• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การทุจริตคอร์รัปชันในวงการสาธารณสุข (2)

ทำอย่างไรจึงจะป้องกันหรือทำให้การทุจริตคอร์รัปชันลดน้อยลง ตั้งแต่ขั้นตอนการเสนอโครงการ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ปัญหาผลประโยชน์ขัดกัน (conflict of interest) ของข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐ ที่มีความสัมพันธ์หรือเคยได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทธุรกิจในรูปแบบต่างๆ นั้น จะส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการได้รับเงินสนับสนุนไปประชุมดูงานในประเทศหรือต่างประเทศ การสนับสนุนการจัดประชุม สัมมนา การรับเงิน ผลประโยชน์ตอบแทนบางอย่าง ปัญหาการทุจริตของนักการเมืองที่ร่วมมือกับข้าราชการและนักธุรกิจ


รายงานผลสำรวจดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index - CPI) ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ในปี ค.ศ.2009 (พ.ศ.2552) รวม 180 ประเทศ พบว่าประเทศไทยมีภาพลักษณ์ไม่ค่อยดีในกลุ่มกลางถึงท้าย คืออยู่ในลำดับที่ 84 แย่กว่ามาเลเซียและจีน สาเหตุสำคัญประการหนึ่งเกิดจากความอ่อนแอของระบบป้องกันการทุจริตของไทย เพราะไม่ค่อยได้รับความสนใจ เรามักจะเน้นการปราบปรามหรือไล่จับคนทำทุจริตมากกว่าการแก้ปัญหาที่สาเหตุ


ในปี พ.ศ.2546 ประเทศไทยได้ลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต
ค.ศ.2003 (United Nations Convention against Corruption-UNCAC, 2003) ซึ่งปัจจุบันมีประเทศสมาชิกภาคี 143 ประเทศ (ข้อมูลเดือนมกราคม พ.ศ.2553) แต่ประเทศไทยอยู่ระหว่างเตรียมการเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญานี้ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นหน่วยงานหลักในเรื่องนี้ เนื้อหาหลักในอนุสัญญา UNCAC ประกอบด้วย 4 หมวดสำคัญคือ 1.การป้องกันการทุจริต 2.การกำหนดความผิดทางอาญาและการบังคับใช้กฎหมาย
3.ความร่วมมือระหว่างประเทศ 4.การติดตามสินทรัพย์คืน ในการป้องกันการทุจริตตามอนุสัญญานี้ ระบุถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชน การเปิดเผยข้อมูลการตัดสินใจของรัฐที่มีผลกระทบต่อสาธารณะ การปรับปรุงระบบงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การคุ้มครองผู้เปิดเผยข้อมูลทุจริตที่เป็นข้าราชการไม่ให้ถูกกลั่นแกล้ง โยกย้าย การป้องกันปัญหาผลประโยชน์ขัดกันของข้าราชการ นักการเมือง  


การตรวจสอบการทุจริตในแวดวงสาธารณสุขของไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน กลุ่มแพทย์ชนบท เภสัชชนบท ภาคประชาชน นักวิชาการ มีบทบาทอย่างมากที่เปิดโปงการทุจริตให้แก่สังคม จนนำไปสู่การดำเนินคดีผู้กระทำผิดตามกฎหมาย ข้อมูลส่วนหนึ่งได้จากข้าราชการที่พบเห็นการทุจริต อย่างไรก็ดีปัญหาการทุจริตยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น บางกรณีเป็นการทุจริตเชิงนโยบาย กฎหมายหรือมาตรการที่มีอยู่ยังล้าสมัย จึงควรมีการวิเคราะห์สภาพปัญหา สาเหตุและหาแนวทางป้องกันแก้ไขเชิงระบบต่อไป มิฉะนั้นประชาชนจะเสียสิทธิอันพึงมีพึงได้จากบริการสุขภาพที่เหมาะสม     
 

ข้อมูลสื่อ

372-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 372
เมษายน 2553