• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

"จงระวังสักนิด เมื่อคิดบริโภคพืชผักเป็นยา"

๒-๓ ปี มานี้มีกระแสนิยมกินใบมะรุมเป็นยาบำรุงและรักษาสุขภาพกันอย่างกว้างขวาง แทบจะทั่วทุกภาคของประเทศ บ้างก็กินในรูปของยาเม็ดสำเร็จรูป บ้างก็เด็ดกินใบสด โดยนิยมกินเป็นประจำทุกวัน เป็นแรมเดือนแรมปี ทั้งนี้ได้มีเอกสารออกมาเผยแพร่ถึงประโยชน์และสรรพคุณของมะรุม ซึ่งระบุว่ามีอยู่มากมายหลายประการ 


หมอชาวบ้านก็เคยมี ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ เขียนเรื่อง "มะรุม" และพืชผักอื่นๆ ซึ่งส่วนหนึ่งได้ระบุว่า ในพืชผักต่างๆ มีสารเคมีสำคัญอะไรบ้าง และแต่ละตัวมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร เจตนาก็เพื่อรวบรวมข้อมูลเชิงวิชาการว่า พืชผักต่างๆ น่าจะมีประโยชน์อย่างไร หาได้ตั้งใจแนะนำให้กินเป็นยาบำรุงและรักษาสุขภาพเป็นประจำทุกวันแต่ประการใด


ปกติคนไทยนิยมนำฝักมะรุมมาทำเป็นแกงส้ม บางท้องถิ่นก็นิยมใช้ใบจิ้มน้ำพริก  แต่ก็จะกินกันเป็นครั้งคราว ไม่ได้กินทุกวัน

การเปลี่ยนวิธีบริโภค จากการกินครั้งคราวมากินเป็นประจำทุกวัน หรือเปลี่ยนกรรมวิธีในการบริโภคผิดไปจากเคยปฏิบัติมาแต่โบราณนั้น ก็เคยก่อให้เกิดโทษภัยขึ้นมาแล้วหลายกรณีด้วยกัน


อาทิ เมื่อ ๒๐-๓๐ ปีก่อน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขท่านหนึ่ง มีเจตนาดีในการรณรงค์ปราบโรคพยาธิปากขอ โดยนำมะเกลือมาปรุงเป็นยาเป็นปริมาณหม้อใหญ่ๆ ซึ่งต้องเตรียมทิ้งไว้ค้างคืน วันรุ่งขึ้นก็แจกจ่ายให้เด็กๆ ตามหมู่บ้านกินกันถ้วนหน้า คราวนั้นเกิดผลที่ตามมา คือ มีเด็กๆ หลายคนตามัวตาบอด เนื่องจากได้รับพิษภัยจากสารเคมีในมะเกลือที่กลายรูป เนื่องจากการตั้งทิ้งไว้ค้างคืน

โบราณจะเตรียมมะเกลือในปริมาณเล็กน้อย สำหรับแต่ละคนเท่านั้น และเมื่อเตรียมเสร็จก็ให้กินสดๆ ทันที ซึ่งก็ได้ผลในการรักษาโรคพยาธิปากขอ และไม่ได้เกิดผลข้างเคียงอะไร แต่เมื่อเปลี่ยนมาเตรียมทีเดียวปริมาณมากๆ และทิ้งไว้ข้ามคืน สารเคมีในมะเกลือก็เกิดการกลายรูปเป็นสารใหม่ ซึ่งสามารถทำลายประสาทตาจนทำให้ตามัวตาบอด

เมื่อหลายปีก่อน หน่วยงานของรัฐได้มีการนำใบขี้เหล็กมาผลิตเป็นยาสมุนไพร บรรจุใส่แคปซูลออกจำหน่ายอย่างเป็นทางการ โดยระบุสรรพคุณเป็นยากล่อมประสาท และยานอนหลับ ทั้งนี้โดยอาศัยหลักฐานการวิจัยว่า ขี้เหล็กมีสารเคมีสำคัญตัวหนึ่งที่ช่วยสงบอารมณ์ (คลายกังวล ความเครียด) และช่วยให้นอนหลับ และมีการทดลองในหนูว่าไม่เกิดพิษภัยเฉียบพลัน

ผู้คนจำนวนมาก (ซึ่งมีปัญหาความเครียดและนอนไม่หลับ ที่เคยพึ่งพาแพทย์สั่งยากล่อมประสาทให้กิน) ก็หันมาซื้อยาขี้เหล็กแคปซูล ซึ่งสามารถซื้อหาได้อย่างเสรีโดยไม่ต้องมีใบสั่งจากแพทย์

ท่ามกลางกระแสนิยมบริโภคขี้เหล็กคราวนั้น โรงพยาบาลหลายแห่งได้พบว่ามีผู้ป่วยหลายๆ รายมีอาการดีซ่าน (ตาเหลือง) มาขอตรวจรักษากับแพทย์ ในที่สุดก็ยืนยันว่าเป็นตับอักเสบจากการบริโภคขี้เหล็กแคปซูลเป็นประจำติดต่อกันหลายเดือน ทางการจึงได้ยกเลิกการจำหน่ายยาขี้เหล็กแคปซูล ซึ่งถือว่าไม่ปลอดภัย

ผมเคยเจอคนรู้จักคนหนึ่ง นิยมนำขี้เหล็กมาต้ม แล้วน้ำที่ต้มมาดื่มแทนน้ำเปล่าด้วยเชื่อว่าเป็นยาบำรุง พอดื่มไปได้ ๒-๓ เดือนก็เกิดอาการดีซ่าน ไปพบแพทย์ก็ตรวจยืนยันว่าเป็นตับอักเสบจากการดื่มน้ำขี้เหล็กต้มเช่นเดียวกัน

คนไทยนิยมแกงขี้เหล็ก กินเป็นครั้งคราว บางท้องถิ่นบอกกันเลยว่า ถ้าคืนไหนอยากนอนหลับดี เย็นวันนั้นก็ให้กินแกงขี้เหล็ก
การกินขี้เหล็กเป็นบางครั้งบางคราวแบบภูมิปัญญาพื้นบ้าน ไม่ก่อโทษ แต่การหันมากินในรูปของยาเป็นประจำ กลับมีพิษต่อตับ

สมุนไพรที่มีการยืนยันทางวิชาการว่ามีพิษต่อตับ ทำให้ตับอักเสบอีกชนิดหนึ่ง ก็คือ บอระเพ็ด ซึ่งมีสรรพคุณช่วยลดน้ำตาลในเลือด เมื่อทดลองให้ผู้ป่วยเบาหวานกินทุกวันก็พบว่าทำให้ตับอักเสบได้

ส่วนมะรุม ผมก็เคยได้ยินแพทย์บางท่านตั้งข้อสังเกตว่า อาจทำให้เป็นโรคตับอักเสบ เพราะพบว่าผู้ป่วยบางท่านเป็นโรคตับเรื้อรัง โดยไม่พบสาเหตุชัดเจนอื่นใด นอกจากมีประวัติว่านิยมกินมะรุมทุกวันมาเป็นแรมปี แต่ท่านก็ยังไม่กล้ายืนยันว่าเกี่ยวข้องกันจริงหรือไม่

เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้รับคำบอกเล่าเกี่ยวกับมะรุมอยู่ ๒ กรณี
กรณีแรก มีพยาบาลท่านหนึ่งเล่าว่า ที่โรงพยาบาลรับตรวจเช็กสุขภาพ พบว่ามีผู้ที่มีผลเลือดที่แสดงว่าตับเริ่มทำหน้าที่ผิดปกติอยู่ ๕ ราย ทั้ง ๕ รายนี้มีประวัติกินมะรุมทุกวันมาเป็นแรมปี จึงแนะนำให้หยุดกิน แล้วนัดมาตรวจเลือดซ้ำ ก็พบว่าตับกลับมาทำหน้าที่เป็นปกติ จึงตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นว่า มะรุมอาจมีผลเสียต่อตับ

อีกกรณีหนึ่ง ผู้ป่วยเบาหวานรายหนึ่งเล่าว่ากินยาเบาหวานมาหลายปี ก็ไม่เคยมีปัญหาแทรกซ้อนรุนแรง ต่อมาทราบจากคำเล่าลือว่ามะรุมสามารถลดน้ำตาลในเลือดได้  จึงซื้อมะรุมชนิดเม็ดกินเสริมไปวันละ ๒ ครั้งๆ ละ ๒ เม็ด พอกินไปได้ ๑๐ กว่าวัน ก็เกิดอาการเป็นลม หน้ามืด ไม่ค่อยรู้สึกตัว ญาติพาส่งโรงพยาบาล แพทย์ตรวจพบว่าผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกิน สันนิษฐานว่าอาจเป็นไปได้ที่มะรุมมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด จึงเสริมฤทธิ์ยาเบาหวานที่กินอยู่เดิมจนน้ำตาลในเลือดลดต่ำถึงขั้นอันตรายได้

ทั้ง ๒ กรณีนี้ คงต้องรอให้มีการพิสูจน์ยืนยันกันต่อไปในเชิงวิชาการ จึงจะสรุปได้แน่ชัดว่า มะรุม มีผลดังกล่าวจริงหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ก็ขอแนะนำให้ระมัดระวัง หากพืชผักชนิดใดยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ว่าเป็นยาที่สามารถกินได้ผลและปลอดภัย ก็อย่าบริโภคพืชผักนั้นในรูปของยาที่กินประจำทุกวัน ทางที่ปลอดภัย ก็คือ หันมาบริโภคพืชผักในรูปอาหารธรรมชาติ ตามวิถีที่บรรพบุรุษเราเคยปฏิบัติกันมาจะดีกว่า

ขณะเดียวกัน ก็ฝากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันพิสูจน์ถึงข้อดีข้อเสียของการบริโภคพืชผักเป็นยา ทั้งนี้เพื่อประโยชน์และสวัสดิภาพของประชาชนผู้บริโภค

ข้อมูลสื่อ

378-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 378
ตุลาคม 2553