• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมอง : บ่อเกิดทุกข์ แหล่งสร้างสุข

ช่วงวันหยุดวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา เมื่อปลายเดือนที่ผ่านนี้ ผมได้มีโอกาสไปพักผ่อนที่ต่างจังหวัด ท่ามกลางธรรมชาติอันร่มรื่นและเงียบสงบ เอื้อให้ผมเขียนกาพย์ได้เรื่องหนึ่ง ชื่อว่า "สมองคนฝึกฝนได้" ซึ่งได้นำมาลงไว้ท้ายข้อเขียนนี้

ในระยะนี้ผมได้อ่านหนังสือหลายเล่มที่ว่าด้วยการทำงานของสมองมนุษย์* ซึ่งได้นำเสนอข้อมูลการค้นคว้าวิจัยใหม่ๆ ของนักวิทยาศาสตร์ด้านสมองไว้อย่างน่าสนใจยิ่ง
สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ พอประมวลเป็นหลักๆ ได้ดังนี้

๑. สมองมนุษย์ ซึ่งประกอบด้วยเซลล์ประมาณ ๑ แสนล้านตัว มีน้ำหนักเพียงร้อยละ ๒ ของน้ำหนักตัว แต่ใช้พลังงานถึงร้อยละ ๒๐ ของพลังงานที่ร่างกายใช้ทั้งหมดในแต่ละวัน พลังงานได้จากอาหาร (มีน้ำตาลเป็นหลัก ถ้าขาดน้ำตาล เช่น อดอาหาร หิว สมองจะตื้อ ไม่แจ่มใส รุนแรงมากถึงขั้นหมดสติได้) และออกซิเจน (การหายใจเข้าออกลึกๆ ยาวๆ จะนำออกซิเจนไปบำรุงเลี้ยงสมองได้มาก ทำให้ความคิดแจ่มใส สดชื่น)

๒. สมองถือเป็นศูนย์บัญชาการชีวิต ทำหน้าที่ในการรับรู้-รู้สึก-นึกคิด-จดจำ-และสั่งการ ทำให้ชีวิตโลดแล่นไปในแต่ละวัน โดยมีการรับรู้/เรียนรู้ เกิดอารมณ์ความรู้สึกและความคิดต่างๆ แล้วแสดงพฤติกรรมตอบสนองหรือตอบโต้ออกมาในรูปของคำพูดและการกระทำ เกิดกิจกรรมและการปฏิสัมพันธ์กับผู้คนและสิ่งแวดล้อมอันมากมาย (ทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ)

๓.
 เนื่องจากเซลล์สมอง ๑ ตัวสามารถ
เชื่อมโยงกับเซลล์ข้างเคียงได้ถึง ๒,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ ตัว เกิดเป็นโครงข่ายซับซ้อนยิ่งกว่าใยแมงมุม ทำให้มนุษย์จำเก่ง คิดเก่ง
คนเรามีความจำเป็นเลิศ จำได้มาก ได้ลึก ได้นาน โดยมีการสั่งสมข้อมูลจากการรับรู้/เรียนรู้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เกิด ซึ่งมีทั้งความรู้ ความเชื่อ ประสบการณ์ และค่านิยม จนเกิดเป็น "กรอบความคิด" (หรือ "กระบวนทัศน์") อันเป็นอัตลักษณ์ของแต่ละคนซึ่งไม่ซ้ำกับคนอื่น แล้วใช้ "กรอบความคิด" (ซึ่งเปรียบเสมือนการสวมใส่แว่นตาสีต่างๆ) นั้นๆ ในการแปลความ ตัดสิน แสดงอารมณ์และพฤติกรรม เมื่อมีการรับรู้สิ่งกระทบ (ภาพ เสียง กลิ่น รส สัมผัส) ในแต่ละครั้ง

คนเราคิดเก่ง สามารถคิดได้นาทีละ ๓๐-๖๐ เรื่อง (ลองสังเกตเวลาถูกสิ่งกระทบอะไร ก็มักจะเกิดความรู้สึกและความคิดซึ่งโลดแล่นไปเรื่อยๆ) ความคิดไม่นิ่งอยู่กับที่ มักจะคิดหวนเรื่องอดีต (ด้วยความผิดหวัง เสียใจ เศร้าใจ) หรือไม่ก็ห่วงใยถึงอนาคต (ด้วยความกลัว กังวล ไม่แน่ใจ)

ว่ากันว่าสมองเรามี "เสียงดัง" อยู่ตลอดเวลา ไม่ค่อยสงบเงียบ เกิดความเครียด ความกดดันอยู่เรื่อยๆ จนอาจกลายเป็นโรคประสาท โรคกังวล โรคซึมเศร้า

๔. 
จากวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เราสามารถแบ่งสมองมนุษย์เป็น ๓ ส่วนหลัก ได้แก่

(๑) สมองส่วนหลัง (ซึ่งเป็นสมองของสัตว์เลื้อยคลาน และนก ปลา ขอเรียกว่า "สมองตะกวด") ทำหน้าที่ควบคุมสัญญาณชีพ และสัญชาตญาณเพื่อการอยู่รอด (หาอาหาร สืบพันธุ์ รู้สึกกลัวภัย และรู้จักหนีจากอันตราย)

(๒) สมองส่วนกลาง (ซึ่งเป็นสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชั้นต่ำ ขอเรียกว่า "สมองสุนัข" หรือ "ศูนย์อารมณ์") ทำหน้าที่ในการมีอารมณ์ความรู้สึก (รัก ชอบ เกลียด โกรธ อิจฉา ฯลฯ) และสร้างความรักความผูกพัน แบ่งแยกเราเขา เกิดความรู้สึกในความเป็นตัวตน (self หรือ ego)

๓) สมองส่วนหน้า (ซึ่งพัฒนาขึ้นใหม่ในมนุษย์ ไม่พบในสัตว์อื่น ขอเรียกว่า "สมองมนุษย์" หรือ "ศูนย์เหตุผล") ทำหน้าที่ในเรื่องเชาวน์ปัญญา การใช้เหตุผล การวางแผน การตัดสินใจ การรู้จักตนเอง การรู้จักยับยั้งชั่งใจ การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และการมีศีลธรรม หากสมองส่วนหน้าได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็ง จะสามารถควบคุมสมองส่วนกลางหรือ "ศูนย์อารมณ์" ได้

๕. สำหรับคนทั่วไป ในการรับรู้สิ่งกระทบแต่ละครั้ง กระแสประสาทที่เกิดขึ้นจะวิ่งไปที่ศูนย์อารมณ์ก่อนศูนย์เหตุผลเสมอ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความกลัวภัยเพื่อเตรียมหนีภัยให้ตัวเองอยู่รอดปลอดภัยไว้ก่อน เช่น เห็นเชือกไหวในที่สลัว คนที่กลัวงูก็คิดว่าเป็นงูไว้ก่อน หรือเห็นถุงดำแผ่บนพื้นในที่สลัว คนที่กลัวสุนัข (อาจมีประสบการณ์เคยถูกสุนัขกัด) ก็จะคิดว่าเป็นสุนัขไว้ก่อน ดังนั้นคนเราจะเคยชินกับการรับรู้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกและความคิดที่เป็นด้านลบ เช่น กลัว หวาดระแวง (เช่น เห็นเขาพูดซุบซิบก็นึกว่าถูกนินทา เห็นแฟนเดินคู่กับคนอื่นก็คิดว่าเป็นกิ๊กกัน เป็นต้น)

ว่ากันว่าในแต่ละวัน ความคิดของเราจะเป็นลบมากกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความเครียด ความทุกข์ใจนั่นเอง

สรุปก็คือ คนทั่วไป (ปุถุชน) มีธรรมชาติของสมอง (ทางวิ่งของกระแสประสาทให้เกิดอารมณ์เหนือเหตุผล) ที่ทำให้คิดและทำในด้านลบ (อกุศล) อย่างเป็นไปเองโดยอัตโนมัติ จึงง่ายต่อการคิดไม่ดี ทำไม่ดี


. การคิดนำไปสู่การกระทำ การกระทำซ้ำๆ บ่อยๆ จะกลายเป็นนิสัยและบุคลิกภาพแห่งตนในที่สุด สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์กับการเรียงตัวเชื่อมต่อของเซลล์ในสมองเป็นวงจรที่จำเพาะแน่นอน


๗. แต่เดิมเชื่อว่า สมองเป็นก้อนเนื้อที่แข็งตัวและเซลล์สมองมีแต่เสื่อมตายไปเรื่อยๆ ปัจจุบันมีข้อค้นพบใหม่ คือ สมองมีความยืดหยุ่น อ่อนตัว (ประกอบด้วยน้ำ ร้อยละ ๗๘ ไขมันร้อยละ ๑๒ โปรตีนร้อยละ ๘ ที่เหลือเป็นคาร์โบไฮเดรตและเกลือ) และเซลล์สมองมีการงอกขึ้นใหม่ได้ ดังนั้นเซลล์สมองมีการเรียงตัวเชื่อมต่อเป็นวงจรใหม่ๆ ได้อยู่เรื่อยๆ เมื่อมีการเรียนรู้อะไรใหม่ (เช่น กีฬา ดนตรี ทักษะต่างๆ) ก็จะเกิดวงจรใหม่ในสมอง 

คนที่เคยคิดไม่ดี ทำไม่ดี หากหยุดเสีย วงจรสมองที่ไม่ดีก็จะเลือนหายไปได้
และถ้าหันกลับมาคิดดีทำดี ทำถูกต้อง ก็จะเกิดวงจรใหม่ของสมองที่ดีเข้าแทนที่
นี่คือเหตุผลว่า มนุษย์เราเป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ดัดได้ (เวไนยสัตว์) นั่นเอง
 

๘. นอกจากฝึกคิดดี ทำดีอย่างสม่ำเสมอ (เช่น การทำงานจิตอาสา ช่วยเหลือผู้อื่น การฝึกฟังอย่างลึก การเข้าใจเห็นอกเห็นใจผู้อื่น) เพื่อการสร้างวงจรดีๆ ในสมองแล้ว ก็ควรฝึกเจริญสติตื่นรู้อยู่กับปัจจุบัน (ตามหลักสติปัฏฐาน ๔) อยู่ทุกขณะ จะช่วยเสริมสร้างสมองส่วนหน้า(ศูนย์เหตุผล) ให้แข็งแรง จนสามารถควบคุมศูนย์อารมณ์ กลายเป็นผู้ที่ควบคุมกำกับความคิด ตัดความคิดฟุ้งซ่าน และใช้เหตุผลเหนืออารมณ์ได้
การคิดดี ทำดี และการเจริญสติเป็นอุปกรณ์นำพาไปสู่ ชีวิตที่ประเสริฐและความสุข

                                           สมองคนฝึกฝนได้
                              จิตใจมักใฝ่ต่ำ          ตามธรรมชาติสมองคน
                         อารมณ์นำเหตุผล          เมื่อตัวตนโดนกระทบ
                                   พึงฝึกสติรู้           พลังสู้อารมณ์ลบ
                         เหตุผลเข้าข่มขบ           กระทบหากระเทือนไม่
                            ชื่อว่าเวไนยชน            สมองคนฝึกฝนได้ 
                     ปรับเปลี่ยนวงจรใหม่          นิสัยร้ายกลายเป็นดี
                         ทุกวันหมั่นพัฒนา           สติกล้าบนฐานสี่*
                               คิดดีและทำดี           จักลิขิตชีวิตงาม 

                                                                        สุรเกียรติ อาชานานุภาพ
                                                             ๒๖กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๓ อาสาฬหบูชา  

*สติปัฏฐานสี่ หมายถึงที่ตั้งแห่งสติ (ระลึกรู้) ๔ อย่าง คือ กาย (ลมหายใจ อิริยาบถ การเคลื่อนไหว) เวทนา (ความรู้สึก เช่น อร่อย ไพเราะ ถูกใจ ไม่ถูกใจ ชอบ ไม่ชอบ)  จิต (ความคิด เช่น โลภ โกรธ อิจฉา) ธรรม (กฎแห่งความจริง เช่น กฎไตรลักษณ์ อริยสัจสี่) 

 

ข้อมูลสื่อ

377-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 377
กันยายน 2553