• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ของฝากจากสงขลา

ผมชอบเมืองสงขลาที่แฝงไว้ด้วยเสน่ห์ของธรรมชาติและความสงบ
มีทั้งทะเลและภูเขา ทะเลมี ๒ ทะเล คือ ทะเลอ่าวไทย กับทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีเกาะยอ (อันมีชื่อเสียงด้านผ้าทอที่มีมาแต่โบราณ) ตั้งอยู่กลางทะเลสาบ เชื่อมกับฝั่ง ๒ ด้านด้วยสะพานอันยาวเหยียด

ในอดีต การเดินทางมาสงขลาส่วนใหญ่จะอยู่แต่ในนครหาดใหญ่ ซึ่งเป็นย่านธุรกิจและศูนย์การศึกษาอันทันสมัยและใหญ่โต ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ จึงคุ้นเคยกับหาดใหญ่มากกว่าเมืองสงขลา ซึ่งเป็นเมืองปิด โดยสัมผัสเมืองสงขลาเพียงแต่แวะไปถ่ายภาพนางเงือกที่หาดสมิหลาและกินอาหารที่ริมทะเลสาบสงขลาเป็นครั้งคราว

ผมได้มีโอกาสพักแรมหลายวันในเมืองสงขลา ครั้งแรกเมื่อ ๓ ปีก่อน ได้เห็นความเป็นเมือง ๒ ทะเล ได้ชื่นชมหาดสมิหลา ขึ้นเขาตังกวนชมวิวของเมืองสงขลา และเดินขึ้นเขาน้อยออกกำลังกายยามเช้า จึงได้สัมผัสเสน่ห์ของเมืองนี้อย่างแท้จริง ประทับใจว่าสงขลาเป็นเมืองน่าอยู่

           

ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ ได้มีโอกาสค้างแรมที่โรงแรมริมหาดสมิหลาอีกคราหนึ่ง
คราวนี้ได้มีเวลาไปชม "สถาบันทักษิณคดีศึกษา" ของมหาวิทยาลัยทักษิณ อาคารพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บนเนินเขา ได้เรียนรู้ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมประเพณีของภาคใต้และเมืองสงขลา จากการเดินชมพิพิธภัณฑ์ที่มีการจัดสิ่งแสดงสาธิตได้ค่อนข้างสมบูรณ์และสวยงาม
ได้ไปเยี่ยมชมกลุ่มทอผ้าที่เกาะยอ และสวนประวัติศาสตร์เปรม ติณสูลานนท์ ได้แวะเข้าภายในตัวเมืองที่เป็นชุมชนประมงเก่า ย่านร้านค้าและที่พักอาศัยของชาวบ้าน มีถนนแคบๆ ซึ่ง ๒ ฟากเรียงรายด้วยห้องแถวเรือนไม้สลับกับตัวตึกสูง ๒-๓ ชั้น

ได้ผ่านไปที่ "ถนนนางงาม" ชุมชนเก่าแก่ แวะกินอาหาร ไอศกรีม และกาแฟโบราณ ถนนแห่งนี้ทางการได้จัดเป็นถนนคนเดินในช่วงเทศกาล ที่นี่ยังสามารถหาซื้อขนมโบราณ รวมทั้งขนมที่คนจีนทำเป็นแป้งทอดเหนียวคลุกน้ำตาลทรายกับงา ที่เรียกว่า "กาลอจี๊" ซึ่งเคยกินในสมัยเด็ก และไม่ค่อยได้เห็นมานานหลายสิบปีแล้ว

สัมผัสชุมชนเก่าแก่ที่นี่ ทำให้ย้อนนึกถึงบรรยากาศที่เงียบสงบแห่งบ้านเกิด (เมืองเพชรบุรี) เมื่อครึ่งศตวรรษก่อน

พักอยู่ที่โรงแรมริมหาดสมิหลา ๓-๔ วัน ทุกวันจะตื่นแต่เช้าออกไปเดิน-วิ่งออกกำลังกายที่ถนนเลียบหาด (ซึ่งทำเป็นสวนหย่อมและสวนสุขภาพ มีผู้คนออกมาเต้นแอโรบิก เล่นโยคะ วิ่งเหยาะ เดินเล่น) และถ่ายภาพตะวันทอแสงที่ขอบฟ้าเหนือทะเล   เพลินกับธรรมชาติจนลืมเวลา ดังบทร้อยกรองข้างบนนี้

ผมยังได้สัมผัสถึงความเป็นเมืองประติมากรรมของเมืองสงขลา ดังคำบอกเล่าของผู้คนที่นี่ เพราะเดินไปไหนจะเห็นรูปปั้นประติมากรรมกระจายอยู่มากจุด นอกจากรูปปั้นนางเงือกอันเป็นสัญลักษณ์ของหาดสมิหลามาเกือบครึ่งศตวรรษแล้ว ก็ยังมีรูปปั้นพญานาค ที่แบ่งเป็น ๓ ท่อน ได้แก่ ท่อนหัว ท่อนลำตัว และท่อนหาง ที่กระจายอยู่ห่างกัน ๓ แห่งของเมือง และประติมากรรมอื่นๆ อันหลากหลาย

             


ที่น่าสนใจและรู้สึกให้ความหมายดี ก็คือรูปปั้น "คนอ่านหนังสือ" ที่หน้าโรงแรมที่พัก เมื่อได้อ่านคำอธิบายความหมายของประติมากรรมชิ้นนี้ที่ว่า "ความรู้สร้างคน คนสร้างชาติ" และได้ยินคำบอกเล่าจากชาวสงขลาว่า เคยมีการดำริของฝ่ายปกครองของเมืองนี้ "สงขลาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้" ผมเลยร้อยกรองอีกบทให้ชื่อว่า "ความรู้สร้างชาติ"

          


ร้อยกรองบทที่ ๓ ที่เขียนขึ้นในคราวนี้ ให้ชื่อว่า "แมวกับหนู"
หลังจากได้เห็นรูปปั้นแมวตัวใหญ่ มีหนูตัวเล็กนั่งอยู่ที่หางแมว ตั้งตระหง่านอยู่ริมหาดสมิหลา ตรงกับแนวของเกาะหนู-เกาะแมว ก็นึกถึงคำของปราชญ์ทางพุทธศาสนา ที่เปรียบเทียบ "แมวคือสติ (ตัวรู้) หนูคืออารมณ์และความคิดปรุงแต่ง (ตัวคิด)" ก็เลยเรียงร้อยถ้อยคำออกมาเป็นกาพย์ดังกล่าว
ทั้งหมดนี้ก็ถือเป็นของฝากจากสงขลาที่นำมอบให้ผู้อ่านทุกท่านครับ

 

 

 

ข้อมูลสื่อ

373-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 373
พฤษภาคม 2553