• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จิตตปัญญาศึกษาทางรอดออกจากความทุกข์

อารยธรรมตะวันตก อารยธรรมวัตถุไปต่อไม่ได้แล้วโดยไม่เกิดวิกฤติ ไม่มีทางอื่นที่มนุษย์จะรอดจากวิกฤตินอกจากปฏิวัติจิตสำนึก


ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเวศ วะสี ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "ระบบการศึกษาที่แก้ความทุกข์ยากของคนทั้งแผ่นดิน" ในงานประชุมวิชาการประจำปีจิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ 2 เรื่อง "จิตตปัญญา : ทางเลือก หรือทางรอดของสังคม?" จัดโดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 2-4 ธันวาคม
พ.ศ.2552

นายแพทย์ประเวศ กล่าวว่า วิกฤติที่ว่าเกิดขึ้นในทุกมิติ และทุกคนสัมผัสได้ชัดเจน ไม่ว่าโลกร้อน อาชญากรรม ความอดอยากยากจน สงคราม และไม่ว่าจะใช้เทคโนโลยีใหม่ขนาดไหนก็แก้ไม่ทันแล้ว ยกเว้นทางเดียวคือ การสร้างจิตสำนึกใหม่ให้เกิดขึ้น เป็นทางเลือกและทางรอดเดียวที่เหลืออยู่
จิตสำนึกใหม่จะเรียกอย่างไรก็ได้ จะเรียกว่าการรู้แจ้ง การบรรลุธรรม จิตวิวัฒน์ เกิดอิสรภาพ เกิดจิตใจใหม่ เกิดความรักในเพื่อนมนุษย์ทั้งหมด

การเรียนรู้เพื่อให้เกิดจิตสำนึกใหม่ จะเรียกว่าจิตตปัญญาศึกษาก็ได้ หรือใช้ชื่ออื่นก็ได้ ใช้ภาษาอะไรก็ได้ จิตตปัญญาศึกษาคือทางรอดของมนุษย์ ทางอื่นไม่มีทางรอด ถ้ามนุษย์ทั้งโลกเจริญสติ แก้โลกร้อนได้ชะงัดที่สุด เพราะการเจริญสติเป็น Happiness at low cost เป็นความสุขราคาถูกที่เป็นไปได้สำหรับทุกคน และการเจริญสติลดความร้อนได้ทุกทาง ลดตาร้อน หูร้อน โลกร้อน

ปัจจุบัน นักการศึกษาต่างสนใจคำว่า "จิตตปัญญาศึกษา" หรือการศึกษาที่มุ่งสู่การเข้าใจธรรมชาติภายในตัวเองของมนุษย์แต่ละคน จนสามารถเชื่อมโยงเป็นการเข้าใจโลกภายนอกและธรรมชาติตามความเป็นจริง


แล้วจะนำจิตตปัญญาศึกษาไปใช้ได้จริงในงานของตนเองอย่างไร?
วิธีการทำได้ 108 วิธี แต่เราต้องเปิดกว้างที่สุด การศึกษาควรเปิดพื้นที่การเรียนรู้ชัดเจน อย่างเต็มที่ อย่างที่ยุโรปและอเมริกาตอนนี้ ถ้ามหาวิทยาลัยไหนไม่สอนกรรมฐานก็เชยหมด เพราะโลกกำลังจะเปลี่ยน ไม่จำเป็นต้องเรียกว่าจิตตปัญญาศึกษาก็ได้ ไม่ต้องบอกว่าเกิดขึ้นที่มหิดลก็ได้ เราต้องไม่จำกัดให้เกิดความคับแคบ เพื่อให้คนไทยเกิดจิตสำนึกใหม่ เพราะการเรียนรู้ที่ดีคือการเรียนรู้ที่มีอิสรภาพ แต่ระบบการศึกษาทั้งหมดเป็นระบบอำนาจที่ชัดเจน เป็นระบบท็อปดาวน์ ต้องท่องหนังสือตามนี้ ตอบในกระดาษคำตอบแบบนี้ถึงจะได้คะแนน กลายเป็นการปิดจินตนาการ ปิดความคิดริเริ่มอย่างหลากหลาย กลายเป็นบอนไซในกระถาง บอนไซของการเรียนรู้ บอนไซของประเทศไทย


"บอนไซทางการศึกษา" เกิดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ที่มหาอำนาจยุโรปเข้ามาคุกคามประเทศไทย ทำให้เรากลายเป็นบ้านป่าล้าหลัง ขาดความรู้ จึงจำเป็นต้องจัดให้มีการศึกษาขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยต่อท่อความรู้จากยุโรปมาไทย ทำให้ต้องอาศัยตำราจากฝรั่งเป็นสื่อ ผลที่ตามมาก็คือเกิดระบบการศึกษาที่เอาวิชาเป็นตัวตั้ง ต้องท่องตำรา


การปรับระบบการศึกษาจึงต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ ไม่ใช่ปรับหลักสูตรหรือปรับเล็กปรับน้อย แต่ต้องปรับจากการใช้วิชาเป็นตัวตั้ง มาเป็นการใช้ชีวิตและการอยู่ร่วมกันเป็นตัวตั้ง นี้คือทางรอด เป็นการทำให้ การศึกษาคือชีวิต และชีวิตคือการศึกษา เป็นการศึกษาที่เปิดรับคุณค่าของมนุษย์ทุกคน สนใจเรื่องความเป็นธรรม ซึ่งจะช่วยแก้ไขความยากจน เน้นการเรียนรู้ชีวิต เรียนรู้จากการปฏิบัติ เน้นให้การเรียนรู้เป็นความสุข ความสนุก เรียนรู้จากการทำงาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ขาดไม่ได้ ส่วนการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาคือการปฏิรูปองค์กรการศึกษา ไม่ใช่ปฏิรูปการศึกษา


ระบบของการเรียนรู้ว่ามีองค์ 3 ที่เข้ามาประกอบกันเป็นรูปพระเจดีย์ โดยเรียกการเรียนแบบเอาชีวิตและการอยู่ร่วมกันว่าเป็นการเรียนรู้ในฐาน "วัฒนธรรม" ซึ่งถือเป็นฐานล่างสุดของเจดีย์แห่งการเรียนรู้ เพื่อให้ทำเป็น โดยส่วนกลางเจดีย์คือ "กระบวนการทางวิทยาศาสตร์" เพื่อให้คิดเป็น และส่วนยอดสุดของเจดีย์คือ "จิตตปัญญาศึกษา"


ฐานวัฒนธรรมคือการเรียนจากวิถีชีวิต อยู่ร่วม ทำเป็น ไม่ว่าจะเป็นการทำมาหากิน การไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ซึ่งโดยธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ร้อยละ 90-95 เป็นการเรียนรู้เช่นนี้ คือเรียนจากการเห็นผู้อื่นปฏิบัติผ่านเซลล์สมองกระจก เป็นการเรียนรู้โดยอัตโนมัติ เป็นการเรียนรู้ที่ง่าย เราเห็นใครทำอะไรก็ทำเป็นเลย ไม่ต้องไปท่องหนังสือ


มนุษย์เรียนรู้จากการปฏิบัติ เดินได้ กินได้ ก็ไม่ได้ท่องว่าต้องเดินอย่างไร กินอย่างไร
ส่วนการเรียนรู้แบบท่องจำได้ผลเพียงร้อยละ 5เท่านั้น
ส่วนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก็ควรอยู่ในการเรียนรู้ทุกอย่าง คือการมีเหตุผล วิเคราะห์ สังเคราะห์การเรียนรู้ และทั้งหมดก็เป็นไปเพื่อการรู้แจ้ง มีจิตสำนึกใหม่ มีจิตวิวัฒน์ ซึ่งเป็นศักยภาพสูงสุดที่เราทำได้ แต่เราไม่ได้นำศักยภาพนี้มาใช้


อาจารย์ประเวศกล่าวทิ้งท้ายว่า "มนุษย์สัมผัสสิ่งต่างๆ ด้วยความฝังใจ ไม่มีทางสัมผัสสิ่งใดตามความเป็นจริงถ้าไม่เจริญสติ การศึกษาต้องเป็นพลังแก้ความติดขัดตรงนี้ เพื่อจะไปแก้ความยากจน ช่วยให้เกิดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นการศึกษาเพื่อรักษาทุกโรค"

 

ข้อมูลสื่อ

369-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 369
มกราคม 2553
กองบรรณาธิการ