• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สปสช.กับผู้ป่วยไร้สถานะโรงพยาบาลชายแดนจังหวัดกาญจนบุรี

กรณีที่กลุ่มแพทย์โรงพยาบาลตามชายแดนของประเทศไทย เข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2553 เพื่อยื่นข้อเสนอขยายสิทธิหลักประกันสุขภาพครอบคลุมคนไร้สถานะ (กะเหรี่ยง พม่า มอญ) เพราะโรงพยาบาลตามชายแดน 15 จังหวัดต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก โรงพยาบาลหลายแห่งต้องเป็นหนี้ค่ายาและเวชภัณฑ์และอยู่ในสถานะใกล้ล้มละลาย

จังหวัดกาญจนบุรีมีโรงพยาบาลชุมชนที่ต้องดูแลผู้ป่วยไร้สถานะจำนวนมาก นั่นคือโรงพยาบาลสังขละบุรีและโรงพยาบาลทองผาภูมิ ทั้ง 2 แห่งประสบปัญหาเรื่องหนี้สินจากการรับดูแลผู้ป่วยนอกหลักประกันสุขภาพเหมือนกัน

สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยข้อมูลโรค 10 อันดับที่พบบ่อยของกลุ่มผู้ป่วยไร้สถานะคือ อุจจาระร่วงเฉียบพลัน มาลาเรีย ไข้ไม่ทราบสาเหตุ ปอดอักเสบ ไข้เลือดออก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาหารเป็นพิษ ตาอักเสบจากไวรัส วัณโรค และสุกใส

นพ.กฤษดา วุธยากร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสังขละบุรี กล่าวว่าภาระหนี้สินของโรงพยาบาลเกิดจากการเยียวยาผู้ป่วยบริเวณชายแดน ซึ่งส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ไม่มีเงินค่ารักษาพยาบาลและไม่มีบัตรประกันสุขภาพใดๆ เมื่อมีอาการเจ็บป่วยแรกเริ่มเล็กๆ น้อยๆ มักจะไม่ยอมเข้าตรวจรักษา แต่อาการหนักแล้วจึงเข้ามารักษา ทำให้โรงพยาบาลต้องเพิ่มค่าใช้จ่ายมากยิ่งขึ้น

โรงพยาบาลสังขละบุรี รองรับผู้ป่วยในพื้นที่ 3 ตำบล 20 หมู่บ้าน ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อย ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องสุขภาพอนามัย รวมถึงคนหลบหนีเข้าเมือง ผู้อพยพในศูนย์พักพิง และยังต้องรักษาให้กับชาวพม่าที่อยู่ตามแนวชายแดนอีกด้วย (มีทั้งเข้าเมืองถูกกฎหมายและลักลอบเข้ามา) แต่ไม่ว่าจะเข้ามาลักษณะใดโรงพยาบาลมีหน้าที่รับและรักษา
"ขอยืนยันว่าการรักษาคนไทยและคนไร้สถานะทางทะเบียน โรงพยาบาลรักษาด้วยมาตรฐานเดียวกัน" นพ.กฤษดากล่าว

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ทั่วประเทศมีคนไร้สถานะประมาณ 5 แสนคน การช่วยเหลือผู้ป่วยไร้สถานะที่อพยพเข้าเมืองและที่เกิดบนแผ่นดินไทยจำนวนมากนั้น โรงพยาบาลตามแนวชายแดนทุกแห่งช่วยดูแลรักษาผู้ป่วยตามหลักมนุษยธรรมและเพื่อความมั่นคงทางสุขภาพ นั่นคือการรักษาโรคติดต่อให้หายขาด ป้องกันไม่ให้โรคติดต่อลุกลามจากคนชายขอบสู่คนไทย ซึ่งหลายโรคที่ระบาดในกลุ่มคนชายขอบนั้น ประเทศไทยสามารถควบคุมและป้องกันได้นานแล้ว แต่กลับพบเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มคนชายขอบที่อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยและนำโรคติดต่อเข้ามาแพร่ระบาดด้วย

ปัญหาโรคติดต่อตามแนวชายแดนมีความสำคัญต่อความมั่นคงของสุขภาพประชาชนคนไทยทั้งประเทศ โรคติดต่ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำหลายโรค สามารถแพร่ระบาดจากพื้นที่ชายแดนไปยังพื้นที่อื่นๆ ของประเทศได้อย่างรวดเร็ว

การรับมือกับปัญหาโรคติดต่อจะต้องดำเนินการในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยจำนวนมากหรือท้องที่ต้นทางที่พบโรคให้มีประสิทธิภาพ เช่น พื้นที่ชายแดนที่ยังมีโรคติดต่อสำคัญหลายโรคอยู่มาก ถ้าหากโรงพยาบาลและหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ชายแดนสามารถควบคุมโรคติดต่อได้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่าใด คนไทยที่อาศัยอยู่พื้นที่อื่นๆ และกรุงเทพฯ ก็จะปลอดภัยจากโรคติดต่อเหล่านั้นมากขึ้นเช่นกัน

ดังนั้น สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติสร้างหลักประกันสุขภาพแก่คนไร้สถานะ พร้อมจัดสรรงบประมาณกว่า 400 ล้านบาท ตั้งกองทุนเฉพาะ หวังแก้ปัญหาโรงพยาบาลชายแดนล้มละลาย และกำจัดโรคระบาดที่ทะลักเข้ามาตามแนวชายแดน

ทั้งนี้ สปสช.จะตั้งเป็นกองทุนให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับประชาชนที่รอพิสูจน์สถานะบุคคล โดยจะไม่ใช้งบรวมกับเงินเหมาจ่ายรายหัวของคนไทย เบื้องต้นในปี พ.ศ.2553 นี้จะของบประมาณเพิ่มจากรัฐบาล 472 ล้านบาท เพื่อจัดบริการสุขภาพแก่คนกลุ่มดังกล่าว

การป้องกันและควบคุมโรคด้วยมาตรการด้านสาธารณสุขที่เหมาะสม จะส่งผลให้สุขภาพของคนไทยและคนต่างชาติอื่นๆ ในประเทศไทย มีความมั่นคงในชีวิตและสุขภาพ

 

ข้อมูลสื่อ

372-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 372
เมษายน 2553
รายงานพิเศษ
กองบรรณาธิการ