• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความยั่งยืนของหลักประกันสุขภาพไทย

                      

ความสำเร็จของการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในยุคแรกปี พ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๕๐ ทำให้คนไทยกว่า ๔๘ ล้านคนได้รับการคุ้มครองจากสิทธิหลักประกันสุขภาพ (บัตรทอง) ได้เข้าถึงการบริการผู้ป่วยนอก ๓๙.๑ ล้านคน ผู้ป่วยใน ๕.๓ ล้านคน

นอกจากนี้ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดให้มีการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพื่อสร้างเกราะภูมิคุ้มกันไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วย โดยสนับสนุนให้มีกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่ จำนวนกว่า ๕,๕๐๐ แห่งทั่วประเทศ

 

รายงานพิเศษฉบับนี้ได้พูดคุยกับ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เกี่ยวกับความสำเร็จของระบบหลักประกันสุขภาพไทย การพัฒนาคุณภาพบริการ และกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น หรือพื้นที่
 

 

 

 

ความสำเร็จหลักประกันสุขภาพไทยในเวทีโลก
"จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่ประเทศที่มีระบบหลักประกันสุขภาพให้กับประชาชนจะเป็นประเทศที่ร่ำรวย เช่น ทางยุโรป กลุ่มสแกนดิเนเวีย ส่วนภูมิภาคเอเชีย ก็มีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวันฯ 

อย่างไรก็ตาม ระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศไทยนับว่าได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ทั้งองค์การยูเนสโก (UNESCO) องค์การอนามัยโลก (WHO) หรือธนาคารโลก (WORLD BANK) ในการเป็นผู้นำเรื่องการจัดระบบประกันสุขภาพแห่งชาติที่ดีแห่งหนึ่งเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มที่มีรายได้ปานกลางและช่วยให้คนไทยไม่ต้องล้มละลายจากการรักษาพยาบาลได้จำนวนมาก

จึงมีหลายประเทศมาดูงานหลักประกันสุขภาพที่ประเทศไทย อย่างเช่นประเทศเวียดนามส่งทีมบุคลากรมาเรียนรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายเงินในโรคเฉพาะหรือ กลุ่มวินิจฉัยโรครายโรค (DRG) รวมทั้งการรักษา โรคไตวายเรื้อรังโดยเฉพาะการล้างไตผ่านช่องท้องของไทยเพื่อนำไปปรับใช้ในอนาคต"
 

คุณภาพบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
"สมัยก่อนมีคำพูดที่ว่า เก็บเงินไว้ยามเจ็บไข้ได้ป่วย หรือขายวัว ขายควาย ขายไร่ ขายนา เพื่อนำมาเป็นค่ารักษาพยาบาลนั้น แสดงว่าระบบที่ประชาชนต้องพึ่งพาตนเองด้านบริการสุขภาพ แต่หลักประกันสุขภาพหลายอย่าง สปสช.พยายามให้ครอบคลุมสิ่งต่างๆ เหล่านี้คือ คนไทยเกิดมามีความมั่นใจจะไม่ล้มละลายทางสุขภาพ เจ็บไข้ได้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการ และการบริการที่ได้รับมีคุณภาพ

สปสช. สนับสนุนให้สถานพยาบาลบริการเน้นคุณภาพ ยกตัวอย่างเช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง เป็นโรคเรื้อรังที่บั่นทอนสุขภาพ การควบคุมโรคไม่ได้อยู่ที่การใช้ยา อยู่ที่พฤติกรรม หน่วยบริการต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่กับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องโดยใช้คะแนนเป็นตัวชี้วัด เช่น หน่วยบริการไหนที่ดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน แล้วไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลัน มีคะแนนเพิ่มให้ และได้งบประมาณจ่ายจามเกณฑ์คุณภาพของสถานพยาบาล

นอกจากนั้น การส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยบริการปฐมภูมิ เวลาส่งไปโรงพยาบาลขนาดใหญ่แล้ว จะต้องส่งกลับด้วย ไม่เช่นนั้นระบบจะไม่เกิดประสิทธิภาพ เพื่อให้แพทย์มีเวลาดูแลผู้ป่วยโรคยากๆ ส่วนโรคทั่วๆ ไปหน่วยบริการปฐมภูมิสามารถดูแลได้ เช่น สถานีอนามัย ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น

การพัฒนาหน่วยบริการปฐมภูมิให้มีความเข้มแข็ง ได้รับการยอมรับจากประชาชน ต้องสร้างประสิทธิภาพของระบบการส่งต่อผู้ป่วยจากหน่วยบริการปฐมภูมิไปหน่วยบริการที่สูงกว่า ไม่ใช่ส่งต่อผู้ป่วยไปตายข้างหน้า จะต้องติดตามผู้ป่วยว่าได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง"
 

กองทุนสุขภาพชุมชน : หลักประกันสุขภาพฉบับท้องถิ่น
"จากการประชุม ASSA (Asean Social Security Association) ครั้งที่ ๒๖ ที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม ผมได้ส่งมอบตำแหน่งประธาน ASSA ให้แก่ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขของเวียดนาม ประเทศเราได้มีโอกาสเสนอ เรื่องกองทุนส่งเสริมสุขภาพท้องถิ่น หรือ กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น หลายประเทศให้ความสนใจซักถาม โดยเฉพาะฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย มีความสนใจเรื่องการจัดสิทธิประโยชน์ด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับประชาชนด้วย

เป็นแนวคิดที่จะสร้างความร่วมมือของชุมชน โดย สปสช. สนับสนุนงบประมาณสมทบร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อบต. และเทศบาลตำบล เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมสะท้อนปัญหาสุขภาพของชุมชน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ตระหนักเพื่อแก้ไขปัญหาในท้องถิ่น ร่วมสร้างนวัตกรรมแก้ไขปัญหาโดยไม่ต้องรอส่วนกลาง สามารถตอบสนองได้ตรงจุด เหมาะสมกับชุมชน โดยประชาชนทุกคนมีส่วนในการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพที่ยั่งยืน เพราะเป็นการดำเนินการจากความต้องการของคนในชุมชน ปัจจุบันประเทศไทยเรามีกองทุนสุขภาพชุมชนกว่า ๕,๕๐๐ แห่งทั่วประเทศ

การประชุมครั้งนี้ที่ประชุมแลกเปลี่ยนในประเด็นเกี่ยวกับเรื่อง การเก็บเงินเบี้ยประกันหรือเบี้ยสะสมค่าบำนาญของภาคประชาชน ซึ่งประเทศเกาหลีใต้ เยอรมนี และตัวแทนจาก ILO มาพูดให้ฟังคือ วิธีการที่จะทำให้สามารถเก็บเบี้ยประกันได้อย่างครบถ้วน ระบบของเราโชคดีที่ไม่ต้องเก็บเบี้ยประกันเพราะเราใช้ภาษีมาตั้งเป็นกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระบบ การเงินการคลังของเราเรียกว่า Tax Finance"    

ข้อมูลสื่อ

378-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 378
ตุลาคม 2553
รายงานพิเศษ
กองบรรณาธิการ