีนี้มีข้อเสียคือมักเกิดผื่นรอยดำหลังการอักเสบตามมา
ผู้ป่วยและผู้ปกครองต้องเข้าใจว่าโรคนี้มักมีการดำเนินโรคอยู่นานยาว 6 สัปดาห์ คือหลังมีผื่นแจ้งข่าวจะมีผื่นขนาดเล็กกว่าตามมา และผื่นเล็กนี้มักขึ้นหมดในช่วง 2 สัปดาห์แรกผื่นเหล่านี้จะคงอยู่นานยาว 2 สัปดาห์ และค่อยๆ จางจนหมดไปในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้าย
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจมีผื่นอยู่นานถึง 3-4 เดือน หรือนานกว่านี้ หากเป็นในเด็กไม่จำเป็นต้องให้หยุดโรงเรียน
- อ่าน 8,374 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้