• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ต้อกระจก

เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา มีข่าวผู้ป่วยหลายรายผ่าตัดต้อกระจกที่โรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น แล้วเกิดการติดเชื้อทำให้ตาบอด

ความจริง ภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนจากการผ่าตัดต้อกระจกดังกล่าวมีโอกาสพบได้น้อยมาก ทางโรงพยาบาลกำลังสอบสวนหาสาเหตุ เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ


ต้อกระจก เป็นภาวะที่แก้วตาหรือเลนส์ตา (lens) ภายในลูกตามีลักษณะขุ่นขาวจากปกติที่มีลักษณะโปร่งใสคล้ายกระจกใส เมื่อแก้วตาขุ่นขาวก็จะมีลักษณะทึบแสง ไม่ยอมให้แสงผ่านเข้าสู่ลูกตาไปตกกระทบที่จอตา (retina) ที่ทำหน้าที่รับภาพ ทำให้เกิดอาการสายตาฝ้าฟางและมองไม่เห็นในที่สุดฃ

ต้อกระจก เป็นโรคที่พบบ่อยสำหรับผู้สูงอายุ หากปล่อยไว้ไม่ผ่าตัดก็จะทำให้ตาบอด นับว่าเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของภาวะสายตาพิการของผู้สูงอายุ
 

          

 

⇒ ชื่อภาษาไทย

ต้อกระจก

 

⇒ ชื่อภาษาอังกฤษ 

Cataract

 

⇒ สาเหตุ

1. ส่วนใหญ่ (ประมาณร้อยละ 80) เกิดจากภาวะเสื่อมตามวัย ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีจะเป็นต้อกระจกแทบทุกราย แต่อาจเป็นมากน้อยต่างกันไป เรียกว่า ต้อกระจกในผู้สูงอายุ (senile cataract)

2. ส่วนน้อยอาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
♦ เป็นมาแต่กำเนิด ซึ่งจะพบในทารกที่เป็นหัดเยอรมันแต่กำเนิด

♦ เกิดจากการได้รับบาดเจ็บ หรือกระทบกระเทือนที่ตาอย่างรุนแรง

♦ เกิดจากความผิดปกติของตา เช่น ม่านตาอักเสบ ต้อหิน

♦ เกิดจากยา เช่น การใช้ยาหยอดตาที่เข้าสตีรอยด์ หรือกินสตีรอยด์นานๆ การใช้ยาลดความอ้วนบางชนิด เป็นต้น

♦ เกิดจากการถูกรังสีที่บริเวณตานานๆ (เช่น ผู้ที่เป็นมะเร็งที่เบ้าตาเมื่อรักษาด้วยรังสีบ่อยๆ) หรือถูกแสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลต ก็อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้

♦ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานหรือโรคผื่นแพ้กรรมพันธุ์ ก็มักจะเกิดต้อกระจกก่อนวัยได้

♦ ภาวะขาดอาหาร การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์จัด ก็อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้เร็วกว่าปกติ 

           

⇒ อาการ

ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตาค่อยๆ มัวลงเรื่อยๆ ทีละน้อย
ในระยะเริ่มแรกจะรู้สึกมีอาการตามัวเหมือนมีหมอกบัง มองในที่มืดชัดกว่าที่สว่าง* หรือถูกแสงสว่างจะรู้สึกตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ หรือเห็นภาพซ้อน โดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือตาแดงแต่อย่างใด
อาการตามัวจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ กินเวลาเป็นแรมเดือนแรมปี จนในที่สุดเมื่อแก้วตาขุ่นขาวจนหมด (เรียกว่า ต้อสุก) ก็จะมองไม่เห็น
สำหรับต้อกระจกในผู้สูงอายุ มักจะเป็นที่ตาทั้ง 2 ข้าง แต่จะสุกไม่พร้อมกัน
 

                 

 *สำหรับต้อกระจกในผู้สูงอายุในระยะแรก แก้วตามักจะขุ่นขาวเฉพาะบริเวณตรงกลาง เมื่อมองในที่มืดรูม่านตาจะขยาย เปิดทางให้แสงผ่านเข้าแก้วตาส่วนรอบนอกที่ยังใสเป็นปกติ จึงทำให้เห็นภาพได้ชัด แต่เมื่อมองในที่สว่างรูม่านตาจะหดเล็กลง แสงสว่างจะผ่านเฉพาะแก้วตาส่วนตรงกลางที่ขุ่นขาวทำให้พร่ามัว

 

⇒ การแยกโรค

อาการตามัว อาจเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น

♦ ต้อหินเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตารุนแรง ตาแดงและพร่ามัวข้างหนึ่ง เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน

♦ ม่านตาอักเสบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา ตาแดง และตาพร่ามัวข้างหนึ่ง คล้ายต้อหินเฉียบพลัน

♦ แผลกระจกตา ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตา เคืองตา ตาแดง น้ำตาไหล ตาฝ้าฟาง มักเกิดขึ้นหลังได้รับบาดเจ็บ (เช่น ถูกใบหญ้า ใบไม้บาดตา หรือมีสิ่งแปลกปลอมเข้าตา)

♦ ต้อหินเรื้อรัง ผู้ป่วยจะมีอาการตามัวลงทีละน้อยเป็นแรมปี ต้องคอยเปลี่ยนแว่นอยู่บ่อยๆ แต่ก็ไม่รู้สึกดีขึ้น ผู้ป่วยจะมีลานสายตาแคบลงกว่าเดิม คือ มองไม่เห็นด้านข้างๆ อาจขับรถลำบาก (เพราะมองไม่เห็นรถอยู่ทางซ้ายและขวา) ขับชนกำแพง ต้นไม้ หรือสิ่งกีดขวาง เวลาเดินอาจชนขอบโต๊ะ ขอบเตียง (เพราะมองไม่เห็นด้านข้าง)

* จอตาเสื่อมตามวัย พบบ่อยในคนอายุมากกว่า 65 ปี ผู้ป่วยจะมีอาการตามัว ค่อยๆ เกิดขึ้นอย่างช้าๆ อาจสังเกตว่าเวลาอ่านหนังสือหรือทำงานที่ประณีต หรือต้องมองใกล้ๆ จำเป็นต้องอาศัยแสงที่สว่างมากขึ้น สายตามักจะไม่ดีเมื่ออยู่ในที่สลัว มองเห็นสีได้ไม่ชัดเจน จำหน้าคนไม่ได้

♦ จอตาเสื่อมจากเบาหวาน (เบาหวานขึ้นตา) ผู้ป่วยมักมีประวัติเป็นเบาหวานมานาน ต่อมามีอาการตามัวเรื้อรัง

♦ สายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาว ผู้ป่วยจะมองเห็นภาพพร่ามัว เมื่อมองไกล (สายตาสั้น) หรือมองใกล้ (สายตายาว สายตาผู้สูงอายุ)

 

⇒ การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยการตรวจพบแก้วตา (เลนส์ตา) ขุ่นขาว เวลาใช้ไฟส่องตาผู้ป่วยจะรู้สึกตาพร่า การใช้เครื่องส่องตา (ophthalmoscope) ตรวจตาจะไม่พบปฏิกิริยาสะท้อนสีแดง (red reflex)
หากไม่แน่ใจ แพทย์ต้องใช้เครื่องมือพิเศษตรวจอย่างละเอียด อาจจำเป็นต้องตรวจวัดความดันลูกตา (เพื่อแยกออกจากโรคต้อหินที่จะพบความดันลูกตาสูงกว่าปกติ) และตรวจพิเศษอื่นๆ

 

⇒ การดูแลตนเอง

เมื่อมีอาการตามัว ตาพร่า สายตาฝ้าฟาง หรือมองเห็นภาพผิดจากปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีอาการปวดตา หรือตาแดงร่วมด้วย ก็ควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง อาจเกิดจากสาเหตุร้ายแรง เช่น ต้อหินเฉียบพลัน แผลกระจกตา เป็นต้น
หากตรวจพบว่าเป็นต้อกระจก ก็ควรจะทำการผ่าตัดตามที่แพทย์นัด

หลังผ่าตัดผู้ป่วยควรปฏิบัติตัว ดังนี้
♦ เย็นวันผ่าตัด ควรนอนพักให้มากที่สุด และลุกขึ้นเดินเท่าที่จำเป็น (เช่น เข้าห้องน้ำ) วันถัดหลังจากนั้นไป ควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนัก การไอหรือจามแรงๆ การยกของหนักหรือกระเทือนมาก นานประมาณ 2-3 สัปดาห์

♦* ห้ามให้น้ำเข้าตาประมาณ 4 สัปดาห์ ควรใช้วิธีเช็ดหน้าแทนการล้างหน้า

♦* ห้ามขยี้ตาข้างที่ผ่าตัดประมาณ 4 สัปดาห์ ควรใช้ที่ครอบตาพลาสติกปิดตา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลานอน เพื่อป้องกันการเผลอขยี้ตา) ในเวลากลางวันอาจใส่แว่นตาแทนที่ครอบตาก็ได้

♦ ไปพบแพทย์ตามนัด แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดงมากขึ้น ปวดตามาก เผลอขยี้ตา หรือตาข้างที่ผ่าเคยชัดกลับมัวลงอีก ควรไปพบแพทย์ทันที

 

⇒ การรักษา

โรคนี้ไม่มียาที่ใช้กินหรือหยอดแก้อาการของต้อกระจก จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนแก้วตา

วิธีผ่าตัดในปัจจุบัน จะใช้วิธีสลายต้อ (แก้วตาที่เสื่อม) ด้วยคลื่นความถี่สูงหรืออัลตราซาวนด์ (phacoemulsification) ทำให้เนื้อเลนส์ (แก้วตา) สลายตัวและดูดออก แล้วใส่แก้วตาเทียม (เลนส์เทียม) เข้าไปแทนในถุงหุ้มเลนส์เดิม

ดังนั้น ในปัจจุบันแพทย์จะนัดผ่าตัดตั้งแต่ระยะแรกเริ่มที่มีอาการตามัวจากต้อกระจก ทั้งนี้เพื่อรักษาถุงหุ้ม (capsule) ของแก้วตาที่ยังคงสภาพที่ดีไว้ สำหรับใช้แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่แก้วตาจริงที่เสื่อมสภาพ (แก้วตาขุ่นขาว) ไม่ใช่รอให้ต้อสุกแบบการผ่าตัดสมัยก่อน เพราะถุงหุ้มก็อาจเสื่อมจนใช้การไม่ได้ดี

การผ่าตัดวิธีนี้ แผลผ่าตัดเล็ก ใช้เวลาน้อย และไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถกลับไปพักที่บ้านได้เลยหลังผ่าตัด

ข้อดีอีกข้อคือ ไม่ต้องตัดแว่นใส่เวลามองไกล
แต่เวลาอ่านหนังสือมักต้องใช้แว่นอ่านหนังสือเช่นเดียวกับผู้ที่มีอายุเกิน 40 ปีทั่วไป เพราะเลนส์เทียมจะขาดความยืดหยุ่น ทำให้ไม่สามารถปรับให้เห็นชัดเวลามองใกล้แบบเดียวกับสายตาผู้สูงอายุ

แพทย์จะรอเวลาหลังผ่าตัด 1-2 เดือน จนสายตาเข้าที่แล้วจึงจะวัดสายตาและตัดแว่นอ่านหนังสือให้ผู้ป่วยใช้

 

⇒ ภาวะแทรกซ้อน

เมื่อต้อสุกและไม่ได้รับการผ่าตัดจะทำให้ตาบอดสนิท
ในบางรายแก้วตาอาจบวม หรือหลุดลอยไปอุดกั้นทางระบายของของเหลวในลูกตา ทำให้ความดันภายในลูกตาสูงขึ้นจนกลายเป็นต้อหินได้ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตาอย่างรุนแรง

 

⇒ การดำเนินโรค

ถ้าปล่อยไว้ไม่รักษา สายตาจะพร่ามัวลงเรื่อยๆ จนมองไม่เห็น (ตาบอด) และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวตามมา

ถ้าได้รับการผ่าตัดจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นสายตาให้กลับมามองเห็นชัดเจนเช่นคนหนุ่มสาว
ตาข้างที่ผ่าตัดแล้วจะไม่เป็นต้อกระจกซ้ำอีก ถ้าหลังผ่าตัดแล้ว ตาข้างที่ผ่ามีอาการตามัวอีกก็มักเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ต้อหิน จอตาเสื่อม ถุงหุ้มเลนส์ขุ่น เป็นต้น

 

⇒ การป้องกัน

โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมตามวัย จึงไม่อาจหาทางป้องกันได้
ส่วนน้อยที่อาจเกิดจากสาเหตุที่ป้องกันได้ เช่น ทารกที่เป็นหัดเยอรมันแต่กำเนิด การได้รับบาดเจ็บหรือกระทบกระเทือนที่ตาอย่างรุนแรง การใช้ยา (ยาลดความอ้วนบางชนิด การใช้สตีรอยด์) การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้าจัด เป็นต้น ก็ควรหาทางป้องกันหรือหลีกเลี่ยงสาเหตุเหล่านี้เสีย ส่วนผู้ที่เป็นเบาหวานก็ควรควบคุมโรคให้ได้ผลอย่างจริงจัง ก็จะช่วยชะลอการเกิดต้อกระจก

 

⇒ ความชุก

โรคนี้พบบ่อยในผู้สูงอายุ (ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไปจะเป็นต้อกระจกเป็นส่วนใหญ่) และ

 

ข้อมูลสื่อ

370-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 370
กุมภาพันธ์ 2553