• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะกรูดสมุนไพรบำรุงผม

                            

มะกรูด Citrus hystrix DC. เป็นพืชตระกูลส้ม วงศ์ส้ม (Rutaceae)
ชื่อท้องถิ่น ภาคเหนือเรียกมะขุน มะขูด มะกูด ภาคใต้เรียกส้มกรูด ส้มมั่วผี กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอนเรียกมะขู หนองคายเรียกมะหูด

ชื่อสามัญ Kaffir Lime, Leech Lime
มะกรูดมีแหล่งกำเนิดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คำว่า hystrix มาจากภาษากรีกแปลว่า เม่น มาจากกิ่งของมะกรูดที่มีหนามนั่นเอง เป็นไม้เนื้อแข็งยืนต้นขนาดเล็ก-กลาง

ลำต้นสูง ๒-๘ เมตร ลำต้นและกิ่งมีหนามยาวเล็กน้อย

ใบเป็นใบประกอบลดรูป รูปไข่ มีใบย่อย ๑ ใบเรียงสลับ ใบรูปไข่ลักษณะคล้ายใบไม้ ๒ ใบต่อกัน คอดกิ่วที่กลางใบ มีก้านแผ่ออกใหญ่เท่ากับแผ่นใบทำให้เห็นใบเป็น ๒ ตอน กว้าง ๒.๕-๔ เซนติเมตร ยาว ๔-๗ เซนติเมตร ใบสีเขียวแก่ ค่อนข้างหนา พื้นผิวใบเรียบเกลี้ยงเป็นมัน มีกลิ่นหอมมาก ใบด้านบนสีเข้ม ด้านใต้สีอ่อน

ดอกออกเป็นช่อ ๓-๕ ดอก กลีบดอกหนาสีขาว ๔-๕ กลีบ รูปไข่แกมรี ปลายมนแหลม ด้านนอกมีต่อมน้ำมัน มีกลิ่นหอม กลีบร่วงง่าย
เกสรเพศผู้ มีก้านเกสรสีขาว อับเรณูสีเหลืองอ่อน มีจำนวนมาก เกสรเพศเมียสีเหลืองแกมเขียวคล้ายรูปกระบอง ยอดเกสรมีลักษณะกลม

ผลสีเขียวเข้มคล้ายมะนาว ผิวเปลือกนอกขรุขระขนาดประมาณ ๓-๗ เซนติเมตร ขั้วหัวท้ายของผลเป็นจุก ผลอ่อนสีเขียวแก่ ผลสุกมีสีเหลืองสด ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก ผลของพันธุ์ที่มีผลขนาดเล็กจะมีผิวขรุขระน้อย ภายในมีเมล็ดจำนวนมากและไม่มีจุกที่ขั้ว

ใบมะกรูดเป็นสมุนไพรที่สำคัญในอาหารไทย ลาวและกัมพูชา ใช้ผิวของผลเป็นส่วนผสมเครื่องแกงหลายชนิด และใช้เข้าเครื่องหอมโดยเป็นส่วนผสมในเทียนอบ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิยมใช้ใบมะกรูดและผิวมะกรูดปรุงอาหารหลายชนิด ใช้ดับกลิ่นคาวอาหารบางชนิดด้วย พบประปรายในอาหารเวียดนาม มาเลเซียและอินโดนีเซีย

ใบมะกรูดในอาหารไทยที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ เป็นส่วนประกอบของต้มยำกุ้งและต้มยำชนิดอื่น นอกจากนั้นพบในต้มข่าไก่ แกงต่างๆ เช่น แกงเทโพ

น้ำคั้นผลมะกรูดมีรสเปรี้ยวและมีกลิ่นหอมฉุน อาหารบางชนิดนิยมใช้น้ำมะกรูดเช่นกัน แต่จะได้น้ำน้อยเพราะเปลือกหนา พบในอาหารจานปลาหรือไก่ของมาเลเซียและไทย
คนโบราณนิยมสระผมด้วยน้ำมะกรูด เพราะช่วยให้ผมดำเป็นมัน ไม่แห้งกรอบ คนไทยนิยมปลูกมะกรูดไว้ตามบ้านและในสวนเพื่อใช้งาน
 

การใช้งานเชิงสุขภาพ
มะกรูดบำรุงผม
คนไทยใช้มะกรูดสระผมมานานแล้ว บ้างก็ผ่าผลดิบบีบน้ำชโลมสระผมโดยตรง บ้างก็นำไปเผา หรือต้มก่อนคั้นน้ำสระ ปัจจุบันการใช้มีหลายวิธีให้เลือกดังนี้
ใช้มะกรูดสดผ่าครึ่ง แคะเมล็ดออก คั้นน้ำใช้สระผม
ฝานผิวมะกรูด นำมาตำให้ละเอียด ผสมด้วยน้ำมะกรูด เติมน้ำพอให้ส่วนผสมเริ่มเหลว คนให้เข้ากันดี ทิ้งไว้ ๕-๑๐ นาที แล้วกรองคั้นเอาแต่น้ำไปใช้สระผม
ใช้มะกรูดสดหรือเผาไฟก่อนก็ได้ หั่นผลมะกรูดเป็นชิ้น ปั่นชิ้นมะกรูดให้ละเอียด เทใส่ชาม เติมน้ำอุ่นพอท่วมส่วนผสม คนให้เข้ากัน ตั้งทิ้งไว้ ๑๐-๒๐ นาที คั้นเอาแต่น้ำใส่ขวดแช่ตู้เย็นไว้ใช้สระผม เก็บได้นาน ๑-๒ สัปดาห


ทั้งนี้ก่อนสระผมควรราดน้ำบนผมให้เปียกชุ่มเสียก่อน ใช้น้ำมะกรูดปริมาณพอดีๆ นวดหนังศีรษะไปด้วยขณะสระผม ทิ้งไว้ ๒-๓ นาทีก่อนล้างออกและสระด้วยน้ำมะกรูดซ้ำอีกครั้ง ล้างออกให้สะอาดไม่ให้มีเศษมะกรูดหลงเหลืออยู่ ระวังอย่าให้น้ำมะกรูดเข้าตาหรือถูกปาก ถ้ารู้สึกแสบทั้งหนังศีรษะแสดงว่าน้ำมะกรูดข้นไปต้องผสมน้ำให้เจือจาง
กรดมะนาวที่อยู่ในน้ำมะกรูดจะช่วยขจัดคราบสารชะล้างที่ตกค้างบนเส้นผม ทำให้หวีผมได้ง่าย และน้ำมันจากผิวมะกรูดช่วยให้ผมดกเป็นเงางาม
 

ส่วนต่างๆ ของมะกรูดมีคุณสมบัติดังนี้
ใบมะกรูด มีรสปร่า กลิ่นหอม ดับกลิ่นคาว แก้ไอ แก้ช้ำใน

ผลมะกรูด ตัดจุกผลมะกรูด คว้านไส้กลางออก ใส่มหาหิงส์แล้วปิดจุก นำไปเผาไฟจนดำเกรียม บดเป็นผงละลายกับน้ำผึ้งใช้กิน จะช่วยขับลมแก้ปวดท้อง หรือใช้ป้ายลิ้นเด็กอ่อนเป็นยาขับขี้เทาได้ ใช้เป็นยาขับลมแก้ปวดท้องในเด็กอ่อนด้วย

น้ำมะกรูด มีรสเปรี้ยว ใช้ผลมะกรูดผ่าซีกเติมเกลือ ลนไฟให้เปลือกนิ่ม บีบน้ำมะกรูดลงในคอทีละน้อยๆ ช่วยกัดเสมหะ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว กัดเถาดานในท้อง แก้ระดูเสีย ฟอกโลหิต ขับระดู ขับลมในลำไส้ ใช้ถูฟันแก้เลือดออกตามไรฟัน

ผิวมะกรูด มีรสปร่า กลิ่นหอมร้อน ขับลมในลำไส้ ขับระดู ขับผายลม ฝานบางๆ ชงน้ำเดือดใส่การบูรเล็กน้อย กินแก้ลมวิงเวียน บำรุงหัวใจและช่วยให้ระบบไหลเวียนของเลือดดี

ราก มีรสจืดเย็น แก้ไข้ ถอนพิษสำแดง แก้ลมจุกเสียด กระทุ้งพิษไข้ แก้พิษฝีภายใน แก้เสมหะ
 

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์
มะกรูดเด่นที่น้ำมันหอมระเหย พบทั้งในใบและเปลือกของผลที่เรียกว่าผิวมะกรูด โดยผิวมะกรูดจะมีน้ำมันหอมระเหยร้อยละ ๔ ส่วนใบจะมีน้ำมันหอมระเหยร้อยละ ๐.๐๘  สารเคมีหลักที่พบในน้ำมันหอมระเหยจากผิวมะกรูดคือ สารกลุ่มเทอร์พีนโมเลกุลสั้น บีตาไพนีน ไลโมนีน และซาบินีนร้อยละ ๓๐.๖ ๒๙.๒ และ ๒๒.๖ ตามลำดับ

ส่วนสารหลักที่พบในใบมะกรูดคือซิโทรเนลลัล มีปริมาณถึงร้อยละ ๖๕-๘๐ และพบซิโทรเนลลิลประมาณร้อยละ ๑๐ จึงทำให้ใบมะกรูดมีกลิ่นคล้ายตะไคร้นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ทั้งใบและผลมะกรูดจึงสามารถนำไปใช้ไล่แมลงได้
 

ฤทธิ์ยับยั้งจุลินทรีย์
ฤทธิ์ยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ของผิวมะกรูดอยู่ที่ส่วนน้ำมันหอมระเหย มะกรูดสามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ได้เนื่องจากมีสารเจอรานิออล นิโรลิออล ลินาโลออล และเทอร์พีนีออล ซึ่งเป็นสารกลุ่มเทอร์พีนอยู่ในน้ำมันหอมระเหย จะเห็นว่าการใช้น้ำมะกรูดที่มีส่วนผสมของสารสกัดผิวมะกรูดสระผมจะระงับการเจริญของเชื้อราที่เป็นสาเหตุของการเกิดรังแคและมีอาการคันศีรษะได้ ทำให้หนังศีรษะมีสุขภาพดีอยู่เสมอ
 

ฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน
น้ำมันผิวมะกรูดมีสารไลโมนีน แกมมาเทอร์พีน อัลฟ่าและบีตาไพนีนร้อยละ ๒๙ ๐.๑  ๒.๕ และ ๓๐.๖  ตามลำดับ การทดสอบสารสกัดผลส้มชนิดหนึ่งที่ไต้หวันพบมีสารเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญในปี พ.ศ.๒๕๕๒ พบว่าสารสกัดเปลือกส้มดังกล่าวมีผลช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินในหนูทดลอง จึงคาดการณ์ได้ว่าน้ำมันผิวมะกรูดน่าจะมีฤทธิ์ดังกล่าวเช่นกัน การกินอาหารที่ใส่ผิวมะกรูด หรือต้มมะกรูดทั้งใบก็น่าจะช่วยกระตุ้นการหลั่งอินซูลินในผู้ป่วยเบาหวานได้บ้างไม่มากก็น้อย      
 

ฤทธิ์การกำจัดอนุมูลอิสระ
งานวิจัยทางโภชนศาสตร์ในห้องทดลองจากสหรัฐอเมริกา ปี พ.ศ.๒๕๔๘ พบว่าสารลิโมนอยด์ไกลโคไซด์จากเปลือกผลพืชตระกูลส้ม เป็นสารที่มีฤทธิ์กำจัดอนุมูลอิสระ และหยุดการเติบโตและกระตุ้นการตายของเซลล์มะเร็งหลายชนิดแบบอะพ็อปโทซิส เนื่องจากน้ำมันผิวมะกรูดมีสารลิโมนอยด์เป็นองค์ประกอบถึงร้อยละ ๒๙ การกินอาหารที่มีน้ำมันผิวมะกรูดจะช่วยรักษาสมดุลของร่างกายจากการก่อกลายพันธุ์ที่อาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งได้

 

ฤทธิ์ต้านการอักเสบ
งานวิจัยจากญี่ปุ่น พ.ศ.๒๕๔๒ พบว่า สารกลุ่มคูมารินจากผลมะกรูด คือเบอร์กาม็อตติน อ็อกซีพิวเซดานิน และอนุพันธ์ของอ็อกซีโซราเล็น มีฤทธิ์ต้านการสร้างกรดไนตริกในห้องทดลอง จึงมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ
 

ความเป็นพิษ
น้ำมันผิวมะกรูดมีสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้เมื่อถูกแสงแดด มีรายงานทางการแพทย์ว่าพบผู้ป่วยที่มีอาการแพ้ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันมะกรูดเป็นส่วนผสม ถ้าจะลองผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำมันผิวมะกรูดให้ลองในปริมาณน้อยๆ ก่อน

ต้มยำกุ้งของคนไทยมีดีอย่างนี้นี่เองจึงเป็นอาหารสุขภาพที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่เมื่อเราทราบความลับของผิวมะกรูดอย่างนี้แล้วจะไปหาสูตรไส้กรอก ปลาแนม แกมส้มซ่าผิวมะกรูดกินได้ที่ไหนหนอ คนไทยโบราณนี่ท่านฉลาดกินจริงๆ ค่ะ

 

ข้อมูลสื่อ

378-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 378
ตุลาคม 2553
รศ.ดร.กรณ์กาญจน์ ภมรประวัติธนะ