• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคกับโภชนาการ

นพ.พินิจ กุลละวณิชย์์ กรรมการบริหารแพทยสภา
โรคกับการโภชนาการ

โรคกับโภชนาการอาหารมีทั้งคุณและโทษแก่มนุษย์ การขาดอาหารทำให้เป็นโรคได้ และการกินอาหารมากไป หรือไม่เหมาะสมก็ทำให้เกิดโรคได้เช่นกัน ประเทศที่เจริญแล้วมักมีปัญหากินอาหารมากไป และประเทศที่กำลังพัฒนาและยากจนมักมีปัญหาขาดสารอาหาร ปัจจุบันแม้แต่ประเทศที่กำลังพัฒนาก็มีปัญหาเกี่ยวกับโรคอ้วน
ความอ้วนเกิดจากการกินอาหารมากกว่าที่ร่างกายต้องการ และ/หรือขาดการออกกำลังกาย ร่างกายจึงสะสมส่วนที่เกินไว้ในรูปของไขมัน

ถ้ากินอาหารเท่ากับที่ร่างกายต้องการจะมีน้ำหนักเท่าเดิม
ถ้ากินอาหารน้อยกว่าความต้องการน้ำหนักจะลดลง

คนที่อ้วนอาจกินอาหารปริมาณที่ร่างการต้องการพอดี แต่อดีตอาจเคยกินอาหารมาก ทำให้ร่างกายสะสมไว้หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นของเก่า ขณะนี้ โรคอ้วนเป็นปัญหาที่คุกคามสุขภาพอย่างมาก

ปัจจุบันนี้ (พ.ศ. ๒๕๕๐) มีประชาชนในโลกที่มีน้ำหนักเกิน (over weight) ถึงกว่า     ๑ พันล้านคน และในปี พ.ศ.๒๕๔๕ มีประชาชนที่อ้วนถึง ๓๐๐ ล้านคน
สำหรับประเทศไทย ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงสาธารณสุข (พ.ศ.๒๕๔๗) พบว่า ประชากรไทยที่มีอายุ ๑๕ ปีขึ้นไปมีโรคอ้วน ๑ คนในทุก ๔ คน! หรือร้อยละ ๒๘ โดยผู้หญิงจะอ้วนมากกว่าผู้ชาย  นอกจากนั้น ยังพบว่าประชาชนมีโรคความดันเลือดสูงถึง ๑๐ ล้านคน!

โรคเบาหวานที่มีอาการแล้ว ๓ ล้านคน แต่รักษาควบคุมอาการได้เพียง ๔ แสนคน แต่ยังมีประชากรอีกประมาณ ๑๐ ล้านคน ที่ยังไม่เรียกว่าเป็นโรคเบาหวาน แต่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติ

ค่าปกติของน้ำตาลควรอยู่ไม่เกิน ๑๐๐ มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ถ้าสูงระหว่าง ๑๐๑-๑๒๕ ถือว่าสูงผิดปกติ ถ้าสูง ๑๒๖ ขึ้นไป (ช่วงอดอาหารเย็นมาแล้ว ๑๒ ชั่วโมง) ๒ ครั้ง ถือว่าเป็นโรคเบาหวาน)

ข้อมูลที่น่าสนใจ คือมีการกินน้ำตาลเพิ่มขึ้น จากคนละ ๑๒ กิโลกรัมในปี พ.ศ.๒๕๒๖ เป็น  ๓๐ กิโลกรัมต่อคนต่อปีในปี พ.ศ.๒๕๔๖!

การเพิ่มขึ้นของรอบเอวทุกๆ ๕ เซนติเมตรจะมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้น ๓-๕ เท่า เพราะไขมันที่สะสมไว้ที่พุง จะแตกตัวเป็นกรดไขมันเข้าสู่ตับ ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ในการสลายน้ำตาลในเลือดไม่ดี ทำให้มีน้ำตาลในเลือดสูง ความดันเลือดสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง

การที่จะอ้วนหรือไม่อาจดูได้จากน้ำหนักตัว อัตราส่วน (ratio) ของเอวต่อสะโพก ความหนาของผิวหนัง (skin fold thickness) แต่ที่นิยมใช้มากที่สุดคือ ดัชนีมวลกาย หรือ body mass index (BMI) ซึ่งก็คือน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารความสูง (เป็นเมตร ๒ ครั้ง) เช่น ผู้ที่มี    น้ำหนักตัว ๗๐ กิโลกรัม และสูง ๑.๗๘ เมตร จะมี BMI เท่ากับ ๗๐ หาร ๑.๗๘ (๒ ครั้ง) นั่นคือ ๗๐ หาร ๑.๗๘ (๒ ครั้ง) ผลที่ได้คือ ๒๒.๐๙ ซึ่งถ้า BMI เป็น
น้อยกว่า ๑๘.๕ ผอมไป
๑๘.๕-๒๔.๙ กำลังดี
๒๕-๒๙.๙ น้ำหนักเกิน
มากกว่า ๓๐ อ้วน

แต่การใช้ BMI เป็นการวัดแบบคร่าวๆ ต้องดูโครงร่างด้วยว่าหนาหรือบาง ผู้ที่ยกน้ำหนักมากๆ อาจมี BMI สูง แต่เป็นเพราะมีกล้ามเนื้อมากไม่ใช่ไขมัน
ไขมันในร่างกายจะเกี่ยวข้องกับอายุและเพศ

การเรียกผู้ที่มี BMI ๒๕-๒๙.๙ เป็นเพียงผู้ที่มี    น้ำหนักเกิน จะทำให้คนจำนวนมากประมาท แต่ถ้าเรียกว่าอ้วนพวกเขาจะระวังหรือมีมาตรการลดน้ำหนักมากกว่านี้
 ชาวเอเชียรวมทั้งคนไทย มีโครงสร้างร่างกายบอบบาง องค์การอนามัยโลกจึงให้ค่าปกติของ BMI อยู่ระหว่าง ๑๘.๕-๒๓ เท่านั้น ระหว่าง ๒๓-๒๔.๙ จะถือว่าน้ำหนักเกิน (over weight) เกิน ๒๔.๙ จึงจะถือว่าอ้วน (obese)

การที่คนไทยมีค่า BMI ปกติที่ต่ำ คือไม่เกิน ๒๓ นั้นถือว่าเป็นของดี จะมีส่วนทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคจากภัยอ้วนน้อยลง ไขมันที่ท้องจะมีความเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ แต่ไขมันที่สะโพกไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องมากนัก ฉะนั้นการวัดรอบเอวจะมีความหมายมากสำหรับโรคหัวใจ

ผู้ชายไทยควรมีพุงไม่เกิน ๙๐ เซนติเมตร
ผู้หญิงไทยไม่ควรเกิน ๘๐ เซนติเมตร
ถ้าดูแลพุงร่วมกับการดูแลดัชนีมวลกายไม่ให้เกิน ๒๓ จะเป็นการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต โรคเบาหวาน โรคความดันเลือด โรคเมแทบอลิซึม โรคมะเร็งบางชนิด

เพื่อสุขภาพของทุกคน ควรกินอาหารที่เหมาะสม ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพอย่างถูกต้อง 

ข้อมูลสื่อ

342-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 342
ตุลาคม 2550
นพ.พินิจ กุลละวณิชย์