• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เหวี่ยงแหรักษาโรค

การเหวี่ยงแหรักษาโรค ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนก็เหมือนการเหวี่ยงแหหาปลา ซึ่งมักจะได้ปลาจำนวนมาก หลากหลายทั้งชนิดและขนาด ถือว่าลองได้เหวี่ยงแหไปแล้วต้องมีปลาติดมาบ้างโอกาสพลาดก็มีไม่มาก

การรักษาโรคในปัจจุบันก็มีอยู่ไม่น้อยที่ใช้การรักษาแบบเหวี่ยงแห นั่นคือ พยายามรักษาให้ครอบคลุมไว้ก่อน ผู้ป่วยบ่นอะไร เป็นอะไร ก็รักษาหมดทุกอย่าง เช่น บ่นเวียนศีรษะก็ให้ยาแก้เวียนศีรษะ บ่นว่าไอก็ให้ยาแก้ไอ รู้สึกปวดก็ไห้ยาแก้ปวด ตรวจพบค่าความดันโลหิตสูงก็ให้ยาลดความดัน เป็นต้น

วิธีการเช่นนี้หากมองผิวเผินก็ดูเหมือนว่าถูกต้องแล้ว มีอาการอะไรก็รักษา แต่บางครั้งการทำเช่นนี้อาจเข้าข่าย "การเหวี่ยงแหรักษาโรค" ซึ่งเป็นการรักษาตามอาการหรือแยกส่วนโรค อาจจะไม่ถูกต้องเที่ยงตรงเสมอไป แตกต่างจาก "การรักษาแบบองค์รวม" ที่มีการผสมผสานองค์ความรู้ทั้งหมดนำมาวิเคราะห์ปัญหาของผู้ป่วย โดยเชื่อมโยงกับการทำงานระบบต่างๆ ของร่างกาย และหาความสัมพันธ์ของปัญหาต่างๆ เพื่อจะได้ให้การรักษาอย่างรอบคอบและไม่แยกส่วน ตัวอย่างเช่น

► อาการไอ บางครั้งอาจเกิดจากการกินยาลดความดันบางประเภท ถ้าเปลี่ยนยาความดันอาการไอก็หาย

► อาการเวียนศีรษะ อาจเกิดจากการใช้ยาลดความดันที่แรงเกินไป ความดันตกลงมาก อย่างนี้ต้องไปปรับยาความดันไม่ใช่กินแต่ยาแก้เวียนศีรษะ 

►ความดันโลหิตสูงชั่วคราว เพราะมีอาการปวด ตื่นเต้น เครียด หรือวิธีการวัดความดันไม่ถูกต้อง ก็ต้องพิจารณาให้ดีก่อนจะใช้ยาลดความดัน

ผู้ป่วยบางคนมีอาการป่วยหลายอย่าง บางอย่างก็เป็นเพียงแค่อาการไม่สบายแต่ไม่ใช่โรค การปรับวิถีชีวิตก็สามารถบรรเทาอาการได้โดยไม่ต้องใช้ยา หรือบางกรณีจัดว่าเป็นโรคจริงแต่ไม่มีวิธีรักษาที่พิสูจน์ว่าได้ผล ขณะที่บางกรณีก็เป็นโรคที่จำเป็นต้องรักษา

กรณีต่างๆ เหล่านี้ก็ต้องพิจารณาว่าจะรักษาโรคอะไร รักษาอย่างไร โดยไม่จำเป็นต้องรักษาทุกอย่างที่เป็นความผิดปกติ เพราะบางครั้งอาจเป็นการสร้างปัญหาเพิ่มขึ้นก็ได้
การรักษาโรคแบบแยกส่วนแยกระบบ มากจนเกินไปนั้น อาจไม่สามารถแก้ปัญหาของผู้ป่วยได้ เพราะปัญหาต่างๆ อาจเชื่อมโยงกัน


มีตัวอย่างผู้ป่วยหญิงชราคนหนึ่ง อายุ ๗๐ ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง กินยาเบาหวานและยาลดความดันมาตลอด ระยะหลังมีอาการเวียนศีรษะมาก เดินเองแทบไม่ไหว กินยาแก้เวียนศีรษะก็แค่พอทุเลาชั่วครู่แล้วก็มีอาการอีก จนทำกิจกรรมอะไรแทบไม่ได้ สอบถามได้ความว่า รักษาโรคเบาหวานและความดันมาหลายปี ไม่เคยขาดยา แต่อาการมีแต่ทรงกับทรุด

เมื่อวัดความดันโลหิตท่านั่ง (ตัวบน) ได้ ๑๖๐ แต่พอให้ยืนขึ้นเหลือแค่  ๑๓๐ ต่างกันค่อนข้างมาก พิสูจน์อย่างนี้ ๓ ครั้ง ได้ผลแน่ชัดว่าความดันโลหิตตกลงเมื่อเปลี่ยนท่า ตัวผู้ป่วยก็ไม่เคยวัดความดันแบบเปรียบเทียบเช่นนี้มาก่อน สำหรับการรักษาคือ ให้หยุดยาลดความดันโลหิตและยาอื่นๆ ยกเว้นวิตามินและยาเบาหวาน และให้ดื่มน้ำผสมเกลือแร่ เช้า-เย็น

อีก ๒ วันต่อมาผู้ป่วยกลับมาตรวจซ้ำ วัดความดันโลหิตท่านั่ง (ตัวบน) ได้ ๑๗๐ ท่ายืนได้ ๑๖๕ ผู้ป่วยยิ้มแย้มแจ่มใส บอกว่าทุเลาขึ้นมาก เดินไม่เซ มีแรงมากขึ้น อาการเวียนศีรษะเกือบหายแล้ว จึงได้ให้ยาควบคุมความดันขนาดอ่อนๆ และติดตามอาการก็ดีเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ยาที่เคยกินจำนวนมากเป็นกำมือก็เหลือเพียงไม่กี่เม็ด


การรักษาแบบองค์รวมนั้น เป็นหัวใจสำคัญของการรักษาผู้ป่วย โดยมองที่ปัญหาหลักและเชื่อมโยงปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมา ไม่เน้นการรักษาตามอาการมากเกินไป

ทุกวันนี้ด้วยระบบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแต่ละสาขา ทำให้ผู้ป่วยคนหนึ่งอาจมีแพทย์ร่วมดูแลหลายท่าน ซึ่งถ้าหากไม่มีการพูดคุยปรึกษาหารือเพื่อเชื่อมโยงปัญหาของผู้ป่วยให้ดี ก็มีโอกาสที่จะไปคนละทิศคนละทางได้

ดังนั้น ระบบการประชุมปรึกษาหารือระหว่างแพทย์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะเป็นแนวทางสู่การรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวม ปัญหาก็จะได้รับการแก้ไขอย่างตรงจุด เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ลดความเสี่ยงและการสิ้นเปลืองจากการตรวจรักษา และวิธีการแบบเหวี่ยงแหรักษาโรคก็จะลดน้อยลง

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

377-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 377
กันยายน 2553
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์