• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ร่างกฎหมายอุ้มบุญ (๑)ความหวังของหญิงที่มีบุตรยาก

เมื่อไม่นานมานี้มีข่าวดาราสาวที่ขอให้พี่สาวตั้งครรภ์แทนจนคลอดบุตรสาวตามที่หวังไว้ เรื่องนี้คงทำให้ผู้หญิงหลายคนที่มีบุตรยากหรือไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ด้วยตนเองมีความสนใจที่จะมีบุตรด้วยวิธีการนี้มากขึ้น

การอุ้มบุญหรือตั้งครรภ์แทน๑ โดยใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ (assisted reproductive technology-ART) เป็นเรื่องที่มีมานานราว ๒๐ ปี แต่เพิ่งจะพูดกันอย่างเปิดเผยในสังคมไทยเมื่อไม่นานมานี้ ความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้ผู้หญิงมีบุตรง่ายขึ้นกว่าในอดีต จึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายใหม่เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคต

ในวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๓ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบ "ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ...." ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ และเตรียมนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป จึงขอสรุปเนื้อหาสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับกรณีอุ้มบุญหรือตั้งครรภ์แทน

๑. คู่สมรสที่ต้องการให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทน จะต้องเป็นสามีและภริยาที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และภริยาไม่สามารถตั้งครรภ์ได้เอง คู่สมรสต้องมีความพร้อมทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจที่จะเป็นบิดามารดาของเด็ก โดยใช้ตัวอ่อนของคู่สมรสเอง หรือเป็นตัวอ่อนที่เกิดจากไข่หรืออสุจิของคู่สมรส ปฏิสนธิกับไข่หรืออสุจิของผู้อื่น แต่จะต้องไม่ใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนโดยเด็ดขาด 

๒. หญิงที่ตั้งครรภ์แทนจะต้องมิใช่พ่อ แม่ หรือเป็นบุตรโดยสายเลือดของคู่สมรสที่ต้องการมีบุตร เพื่อมิให้เกิดปัญหาทางจริยธรรมและการลำดับญาติ นอกจากนี้ หญิงที่ตั้งครรภ์แทนจะต้องเป็นหญิงที่เคยมีบุตรมาก่อนแล้ว ถ้าหญิงนั้นมีสามีจะต้องได้รับความยินยอมจากสามีด้วย
กรณีที่หญิงที่ตั้งครรภ์แทนมีสามีหรือคู่นอน ในทางปฏิบัติจะต้องมีการตรวจสุขภาพฝ่ายชายก่อนให้ตั้งครรภ์แทน เพื่อป้องกันปัญหาการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ และระหว่างตั้งครรภ์ก็ควรมีข้อพึงปฏิบัติบางประการด้วย เช่น เลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ขณะตั้งครรภ์ หรือพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ

๓. แพทย์ที่จะให้บริการทางการแพทย์กรณีตั้งครรภ์แทน จะต้องมีคุณสมบัติตามที่แพทยสภาโดยความเห็นชอบของ "คณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์" กำหนด คือต้องเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีวุฒิบัตรทางด้านสูตินรีเวช
ผู้ที่มิใช่แพทย์ไม่สามารถให้บริการทางการแพทย์ในกรณีนี้ได้ รวมทั้งการรับฝาก รับบริจาค ใช้ประโยชน์จากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน หรือทำให้สิ้นสภาพการเป็นตัวอ่อน


(อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ข้อมูลสื่อ

377-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 377
กันยายน 2553
ไพศาล ลิ้มสถิตย์