• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เรียนรู้ เรื่อง "เหน็บชา"

 อาการ "เหน็บชา" หรือ "อาการชา" พบได้บ่อยและมีอยู่หลายแบบ บางคนแค่ชาเฉพาะที่เป็นครั้งคราวจากการนั่งหรือนอนผิดท่า แค่เปลี่ยนท่าทางชั่วครู่ก็หายได้ แต่อาการชาของบางคนนั้นบ่งบอกถึงความผิดปกติที่มีการกดทับเส้นประสาทบริเวณต่างๆ จนอาจต้องถูกผ่าตัดเลยก็มี

ดังนั้นหากเราเรียนรู้ลักษณะของอาการชาประเภทต่างๆ ไว้ ก็จะช่วยวินิจฉัยโรคของตัวเองในเบื้องต้นได้บ้าง จะได้ไม่ตกใจจนเกินเหตุ หรือจะได้ไม่ชะล่าใจจนเกินไป

สิ่งสำคัญคือ ต้องสังเกตตัวเองให้ดีว่ามีอาการชาแบบไหน และชาบริเวณไหนกันแน่ อย่านำไปปนกับอาการปวด มันคนละเรื่องกัน ปวดก็คือปวด แต่ชาคือการที่มีความรู้สึกในบริเวณนั้นน้อยลง

คนไข้เองก็ต้องให้ความร่วมมือ ตั้งสติและสังเกตตัวเองให้ดี อย่าบอกมั่ว ถ้ามั่วไปก็วินิจฉัยไม่ถูกหรือถ้าบอกบริเวณที่ชาผิดตำแหน่งก็อาจจะกลายเป็นคนละเรื่องคนละโรคกันไปเลย บางคนถึงขั้นถูกผ่าตัดผิดที่ก็มีมาแล้ว

เกือบทุกคนคงเคยมีอาการเหน็บชาเฉพาะที่จากการนั่งหรือนอนผิดท่าเป็นครั้งคราว ซึ่งเกิดจากการกดทับเส้นประสาทบางเส้น เช่น เหน็บชาบริเวณเท้าขณะนั่งพับเพียบไหว้พระ เมื่อเปลี่ยนท่าสักครู่อาการก็จะหายไป แต่ถ้ายังฝืนทนหรืออยู่ในสภาพที่ไม่สามารถเปลี่ยนท่าได้ เช่น หลับลึก เมาสุรา ป่วยหนัก พิการทางสมอง เป็นต้น เส้นประสาทที่ถูกกดทับจะช้ำมากจนไม่สามารถฟื้นคืนสภาพปกติภายในเวลาอันสั้น หรืออาจเสียหายถาวรได้

นอกจากอาการเหน็บชาดังกล่าวแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการชาได้ ที่พบบ่อยคือ

1. ชาปลายเท้าและปลายมือเข้าหาลำตัว

เกิดจากปลายประสาทอักเสบหรือเสื่อม อาจเกิดจาก ขาดวิตามินบี 1 บี 6 หรือ บี 12 จากโรค เช่น โรคไต มะเร็ง และจากยาหรือสารพิษ เป็นต้น
 

2. ชามือ (แต่เท้าไม่ชา)

ชาปลายนิ้วมือเกือบทุกนิ้ว แต่นิ้วก้อยไม่ชาหรือชาน้อย มักเป็นกลางคืนหรือตอนตื่นนอน ในตอนกลางวันมักชามากในบางท่า เช่น ชูมือ ขี่มอเตอร์ไซค์ ถือโทรศัพท์ หรือใช้มือทำงานหนัก สาเหตุเกิดจากเอ็นกดทับเส้นประสาทตรงข้อมือ ต้องลดงานที่ใช้มือลง เลี่ยงท่าที่ทำให้ชา บางคนอาจต้องฉีดยาที่ข้อมือ

ชานิ้วก้อย นิ้วนาง และขอบมือด้านเดียวกัน แต่ไม่เลยเกินข้อมือ เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับตรงข้อศอก ให้เลี่ยงท่าที่ทำให้ชา (ถ้าชาเลยข้อมือขึ้นมาถึงศอก จะเกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณกระดูกไหปลาร้า ควรปรึกษาแพทย์)

ชาหลังมือไม่เกินข้อมือ โดยเฉพาะบริเวณง่ามระหว่างนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับที่ต้นแขน ห้ามนั่งเอาแขนพาดพนักเก้าอี้ (แต่ถ้าชาเลยขึ้นมาถึงแขน เกิดจากเส้นประสาทบาดเจ็บบริเวณรักแร้)

ชาเป็นแถบตั้งแต่แขนลงไปถึงนิ้วมือ เกิดจากกระดูกต้นคอเสื่อมกดทับเส้นประสาท ควรปรึกษาแพทย์
 

3. ชาเท้า (แต่มือไม่ชา)

ชาหลังเท้าขึ้นมาถึงหน้าแข้ง เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับบริเวณใต้เข่าด้านนอก ให้เลี่ยงการนั่งไขว่ห้าง ขัดสมาธิ พับเพียบ และห้ามใช้อะไรรองใต้ข้อพับเข่าเวลานอน

ชาฝ่าเท้า เกิดจากเส้นประสาทถูกกดทับที่ตาตุ่มด้านในหรือในอุ้งเท้า ให้เลี่ยงท่าที่ทำให้ชาและลดการยืนหรือเดินนานๆ

ชาทั้งเท้า (ข้างใดข้างหนึ่ง) มักชาขึ้นมาถึงใต้เข่า เกิดจากเส้นประสาทบาดเจ็บที่สะโพก ควรปรึกษาแพทย์

ชาด้านนอกของต้นขา คล้ายยืนล้วงกระเป๋ากางเกง เส้นประสาทจะถูกกดทับที่ขาหนีบ ควรหลีกเลี่ยงการงอพับบริเวณสะโพก

ชาเป็นแถบจากสะโพกลงไปถึงเท้า เกิดจากหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนทับเส้นประสาท ควรปรึกษาแพทย์


4. อาการชาอื่นๆ ที่ควรปรึกษาแพทย์

เช่น ชาครึ่งซีก (ซ้ายหรือขวา) ชาครึ่งตัว(บนหรือล่าง) ชาบริเวณใบหน้าและศีรษะ หรือชาเป็นแถบบริเวณอื่นๆ

การศึกษารูปแบบของอาการชาหลายๆ ลักษณะนี้ จะเกิดประโยชน์เมื่อผู้อ่านมีอาการแล้วสังเกตตำแหน่งได้ถูกต้อง ทำให้รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร และควรไปปรึกษาแพทย์หรือไม่

ที่สำคัญคือถ้าจะไปปรึกษาแพทย์ก็ต้องตั้งสติ สังเกตอาการให้ชัดๆ อย่างน้อยก็ต้องรู้ว่าปวด และ/หรือชาตรงตำแหน่งไหน เพราะจะช่วยให้วินิจฉัยและรักษาได้ถูกต้อง อย่าอธิบายแบบมั่วๆ เพราะถ้าแพทย์ไม่ละเอียดเกิดผ่าตัดไปแบบมั่วๆ บ้าง ถือว่าแพทย์และผู้ป่วยเองก็มีส่วนเหมือนกัน    
 

ข้อมูลสื่อ

372-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 372
เมษายน 2553
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์