• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็งตับ : ร้ายแรง แต่ป้องกันได้

ผมมีญาติ 2 คน ป่วยเป็นมะเร็งตับ
คนหนึ่งอายุมากกว่า 70 ปี ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งตับระยะแรกเริ่ม ได้รับการรักษาด้วยการฉีดยารักษามะเร็งเข้าไปที่ก้อนมะเร็งโดยตรง แพทย์ผู้รักษาบอกว่าได้ผลดีจนถือว่าหายขาดจากโรคแล้ว ปัจจุบันผู้ป่วยสุขภาพแข็งแรงดี

เมื่อ 10 ปีก่อน จากการตรวจเช็กสุขภาพ พบว่ามีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแฝงอยู่ในร่างกาย โดยยังไม่มีอาการของโรคตับ เรียกว่าเป็นพาหะของโรคนี้

ผู้ป่วยได้ไปพบแพทย์ทุก 3-6 เดือนตามนัด เพื่อตรวจเช็กเลือด ติดตามเฝ้าระวังดูว่าเชื้อไวรัสดังกล่าวได้หายไปหรือยัง (โอกาสที่เชื้อหายไปมีน้อยมาก มักจะแฝงอยู่ในร่างกายนาน 40-50 ปี หรือตลอดชีวิต) ตับเริ่มมีการอักเสบเกิดขึ้นหรือยัง และเริ่มมีการก่อตัวของโรคตับแข็งหรือมะเร็งตับหรือยัง

เมื่อ 6-7 ปีก่อน แพทย์ตรวจพบว่า ไวรัสตัวร้ายได้ก่อให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังขึ้นมาแล้ว (จากการตรวจเลือดพบว่ามีร่องรอยของตับอักเสบนานเกิน 6 เดือน)

แพทย์ได้ให้การรักษาด้วยยาต้านไวรัส และนัดติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของตับทุก 3 เดือน จนเมื่อ 2 ปีก่อน ก็พบว่าเริ่มมีการก่อตัวของเซลล์มะเร็งในตับ โดยผู้ป่วยยังไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น

ถือว่าโชคดีมากที่สามารถตรวจพบมะเร็งตับระยะแรกเริ่ม และให้การเยียวยาจนหายขาดได้
ส่วนญาติอีกคนอายุ 50 ปีเศษ อยู่ๆ รู้สึกมีอาการจุกแน่นท้องแบบโรคกระเพาะ และน้ำหนักลดไป
2-3 กิโลกรัม จึงไปตรวจเช็กร่างกาย แพทย์บอกว่าเป็นมะเร็งตับระยะท้าย ซึ่งแพร่กระจายไปที่ปอดแล้ว รักษาตัวอยู่ได้ 6-7 เดือนก็เสียชีวิต


ผู้ป่วยไม่เคยเจ็บป่วยร้ายแรงมาก่อน ยกเว้นเมื่อ 30 ปีก่อน เคยได้รับบาดเจ็บ ได้รับการถ่ายเลือดอยู่ครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นไม่เคยเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลอีกเลย และไม่เคยตรวจเช็กสุขภาพมาก่อนเลย

แพทย์บอกว่า มะเร็งตับที่เป็นนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี เข้าใจว่าคงได้รับมาจากการถ่ายเลือดเมื่อ 30 ปีก่อน ซึ่งกลายเป็นพาหะของเชื้อชนิดนี้ ประกอบกับผู้ป่วยนิยมดื่มเหล้าเป็นประจำ จึงส่งเสริมให้เกิดโรคตับอักเสบเรื้อรังโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว ในที่สุดกลายเป็นมะเร็งตับ ซึ่งลุกลามรวดเร็วจนเมื่อมีอาการน้ำหนักลด ก็ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งในขั้นสุดท้าย ยากที่จะเยียวยาได้แล้ว

มะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยในหมู่คนไทย พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง 2-3 เท่า นับว่าเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับแรกของผู้ชาย และเป็นอันดับที่ 4 ของทั้งสองเพศรวมกัน
ในชีวิตของการเป็นแพทย์ ผมพบผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งตับอยู่เนืองๆ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการแสดงแล้ว เช่น น้ำหนักลด อ่อนเพลีย เจ็บชายโครงข้างขวา ซึ่งมักจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งตับระยะท้าย และมีชีวิตอยู่ได้ไม่นาน

ในบ้านเรา มีมะเร็งตับอยู่ 2 ชนิด
ชนิดที่ 1
เกิดจากโรคพยาธิใบไม้ตับจาการกินปลาดิบ ทำให้เป็นมะเร็งท่อน้ำดี (หมายถึง มะเร็งที่เกิดจากเซลล์ที่บุภายในท่อน้ำดีส่วนที่อยู่ภายในตับ) พบมากทางภาคอีสานและภาคเหนือ

ชนิดที่ 2 เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี หรือชนิดซี ไวรัสทั้ง 2 ตัวนี้มีลักษณะคล้ายกันมาก คือ สามารถติดต่อทางเลือด ทางเพศสัมพันธ์ และถ่ายทอดจากแม่ไปยังลูกในครรภ์ได้ (เช่นเดียวกับเชื้อเอชไอวี) เมื่อติดเชื้อแล้ว เชื้อสามารถแฝงตัวอยู่ในร่างกายของคนเรานานนับสิบๆ ปี (เรียกว่า เป็นพาหะของเชื้อ ซึ่งสามารถแพร่ต่อให้คนอื่นได้) ทำให้กลายเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง  ในที่สุดกลายเป็นโรคตับแข็งและมะเร็งเซลล์ตับ ซึ่งอาจกินเวลาฟักตัวของโรคมะเร็งนาน 30-50 ปีหลังติดเชื้อ การดื่มเหล้าเป็นตัวเร่งให้เกิดโรคตับได้เร็วขึ้น
 

การป้องกันโรคมะเร็งตับ สามารถทำได้ดังนี้
 ไม่กินปลาน้ำจืดดิบๆ เด็ดขาด หากกินปลาดิบควรหมั่นตรวจเช็กว่าเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับหรือไม่ ถ้าเป็นควรกินยารักษา แล้วอย่าได้กินปลาดิบอีก

► ไม่ดื่มเหล้าจัด

►  ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี ซึ่งปัจจุบันทางโรงพยาบาลจะฉีดให้ทารกตั้งแต่แรกเกิด (ส่วนไวรัสตับอักเสบซี ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน)

►  หมั่นตรวจเช็กสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจเลือด ดูว่าเป็นพาหะของไวรัสตับอักเสบบีหรือซี หรือไม่

►  ถ้าตรวจพบว่าเป็นพาหะหรือโรคตับอักเสบเรื้อรัง ควรติดตามรักษากับแพทย์ทุก 3-6 เดือนตามนัด หากพบว่าเป็นมะเร็งตับระยะแรกเริ่มจะได้มีทางรักษาให้หายขาด
 

ข้อมูลสื่อ

371-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 371
มีนาคม 2553