• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การส่งเสริมการขายยาของบริษัทยากับสุขภาพของผู้ป่วย

ผมมีโอกาสเข้าร่วมประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 16-18  ธันวาคม พ.ศ.2552 ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ที่ประชุมได้มีมติรับรองระเบียบวาระสำคัญเรื่องหนึ่งคือ "ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม : เพื่อลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและสุขภาพของผู้ป่วย"

เหตุที่เรื่องนี้มีผลกระทบต่อสุขภาพคนไทยทุกคน ก็เพราะการส่งเสริมการขายยาของอุตสาหกรรมยา มีผลต่อพฤติกรรมการสั่งจ่ายยาของแพทย์บางท่าน กล่าวคือมีการสั่งจ่ายยาที่ไม่มีความจำเป็นให้ผู้ป่วย เช่น ยาลดไขมัน ยาปฏิชีวนะ หรือแนะนำยาราคาแพง ทั้งๆ ที่มียาที่ผลิตในประเทศที่ให้ผลการรักษาเหมือนกันและมีราคาถูกกว่า การใช้ยาเกินความจำเป็นยังเป็นผลเสียต่อสุขภาพผู้ป่วยมากกว่าผลดี  สาเหตุประการหนึ่งเกิดจากแพทย์บางรายอาจได้รับผลประโยชน์จากบริษัทยา เช่น ออกค่าใช้จ่ายไปประชุมวิชาการในต่างประเทศแต่เน้นท่องเที่ยว แพทย์เขียนบทความสนับสนุนผลิตภัณฑ์ยาอย่างมีอคติ การเลี้ยงอาหารเครื่องดื่มหรูหรา การสนับสนุนกิจกรรมบันเทิง กีฬา การให้ของขวัญในโอกาสต่างๆ การสร้างความสัมพันธ์ของ Detail (ผู้แทนขายยาของบริษัทยา) กับแพทย์ที่มักพบเห็นในโรงพยาบาลรัฐ ตลอดจนการให้เงินสนับสนุนแก่โรงพยาบาลรัฐ ฯลฯ  ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาธุรกิจยาได้คืบคลานเข้าไปยังนิสิต นักศึกษาแพทย์ด้วยการให้สิ่งของ เงินสนับสนุนต่างๆ จนกลายเป็นความเคยชิน กล่าวได้ว่าเงินที่ใช้ในการส่งเสริมการขายยาที่กล่าวมานี้ ได้ถูกรวมเป็นต้นทุนในราคายาที่แพทย์สั่งให้คนไข้ใช้ เพราะของฟรีไม่มีในโลก ยิ่งถ้าการส่งเสริมการขายยาเกี่ยวพันกับการจัดซื้อยาของโรงพยาบาลรัฐแล้ว ย่อมส่อถึงการทุจริตอย่างชัดเจน  

เมื่อพิจารณาในด้านงบประมาณด้านสุขภาพพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านยาในประเทศไทยมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมากในระยะหลายปีที่ผ่านมาในปี พ.ศ.2552 มีมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 42 ของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (อ้างจาก สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ (บรรณาธิการ) การสาธารณสุขไทย 2548-2550) ซึ่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้ว โดยข้าราชการเป็นกลุ่มที่มีค่าใช้จ่ายด้านยาต่อคนสูงที่สุดคือ 3,600 บาทต่อคนต่อปี สูงกว่าผู้ใช้สิทธิประกันสังคม และโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิ่งนี้ได้กลายเป็นภาระงบประมาณของคนทั้งประเทศ  

ด้วยเหตุที่มีการส่งเสริมการขายยาที่ไม่เหมาะสมหรือขัดจริยธรรม ในปี ค.ศ.1986 องค์การอนามัยโลกจึงออก "หลักเกณฑ์ว่าด้วยการส่งเสริมการขายยา" (WHO Criteria for Medicinal Drug Promotion) เพื่อให้ประเทศสมาชิกรณรงค์เรื่องการใช้ยาที่เหมาะสม (rational use of drug) และพิจารณาปรับปรุงแก้ไขกฎหมายหรือมาตรการต่างๆ ตามความเหมาะสม แต่อดีตจนถึงปัจจุบันภาครัฐ องค์กรวิชาชีพของแพทย์ ก็ยังมิได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ด้านแพทย์เองต้องคำนึงถึงประโยชน์ของคนไข้เป็นลำดับแรกๆ ไม่ควรเห็นแก่ผลประโยชน์ที่ได้รับจากบริษัทยาเท่านั้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 2 เรื่องยุติการส่งเสริมการขายยาฯ จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป  

ข้อมูลสื่อ

370-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 370
กุมภาพันธ์ 2553
ไพศาล ลิ้มสถิตย์