• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การทุจริตคอร์รัปชันในวงการสาธารณสุข (ตอนที่ 1)

รายงานการพัฒนามนุษย์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ชื่อ "หยุดยั้งทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต : เร่งการพัฒนามนุษย์ในเอเชียและแปซิฟิก" ชี้ให้เห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกรวมทั้งประเทศไทย ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การลงทุน ฉุดรั้งการพัฒนามนุษย์ การแก้ปัญหาความยากจน เกิดปัญหาสังคม โดยเฉพาะการทุจริตในระบบบริการสุขภาพ (health services) ที่มีหลายรูปแบบ มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย เช่น การทุจริตด้านงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างยา เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ การก่อสร้างปรับปรุงโรงพยาบาล สถานบริการสาธารณสุขที่ใช้งบประมาณสูงผิดปกติ การทุจริตในการอนุมัติขึ้นทะเบียนยาใหม่ การซื้อขายตำแหน่งราชการ การแก้ไขรายการเบิกจ่ายของสถานพยาบาลในระบบประกันสุขภาพ ไปจนถึงการทุจริตในลักษณะส่งเสริมการขายยา (drug promotion) ที่ขัดจริยธรรมของบริษัทยา เช่น การให้เงิน สิ่งของ ผลประโยชน์แก่ผู้จัดซื้อยาหรือแพทย์ เพื่อให้แพทย์สั่งจ่ายยาของบริษัทตนให้ผู้ป่วยทั้งที่ไม่มีความจำเป็น จนน่าจะมีผลให้มูลค่าการจัดซื้อยาในเอเชียจากบรรษัทยาข้ามชาติเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผลของการทุจริตในบริการสุขภาพทำให้มาตรฐานทางสุขภาพตกต่ำลง  

องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็เห็นความสำคัญของปัญหาทุจริตคอร์รัปชันว่า มีผลกระทบต่อการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ทำให้สูญเสียงบประมาณมหาศาล แต่ละปีมีงบประมาณสูญเสียไปร้อยละ 10-25 ของงบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในบริการสุขภาพ (รวมทั้งยา) ต่อปีที่มีมูลค่ารวมสูงถึง 4.1 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ องค์การอนามัยโลกจึงได้ริเริ่มโครงการ "ธรรมาภิบาลในระบบยา" (Good Governance for Medicines) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 เพื่อส่งเสริมหลักธรรมาภิบาลในระบบยาและต่อต้านการทุจริตในการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ของภาครัฐ และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงยาจำเป็นอย่างทั่วถึง

เมื่อย้อนกลับมาดูสถานการณ์การทุจริตในวงการสาธารณสุขของไทย ยังไม่พบข้อมูลตัวเลขความเสียหาย เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า การตรวจสอบข้อมูลการทุจริตเป็นเรื่องที่ทำได้ค่อนข้างยาก หรือแม้จะพบพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตแล้ว ก็ยากที่จะสาวไปถึงตัวผู้มีส่วนรู้เห็น อย่างไรก็ดีมูลค่าความสูญเสียด้านงบประมาณในไทยก็คงไม่น้อยเช่นกัน ดังเช่นคดีทุจริตยามูลค่า 1,400 ล้านบาทที่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเรียกและรับเงินจากบริษัทยา จนศาลฎีกาตัดสินจำคุก 15 ปีและมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์จำนวน 233.88 ล้านบาทในข้อหาร่ำรวยผิดปกติ แต่ได้รับโทษจำคุกจริง 5 ปี อีกทั้งไม่สามารถติดตามยึดทรัพย์สินของจำเลยได้ครบตามคำพิพากษา

เมื่อเร็วๆ นี้ก็มีการเปิดเผยผลการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่มีนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน สรุปผลว่าการจัดตั้งงบประมาณ มีพฤติกรรมและพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ว่า "ส่อไปในทางที่จะทำให้เกิดการทุจริตจริง" ผู้รับผิดชอบโครงการบกพร่องต่อหน้าที่

Asia Pacific Human Development Report Tackling Corruption, Transforming Lives : Accelerating Human Development in Asia and the Pacific (United Nations Development Programme, 2008) รายงานสรุปภาพรวมแปลโดย ไพศาล ลิ้มสถิตย์ (สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ, 2551)

ข้อมูลสื่อ

371-019
นิตยสารหมอชาวบ้าน 371
มีนาคม 2553
ไพศาล ลิ้มสถิตย์