• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา

คนเราเมื่ออยู่ในภาวะคับขัน ย่อมต้องการใครสักคน หรือสิ่งยึดเหนี่ยวเพื่อเป็นที่พึ่ง  คนเจ็บไข้ได้ป่วยที่ต้องมาโรงพยาบาลก็เช่นเดียวกัน ย่อมต้องการที่พึ่งทั้งคน  บรรยากาศและสิ่งแวดล้อมที่เยียวยาทั้งร่างกายและจิตใจ

สิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยา เป็นเรื่องที่โรงพยาบาลที่พัฒนาคุณภาพให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะมีผลต่อความปลอดภัยของคนไข้ ประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล ความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้และผู้ให้การดูแลรักษา เกิดบรรยากาศแห่งความสุขในโรงพยาบาล

 

คนไข้ต้องการญาติอยู่ใกล้ชิด

คนไข้ทุกคนย่อมต้องการญาติ เพื่อนหรือคนที่เขาไว้วางใจอยู่ใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งปกติเป็นคนที่ต้องพึ่งพาคนอื่น

การอนุญาตให้พ่อแม่หรือญาติอยู่กับเด็ก เป็นการเยียวยาเด็กที่สุดวิเศษ ผมเคยมีประสบการณ์เมื่อจบแพทย์ใหม่ๆ เด็กหญิงคนหนึ่งขาหักที่รับไว้ในโรงพยาบาล ร้องแต่คำว่า "หาแม่" ทั้งคืน แม้หมอและพยาบาลจะทำทุกวิถีทางทั้งปลอบและขู่เด็กก็ไม่ยอมนอน ปัจจุบันโรงพยาบาลที่แม้จะมีคนไข้มากจนแออัด ยังจัดที่ให้ญาติได้เฝ้าเด็กหนึ่งคน บางโรงพยาบาลอนุญาตให้แม่ขึ้นไปนอนกับลูกบนเตียงเดียวกัน การกอดของแม่เป็นการเยียวยาที่วิเศษ

แม้เด็กคลอดก่อนกำหนดที่ต้องอยู่ในตู้อบ หรือเด็กป่วยหนักในห้องไอซียู พบว่าการให้ญาติดูแลใกล้ชิด หรือแม่เข้าไปให้นมลูก มีผลดีมากกว่าผลเสีย
ผู้สูงอายุที่ขาดญาติ การฟื้นฟูสภาพจะช้ากว่าคนที่ญาติช่วยดูแล คนไข้สูงอายุที่อยู่โรงพยาบาลคนเดียวนานๆ สุขภาพจิตจะเปลี่ยนแปลง พฤติกรรมเปลี่ยนไป บางครั้งซึมเศร้า บางครั้งดื้อรั้น  การให้ยากล่อมจิตประสาท บางครั้งทำให้คนไข้อาการทรุดลง

 

พฤติกรรม บริการและบรรยากาศ

คำพูด สีหน้า ท่าทาง ที่เป็นมิตรและเอื้ออารี การจัดบรรยากาศ สิ่งอำนวยความสะดวกและสิ่งแวดล้อมที่สร้างความสุขสดชื่นทั้งแสง สี เสียง และกลิ่น เป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาที่พึงคำนึงการจัดแสงสว่างที่เหมาะสมกับการทำกิจกรรมของคนไข้ เป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญ บางครั้งแสงไฟที่เพดานรบกวนการนอนของคนไข้ แต่ถ้าไฟสว่างไม่พอ แพทย์และพยาบาลทำงานไม่สะดวก หลายโรงพยาบาลเปลี่ยนตำแหน่งหลอดไฟ เพื่อไม่ให้แสงแยงตาและรบกวนการพักผ่อนของคนไข้ และจัดโคมไฟเฉพาะเพื่อการทำหัตถการกับคนไข้

สีมีอิทธิพลต่ออารมณ์ความรู้สึก ควรทาสีอ่อนที่ให้ความรู้สึกสงบเย็น หลีกเลี่ยงสีที่ทำให้เกิดความรู้สึกซึมเศร้า บริเวณที่ให้บริการเด็กควรใช้สีสดใส เพื่อดึงดูดและกระตุ้นความสนใจ

ห้องคนไข้หนักที่ทาสีขาวล้วนทั้งฝาและเพดานดูสะอาดตา แต่คนไข้ลืมตาตื่นแล้วพบแต่สีขาวล้วนรอบตัวทั้งกลางวันและกลางคืน มีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกกังวล

การติดวอลเปเปอร์หรือรูปภาพ เช่น ภาพคนยิ้ม เด็กหน้าตาน่าเอ็นดู สัตว์เลี้ยงที่น่ารัก  นกสีสวย ดอกไม้ที่งดงาม วิวธรรมชาติ สายน้ำที่ฉ่ำเย็น ช่วยเยียวยาจิตใจและอารมณ์ ไม่ควรติดภาพงู สัตว์ที่ดุร้าย ภาพทางการแพทย์ที่ดูน่ากลัว เศร้าหดหู่ หรือภาพนามธรรมที่ดูเข้าใจยาก

บางครั้งมีการนำขวดโหลดองเด็กทารกซึ่งเสียชีวิต บางคนพิกลพิการ หรือดองอวัยวะที่เป็นโรค เช่น ตับแข็ง มะเร็งปอด ฝีในเนื้อสมอง แสดงไว้หน้าห้องตรวจโรค โดยมีเจตนาเพื่อให้ความรู้แก่คนไข้และญาติ ซึ่งอาจสร้างความไม่สบายใจแก่ผู้พบเห็น โดยเฉพาะคนไข้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือป่วยเป็นโรคเดียวกับอวัยวะที่นำมาแสดง หากต้องการนำเสนอเรื่องเหล่านี้ ควรจัดแยกเป็นห้อง เพื่อให้คนที่อยากเรียนรู้เข้าไปศึกษา

การทาสีที่แตกต่างระหว่างพื้นต่างระดับ ขั้นบันได มีผลต่อความปลอดภัย ช่วยให้คนไข้ที่สายตาเลือนรางไม่เกิดอุบัติเหตุหกล้ม

เสียงในโรงพยาบาลบางครั้งดังและก้องกว่าปกติ เพราะพื้นฝาเพดานมักไม่มีสิ่งดูดซับเสียง  เสียงเดินของเจ้าหน้าที่ เสียงการล้างอุปกรณ์ในเรือนพักคนไข้ รบกวนการนอนหลับพักผ่อนของคนไข้

คนไข้ที่นอนเตียงใกล้ห้องน้ำในห้องคนไข้รวม ที่มีคนเดินเข้าออกห้องน้ำทั้งคืน พบว่าคนไข้นอนหลับไม่เต็มที่ และอาการโรคกำเริบมากขึ้น

เสียงดนตรีที่มีความดังเหมาะสม สร้างบรรยากาศแก่คนไข้ ญาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่  โรงพยาบาลบางแห่งจะมีนักดนตรีมาเล่นเปียโน สีไวโอลิน เล่นกีตาร์ หรือบรรเลงดนตรีไทย นักดนตรีบางคนเป็นอาสาสมัครมิขอรับค่าตอบแทน

กลิ่นเป็นเรื่องที่ไวต่อความรู้สึกของคนไข้ บางครั้งกลิ่นน้ำยาต่างๆ ในห้องตรวจโรค ห้องพักคนไข้ ห้องทำแผล ห้องตรวจชันสูตร ที่เจ้าหน้าที่ซึ่งสูดดมทุกวันจนชิน สร้างความระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ ส่งผลต่อความรู้สึกวิตกกังวลของคนไข้

การปลูกต้นไม้ จัดสวน สนามเด็กเล่น มุมพักผ่อนและนันทนาการ ทำให้โรงพยาบาลสวยงาม ร่มรื่น ร่มเย็น การตกแต่งอาคารด้วยไม้ประดับ นอกจากความสวยงามแล้วยังช่วยดูดซับสารเคมีที่ปนเปื้อนในอากาศ

 

สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนไข้ที่มีความต้องการเฉพาะ

การจัดเตียงนอน อุปกรณ์เครื่องใช้ที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละวัย มีอุปกรณ์ป้องกันเด็กตกเตียง การจัดอุปกรณ์เครื่องใช้ของเล่นที่เหมาะสม เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกเรียนรู้การช่วยตนเองในชีวิตประจำวัน

การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก การปรับปรุงอาคารสถานที่ เพื่อให้ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการทุพพลภาพ สามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ เช่น การปรับปรุงห้องน้ำให้คนที่ใช้ไม้ค้ำยันหรือรถเข็นผ่านเข้าออกได้สะดวก การปรับเปลี่ยนที่เปิดปิดก๊อกน้ำเป็นแบบก้านปัด ช่วยให้คนไข้ที่มีมืออ่อนแรงสามารถปิดเปิดน้ำได้เอง หรือการทำทางลาดที่ไม่ชันมาก การทำราวสำหรับจับ ช่วยให้คนพิการทุพพลภาพเดินทางได้สะดวกด้วยตนเอง การใช้เสียงบอกเมื่อประตูลิฟต์ปิดเปิด และบอกชั้นที่ลิฟต์กำลังหยุด  ช่วยให้คนสายตาเลือนรางใช้ลิฟต์ได้สะดวกขึ้น

คนไข้ระยะสุดท้าย หลายโรงพยาบาลจัดสถานที่เพื่อให้คนไข้และญาติมีความเป็นส่วนตัว  ให้การดูแลแบบประคับประคอง เพื่อลดความเจ็บปวดและความทุกข์ ให้โอกาสประกอบพิธีการตามวัฒนธรรมและความเชื่อ อำนวยความสะดวกสำหรับคนไข้ที่ต้องการกลับไปเสียชีวิตที่บ้าน

 

จัดสิ่งแวดล้อมให้เหมือนอยู่บ้าน

สิ่งแวดล้อมที่ช่วยเยียวยาที่ดีคือ สิ่งแวดล้อมที่เหมือนบ้านของคนไข้ การอนุญาตให้คนไข้อยู่ใกล้ชิดบุคคลในครอบครัว นำสิ่งของบางอย่างมาจากบ้าน เช่น ตุ๊กตาที่เด็กเคยนอนกอดทุกคืน  ภาพถ่ายที่หัวนอนคนไข้ เทปเพลงที่คนไข้ฟังประจำ

คนไข้หลายคนไหว้พระก่อนนอนทุกคืน บางคนทำบุญตักบาตรทุกเช้า การจัดห้องพระ การจัดสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนา การจัดมุมสงบเพื่อทำสมาธิ จัดหาหนังสือและสื่อ เช่น เทปเสียงบรรยายธรรม การนิมนต์พระมาที่โรงพยาบาลให้คนไข้ได้ทำบุญและให้คำปรึกษา มีผลต่อขวัญและกำลังใจ

พฤติกรรมบริการ บรรยากาศ การจัดสัดส่วนอาคารสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวก ภูมิสถาปัตย์ ที่ให้ความรู้สึกเป็นมิตร เกิดความรู้สึกอบอุ่น สอดคล้องกับวิถีชีวิต สร้างความเชื่อมั่นแก่คนไข้ในยามทุกข์จากโรคภัย เป็นสิ่งแวดล้อมเพื่อการเยียวยาที่มีคุณค่าต่อสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ
 

ข้อมูลสื่อ

369-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 369
มกราคม 2553
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์