• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การกู้ชีพ... ฉบับชาวบ้าน

"การกู้ชีพ" หรือ "การช่วยฟื้นคืนชีพ"

คือ ปฏิบัติการช่วยชีวิตคนที่หัวใจหยุดเต้นและหยุดหายใจกะทันหัน โดยใช้แรงมือกดหน้าอก และเป่าลมเข้าทางปาก ซึ่งไม่ต้องใช้อุปกรณ์การแพทย์ใดๆ

คนส่วนใหญ่มักคิดว่า "การกู้ชีพ" เป็นเรื่องยาก และเกี่ยวข้องกับบุคลากรทางการแพทย์หรือหน่วยกู้ภัยเท่านั้น ซึ่งที่จริงแล้วทุกคนสามารถเรียนรู้และฝึกฝนกันได้

ผู้เขียนเคยทำโครงการฝึกกู้ชีพให้กับ อสม. โดยประดิษฐ์หุ่นราคาถูก ประยุกต์จากหุ่นโชว์เสื้อผ้า วางแท่นสปริงในทรวงอกเพื่อให้กดแล้วยุบลงได้ ปากก็ต่อท่อเข้ากับลูกโป่งเพื่อจำลองเป็นทางเดินหายใจและปอด ชาวบ้านก็รู้สึกเหมือนปฏิบัติจริง ถือว่าได้ผลดีระดับหนึ่ง แต่ก็ทำได้บางจังหวัดที่ผู้เขียนสะดวกไปอบรมให้เท่านั้น หากหน่วยงานของรัฐนำไปขยายผลต่อก็คงจะเกิดประโยชน์มากขึ้น


ช่วงนี้ใกล้หน้าร้อนแล้ว คนนิยมไปเที่ยวทะเล หรือเล่นน้ำตามชายหาด แม่น้ำ ลำคลอง ซึ่งเรามักจะได้ยินข่าวการสูญเสียจากการจมน้ำ บางครั้งช่วยขึ้นมาได้แต่หยุดหายใจ ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อ จนผู้ประสบเหตุต้องตายไปต่อหน้าต่อตา แต่ถ้าท่านรู้วิธีกู้ชีพเบื้องต้นก็จะช่วยชีวิตไว้ได้ เพราะเมื่อหัวใจหยุดเต้น เราจะมีเวลา 4 นาทีทองในการช่วยให้ฟื้น

ส่วนสาเหตุการตายเฉียบพลันที่พบบ่อย ได้แก่ จมน้ำ ไฟฟ้าช็อต ฟ้าผ่า ขาดอากาศ ศีรษะถูกกระแทกรุนแรง เสียเลือดมาก ได้รับสารพิษ สำลักอาหาร โรคหัวใจ หลอดลมตีบ เป็นต้น
การสอนกู้ชีพนั้น ปัจจุบันได้ขยายไปยังบริษัทและโรงงานต่างๆ ถ้าจะให้ดีควรกระจายไปถึงระดับชาวบ้านและครอบครัวด้วย แต่ควรเป็นวิธีที่เข้าใจง่าย ทำได้จริง อิงหลักการและสภาพความเป็นจริง เพราะถ้าอิงทฤษฎีและวิธีตามแบบฝรั่งมากไป จะจำยาก สับสน แล้วก็เลยทำไม่เป็นกันสักที

ผู้เขียนจึงอยากเสนอวิธีการกู้ชีพฉบับชาวบ้าน ตามขั้นตอนดังนี้

1. ตรวจสภาพและจัดท่า


  

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

♦ ดูว่าหมดสติหรือไม่... ให้ปลุก เรียก เขย่าตัว  

♦ ดูว่าหายใจหรือไม่... ดูการขยับของหน้าอก ฟังเสียงหายใจ แก้มสัมผัสลมหายใจ (ตาดู-หูฟัง-แก้มสัมผัส) 

♦ ดูว่าหัวใจหยุดเต้นหรือไม่... ให้จับชีพจรที่คอด้านข้าง

♦ จัดท่า (ท่ากู้ชีพ-นอนหงาย ท่าพัก-นอนตะแคง)

2. ขอความช่วยเหลือ เช่น ตะโกนหรือโทรเรียกคนช่วย

3. กู้ชีพ 

 

 

3.1 เปิดช่อง-หน้าเชิด-เชยคาง

(เอาสิ่งแปลกปลอมออกจากปาก-กดหน้าผากลงให้หน้าเชิด-ใช้นิ้วมือช้อนคางให้แหงนขึ้น)
  

 

  

 

 

3.2  เป่าปอด

ตามสภาพความเป็นจริง ถ้าใช้วิธีเป่าปากตามทฤษฎีซึ่งเป็นการเอาปากประกบกันแล้วเป่าลมเข้าไปในปอด หากไม่ใช่ญาติสนิทอาจทำให้รู้สึกรังเกียจและเกิดความระแวงเรื่องโรคติดต่อได้ ทำให้ไม่กล้าช่วยเหลือ ดังนั้น ผู้เขียนจึงประยุกต์จาก "เป่าปาก" มาเป็น "เป่าปอด" โดยใช้มือของเราจีบนิ้วเข้าหากันทำให้มีช่องตรงกลาง วางบนปากผู้ป่วยให้สนิท แล้วเป่าลมผ่านมือแทนการใช้ปากสัมผัสกันโดยตรง

                                                 
                                             
แต่ถ้าหากเป็นญาติสนิท คนในครอบครัว สามี ภรรยา ลูก ก็ให้ใช้วิธีประกบปากกัน แล้วเป่าลมเข้าปอด จะมีประสิทธิภาพดีกว่า

 

 

  

 

 

 

 

 

 

 

 

3.3 ปั๊มหัวใจ 

♦หาตำแหน่งที่กระดูกซี่โครง 2 ข้างมาชนกันตรงกลาง วางนิ้วชี้และนิ้วกลางลงไป แล้ววางสันมืออีกข้างถัดขึ้นมาจาก 2 นิ้วนั้น

♦ ประสานมือ 2 ข้าง เหยียดแขนตรง โน้มตัวตั้งฉากกับอก ทิ้งน้ำหนักลงบนแขนกดลงฝ่ามือ ห้ามยกมือขึ้นจากอก (กดให้หน้าอกยุบลงประมาณ 1.5-2 นิ้ว)

♦ นับ 1... และ 2... และ 3... และ 4... จนครบ 30 ครั้ง แล้วเป่าปอด 2 ครั้ง (ทำติดต่อกัน 4 รอบ)

 

4. ประเมินผล ดูว่ารู้สึกตัวหรือไม่ มีการหายใจและมีชีพจรหรือไม่

สำหรับผู้เขียนเอง จะเน้นที่การปั๊มหัวใจมากกว่าการเป่าปอด โดยเฉพาะ ๑ นาทีแรกหลังหัวใจหยุดเต้น ให้รีบปั๊มหัวใจก่อนเลยเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด อย่ารีรอหรือมัวกังวลเรื่องการเป่าลมเข้าปอด ถ้าปั๊มหัวใจได้เร็ว โอกาสรอดก็จะสูงขึ้น

การช่วยกู้ชีพนั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัว เพราะวันใดวันหนึ่งท่านอาจจะพบเห็นและมีโอกาสได้ช่วยเหลือคนอื่นหรืออาจเป็นคนที่ท่านรักเอง ลองเรียนรู้และฝึกฝนกันดู ถ้าเป็นไปได้อยากเห็นคนไทยกู้ชีพกันได้ทุกบ้าน บ้านละ 1 คนก็ยังดี

 

ข้อมูลสื่อ

379-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 370
กุมภาพันธ์ 2553
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์