• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตุ่มหมัดกัด

พบว่ามีผู้ที่มีตุ่มคันที่เกิดจากหมัดกัดได้บ่อย  ลักษณะของตุ่มหมัดกัดจะเป็นตุ่มคันที่เป็นตุ่มแดงนูน มีจุดตรงกลาง ตุ่มขึ้นเป็นหย่อมอยู่ใกล้เคียงกัน และมีประวัติใกล้ชิดกับสุนัข นอกจากถูกหมัดสุนัขกัดแล้ว คนเรายังถูกหมัดแมว หมัดหนู และหมัดคนกัดได้ 

การถูกหมัดกัดนอกจากทำให้เกิดตุ่มคันแล้ว ยังนำโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้ด้วย เช่น กาฬโรค ไข้ไทฟัสหนู และนำโรคพยาธิตัวตืดบางชนิด การถูกหมัดแมวหมัดสุนัขกัดมักพบในสังคมที่พัฒนาแล้ว ส่วนหมัดคนพบในชุมชนที่อยู่กันแออัดและมีมาตรฐานสุขอนามัยต่ำ 

 
หมัดเป็นแมลงขนาดเล็ก ตัวยาว 1.5-3.3 มิลลิเมตร สีน้ำตาลเข้ม ลักษณะลำตัวจะแบนตามแนวตั้ง หมัดกระโดดได้ไกลมาก คือกระโดดสูงตามแนวตั้งได้ถึง 18 เซนติเมตร และกระโดดไกลตามแนวนอนได้ถึง 33 เซนติเมตร หมัดมีลำตัวแข็งแรงมาก การบีบหมัดด้วยนิ้วมือตามปกติมักฆ่าหมัดไม่ตาย 


นอกจากการใช้สารพิษฆ่าแมลงแล้ว การฆ่าหมัดอาจทำโดยใช้เทปเหนียวแปะตัวหมัด ใช้เล็บขยี้ หรือจุดไฟเผา หมัดตัวแก่จำเป็นต้องกินเลือดก่อนจึงจะแพร่พันธุ์ได้ เมื่อหมัดกลายเป็นตัวเต็มวัยแล้วจำเป็นต้องหาเลือดเป็นอาหารมื้อแรกให้ได้ภายในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์  แต่หลังจากนั้นหมัดอาจมีชีวิตอยู่ได้นาน 2 เดือน ถึง 1 ปีก่อนที่จะกินอาหารอีกครั้ง โดยทั่วไปหมัดตัวเมียจะวางไข่ได้ 500 ฟองหรือมากกว่านั้นในช่วงชีวิต ทำให้หมัดเพิ่มจำนวนได้มาก        

                         
บางครั้งตุ่มหมัดกัดจะอยู่เป็นหย่อมหรือแนวละ 3 ตุ่ม จึงเรียกว่า "มื้อเช้า มื้อกลางวัน และมื้อเย็น" (breakfast, lunch and dinner)  บางครั้งอาจเป็นตุ่มน้ำใส  ถ้าเกาอาจพบรอยถลอก หรือมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน  รอยหมัดกัดอาจกลายเป็นจุดสีเข้ม รอยโรคหมัดกัดมักเป็นตามแขนขา หรือบริเวณที่เสื้อผ้ารัดรูป เช่น ที่เอว ลักษณะรอยโรคหย่อมหรือแนวละ 3 ตุ่ม นอกจากนี้ อาจพบว่าเกิดจากตัวเรือดกัด  แต่ตุ่มจากตัวเรือดกัดมักอักเสบบวมแดงมากกว่า และมักพบรอยจุดเลือดออกติดอยู่กับผ้าปูเตียง

                                                                                                                             
ตุ่มหมัดกัดมักคันมาก อาจใช้ยาสตีรอยด์ทา หรือให้ยากินแก้แพ้ (antihistamine) ในกรณีที่เกาจนติดเชื้ออาจใช้ครีมหรือขี้ผึ้งปฏิชีวนะทา สำหรับสัตว์เลี้ยงให้ใช้สารพิษฆ่าหมัด การใช้ยาเหล่านี้เพื่อความแน่ใจควรปรึกษาสัตวแพทย์ หรืออ่านฉลากยาและวิธีใช้โดยละเอียด


นอกจากขจัดหมัดจากสัตว์เลี้ยงแล้ว ก็ต้องขจัดหมัดที่อยู่ในบ้านตามเครื่องนอน เฟอร์นิเจอร์ พรม การดูดฝุ่นเป็นวิธีที่ดีสามารถลดปริมาณเห็บหมัด  โดยเน้นดูดบริเวณที่สัตว์ชอบนอน ตามฝาผนังของบ้าน และขอบของพื้นบ้านบริเวณขอบบัวหรือคิ้วของมุม เพราะเห็บหมัดมักหลบซ่อนตัวอยู่             
 

ข้อมูลสื่อ

372-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 372
เมษายน 2553
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร