• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สิทธิชุมชนในการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550(ตอนที่ 2)

"การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ" (HIA) ครอบคลุมการประเมินผลกระทบทั้งด้านดีและด้านเสียของนโยบาย แผนงาน โครงการทุกแง่มุม  การประเมินด้านเสียมีประโยชน์ในการป้องกันผลเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ส่วนการประเมินด้านดีก็จะมีส่วนช่วยพัฒนาสุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น  อนึ่งคำว่า "สุขภาพ" นี้มีความหมายกว้างคือ เป็นภาวะสมบูรณ์ทางกาย จิตใจ ปัญญา และสังคม ที่เชื่อมโยงกันอย่างเป็นองค์รวม (คำนิยามตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ)  จะเห็นได้ว่าการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพจึงมิใช่การปฏิเสธการพัฒนาทางอุตสาหกรรมแต่อย่างใด หากเป็นการให้โอกาสให้มีกระบวนการพิจารณาผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรอบด้าน เพื่อให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจสามารถนำมาใช้เป็นข้อมูลสำคัญในการกำหนดนโยบายของหน่วยงานของรัฐ และการดำเนินโครงการ กิจกรรมของภาคธุรกิจเอกชนที่อาจส่งผลกระทบถึงคนในพื้นที่ 


คุณค่าหรือเป้าหมายของ HIA ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดในการพัฒนาด้านต่างๆ มีดังนี้
1. ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย คือประชาชนจะมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายการพัฒนาและการดำเนินการตามนโยบาย แผนงาน โครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขา 

2. ส่งเสริมความเสมอภาค (equity)  การจัดทำข้อเสนอโครงการหรือแผนงานจะต้องระบุถึงผลกระทบต่อประชากรโดยรวมทุกกลุ่มประชากร ไม่คำนึงว่าจะมีอายุ เพศ วัย เชื้อชาติ สถานะทางสังคม โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มคนที่มักจะถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม คนชายขอบ คนที่ฐานะด้อยทางเศรษฐกิจและสังคม

3. ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) คือจะต้องคำนึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะสั้นและระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบที่เห็นอย่างชัดเจนหรือผลกระทบที่ต้องศึกษาวิเคราะห์ทางวิชาการ

4. สนับสนุนการอ้างข้อเท็จจริงหรือข้อมูลอย่างมีจริยธรรม คือจะต้องใช้ข้อมูลหลักฐานเชิงคุณภาพและข้อมูลเชิงปริมาณที่อ้างถึงได้ในการประเมิน  ข้อมูลที่รวบรวมได้จะต้องมีความหลากหลายและมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด   

ดังนั้นการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ จึงน่าจะเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานหรือผู้มีอำนาจตัดสินใจและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย เป็นหลักประกันสุขภาพประชาชน ในขณะเดียวกันจะช่วยลดผลเสียต่อสุขภาพให้น้อยที่สุด  การประเมินนี้มิได้แยกขาดจากการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมหรือความเสี่ยงอื่นๆ แต่อย่างใด  HIA จึงน่าจะช่วยแก้ไขจุดอ่อน ข้อบกพร่องของการประเมินที่ใช้อยู่ในประเทศไทย เช่น การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือการจัดทำรายงานอีไอเอ (EIA) ซึ่งหลายโครงการถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องความน่าเชื่อถือของกระบวนการจัดทำรายงาน การพิจารณาเห็นชอบ การอ้างข้อมูลหลักฐานทางวิชาการ การตรวจสอบการปฏิบัติตามรายงานอีไอเอของเจ้าของโครงการ     
 

เราทุกคนคงอยากเห็นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไม่ทำร้ายสุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ไม่แสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจนเกินพอดีจนเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม  เราอยากเห็นธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมอย่างแท้จริง ไม่มุ่งหวังแต่ผลกำไรมหาศาล หากจะต้องเคารพสิทธิชุมชน วิถีชีวิตของคนในท้องถิ่น ตลอดจนคุ้มครองสิทธิของบุคคลที่จะมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดจากมลพิษ ถ้าสามารถทำได้ก็คงไม่มีการประท้วงเรียกร้องของชาวบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพในกฎหมายรัฐธรรมนูญ 

 

ข้อมูลสื่อ

369-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 369
มกราคม 2553