• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สภาพผักถาวร กับสิทธิการตาย

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๗๔

ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยฝรั่ง ที่เป็นข่าวลือลั่นไปทั่วโลกเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒
เพราะเพิ่งตรวจพบว่า ผู้ป่วยรายนี้สามารถรับรู้อะไรต่างๆ ตลอดระยะเวลา ๒๓ ปีที่ทุกคนเข้าใจว่า เขาอยู่ใน "สภาพผักถาวร" (persistent vegetative state)

"สภาพผักถาวร" มักจะเป็นศัพท์ที่แพทย์ใช้กันในความหมายว่า "ภาวะของผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยตามมาตรฐานทางวิชาการแพทย์ว่ามีการสูญเสียหน้าที่อย่างถาวรของเปลือกสมองใหญ่ที่ทำให้ขาดความสามารถในการรับรู้และติดต่อสื่อสารอย่างยาวนานและถาวร โดยปราศจากพฤติกรรมการตอบสนองใดๆ ที่แสดงถึงการรับรู้ได้ จะมีก็แต่เพียงปฏิกิริยาตอบสนองอัตโนมัติเท่านั้น"

ผู้ป่วยรายนี้เป็นชายชาวเบลเยียม อายุ ๔๖ ปี ชื่อนายรอม (Rom Houben) ซึ่งหลังอุบัติเหตุรถยนต์เมื่อ ๒๓ ปีก่อนเขาก็เป็นอัมพาตทั้งตัว (น่าจะเกิดจากคอหัก หรือสมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง) จนพูดไม่ได้ ขยับแขนขาไม่ได้ และไม่แสดงปฏิกิริยาใดๆ เพื่อบ่งบอกว่าผู้ป่วยรับรู้สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตน

แพทย์ผู้รักษานายรอมจึงลงความเห็นว่า ผู้ป่วยอยู่ใน "สภาพผักถาวร" แต่พ่อแม่ของผู้ป่วยคิดว่าผู้ป่วยรับรู้ได้ แต่ก็ไม่สามารถแสดงหลักฐานของการรับรู้นั้น พ่อแม่ของผู้ป่วยไม่ยอมให้ผู้ป่วยตาย และอดทนดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ๒๓ ปี

ในปัจจุบัน มีเครื่องตรวจสมองแบบพิเศษที่สามารถเห็นการทำงานของสมองได้ พ่อแม่ผู้ป่วยจึงนำผู้ป่วยไปตรวจ และแพทย์ตรวจพบว่าสมองของนายรอมน่าจะรับรู้ได้ จึงช่วยกันสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพิเศษให้นายรอม ซึ่งยังพอกระดิกนิ้วนิ้วหนึ่งได้ และฝึกให้นายรอมใช้นิ้วที่กระดิกได้เพียงนิ้วเดียวนั้นกดลงบนตัวอักษรบนแป้นพิมพ์ดีด โดยมีคนคอยขยับมือให้นิ้วเลื่อนไปมาบนแป้นตัวอักษรจนสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดได้

พบว่านายรอมยังรู้เรื่องทุกอย่าง และได้ระบายความทุกข์ของตนออกมา โดยมีใจความว่า "ผมไม่สามารถทำอะไรได้เลย ทำอะไรไม่ได้เลย ช่วงแรกผมโกรธมากและทรมานมาก แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ในที่สุดผมก็ปล่อยเลยตามเลย และอยู่มาจนถึงวันนี้"
พ่อแม่นายรอมรู้สึกดีใจมาก และนายรอมก็รู้สึกเหมือนได้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่ จึงเป็นข่าวใหญ่โตไปทั่วโลก

จากภาพข่าวในโทรทัศน์ที่แสดงให้เห็นว่า นายรอมนั่งอยู่บนรถเข็น (ผู้ป่วย) โดยมีผู้ช่วยคอยจับมือนายรอมให้ปลายนิ้วที่ใส่เครื่องสัมผัสเลื่อนไปมาบนแป้นตัวอักษรตรงหน้า โดยหน้าและคอของนายรอมอยู่ในท่าเดียว (ที่บิดเบี้ยวไปทางขวา) ตลอด ไม่ขยับเขยื้อนเลย ทำให้คิดว่า นายรอมคงจะใช้เวลาไม่น้อยในการสื่อสาร (โดยต้องมีคนช่วย) แต่ละครั้ง กว่าจะทำให้ผู้อื่นเข้าใจความรู้สึกของตนเอง และ/หรือความต้องการของตนเองได้

อย่างไรก็ตาม ขอชมเชยพ่อแม่ของนายรอมที่อุตสาหะเลี้ยงดูลูกที่ช่วยตนเองไม่ได้เลยจนอยู่รอดปลอดภัยมาถึงอายุ ๔๖ ปี

เพราะการเลี้ยงดูผู้ใหญ่ที่เป็นอัมพาตทั้งตัวเป็นงานหนักและต้องดูแลอย่างใกล้ชิด มิฉะนั้นจะเกิดแผลกดทับ ปอดอักเสบจากการสำลักอาหาร และภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้ตลอดเวลา
การดูแลผู้ใหญ่ที่เป็นอัมพาตทั้งตัวจึงต้องการจิตใจที่เข้มแข็ง เสียสละ และรักเมตตาผู้ป่วยอย่างเต็มที่ เพราะต้องดูแลตลอด ๒๔ ชั่วโมง จึงต้องมีคนที่มีจิตใจแบบเดียวกันคอยผลัดเปลี่ยนกันด้วย มิฉะนั้นจะทำไม่ไหว และเกิดแผลกดทับอย่างรวดเร็ว

สำหรับนายรอมเอง ผู้เขียนยังไม่แน่ใจว่า ความรู้สึกที่ว่า "ได้ฟื้นคืนชีพใหม่" นั้นจะดำรงอยู่ไปได้นานเท่าใด เมื่อตนเองยังอยู่ในสภาพที่ช่วยตนเองไม่ได้เลย และต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งการสื่อสารเพื่อให้ผู้อื่นรู้ถึงความต้องการของตนก็ต้องมีคนช่วยอีกด้วย

คนที่ช่วยตนเองไม่ได้เลยแต่รับรู้ได้ย่อมทุกข์ทรมานมากกว่าคนที่อยู่ในสภาพผักถาวรมากมาย ดังกรณีชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่ตกอยู่ในสภาพคล้ายนายรอม

เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ มีหนุ่มฝรั่งเศสคนหนึ่งอายุ ๒๒ ปี ประสบอุบัติเหตุรถยนต์จนช่วยตนเองไม่ได้ หูหนวก เป็นใบ้ และเป็นอัมพาต หลังจากอยู่ในสภาพที่ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างสาหัสแบบนั้นอยู่ระยะหนึ่ง จึงได้ทำหนังสือร้องขอต่อศาล ขอให้ศาลอนุมัติ "สิทธิที่จะตาย" (right to die) เพราะตนไม่ต้องการอยู่ในสภาพเช่นนั้น แต่ศาลปฏิเสธ แม่ของผู้ป่วยจึงให้ยานอนหลับแก่ลูกจนลูกหมดสติ แต่แพทย์ก็ช่วยชีวิตไว้ด้วยเครื่องช่วยหายใจ ยา และอื่นๆ อยู่เป็นเวลานาน ผู้ป่วยก็ไม่ฟื้นคืนสติ แพทย์จึงตัดสินใจยุติเครื่องช่วยชีวิตและให้ผู้ป่วยตาย เกิดเป็นคดีความยืดเยื้อ จนในที่สุด สภาฝรั่งเศสต้องออกกฎหมายอนุญาตให้แพทย์สามารถยุติเครื่องช่วยชีวิตต่างๆ ในผู้ป่วยที่หมดสติและหมดหวังได้ แต่ไม่อนุญาตให้แพทย์ช่วยผู้ป่วยที่ยังไม่หมดสติ ตายอย่างสงบได้

ต่างกับในประเทศเบลเยียม ที่มีกฎหมายอนุญาตให้แพทย์สามารถให้ยาแก่ผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบได้ แต่ผู้ป่วยต้องมีสติสัมปชัญญะ และสามารถร้องขอซ้ำๆ กันหลายครั้งอย่างมีเหตุผลและมั่นคงหนักแน่น และแพทย์ต้องเห็นตรงกันว่า ผู้ป่วยอยู่ในการเจ็บป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยความเจ็บปวดไม่ว่าทางกายหรือทางใจ

เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๑ นายฮูโก คลอส (Hugo Claus) นักประพันธ์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวเบลเยียม อายุ ๗๘ ปี ได้จบชีวิตของตนเองอย่างสงบโดยการกินยานอนหลับที่แพทย์จัดเตรียมไว้ให้ตามความปรารถนาของผู้ป่วยที่ไม่ต้องการมีชีวิตอยู่จนถึงระยะสุดท้ายของโรคสมองเสื่อม (Alzheimer's disease) โดยภรรยาและลูกหลานก็เห็นด้วยกับการตัดสินใจของเขา และแพทย์ก็ได้จัดการให้ตามความปรารถนาของผู้ป่วย แม้ว่านายฮูโก คลอส จะไม่ได้อยู่ในระยะสุดท้ายของโรคสมองเสื่อมก็ตาม

แต่กระบวนการยุติธรรมและสังคมเบลเยียมก็ยอมรับและชื่นชมการตัดสินใจของนายฮูโก คลอส ที่ไม่ยอมให้ตนเองต้องตายอย่างไม่มีศักดิ์ศรี และเป็นภาระเบียดเบียนตนเอง ครอบครัวและสังคม ถ้าปล่อยให้ตนเองเข้าถึงระยะสุดท้ายของโรคที่ตนจะไม่มีสติสัมปชัญญะพอที่จะร้องขอการตายอย่างสงบและอย่างมีศักดิ์ศรีได้

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศเบลเยียมจะมีกฎหมายอนุญาตให้แพทย์สามารถให้ยาแก่ผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยตายโดยสงบได้ แต่ผู้ป่วยต้องเป็นผู้ร้องขอ และต้องมีเหตุผลอันสมควรแพทย์จึงจะทำเช่นนั้นได้

ในกรณีของนายรอม เมื่อผู้ป่วยและพ่อแม่ของผู้ป่วย (กรณีที่ผู้ป่วยหมดสติ หรือไม่สามารถร้องขอเองได้) ไม่ได้ร้องขอ แพทย์ในเบลเยียมจะให้ยาแก่ผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบไม่ได้ แม้จะวินิจฉัยว่า ผู้ป่วยอยู่ใน "สภาพผักถาวร" ก็ตาม


การที่คนไทยจำนวนหนึ่งห่วงกังวลว่า มาตรา ๑๒ ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๒ ที่บัญญัติว่า

"บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้..." จะทำให้แพทย์ไม่ดูแลรักษาผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้าย จึงเป็นความห่วงกังวลที่ไม่เข้ากับเหตุ

เพราะเหตุที่ทำให้มีกฎหมายมาตรานี้ออกมาบังคับใช้ก็เนื่องจากแพทย์ต้องตรวจรักษาผู้ป่วยในวาระสุดท้ายจนเกินกว่าเหตุ หรือบางแห่งอาจเป็นการ "เลี้ยงไข้" เพื่อผลประโยชน์ของแพทย์ และ/หรือสถานพยาบาลนั้น ทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับความทุกข์ทรมานที่ตนเองไม่ปรารถนา กฎหมายจึงอนุญาตให้ผู้ป่วยทำหนังสือแสดงเจตนาไว้ล่วงหน้าได้

เผื่อว่า ถ้าตนเกิดการเจ็บป่วยกะทันหันจนไม่มีสติสัมปชัญญะพอที่จะบอกแพทย์ถึงความประสงค์ของตน หนังสือนี้จะได้ช่วยแจ้งแพทย์ให้ทราบความประสงค์ของตนได้

อย่างไรก็ตาม กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เป็น "เครื่องมือ" ที่แข็งกระด้างและหยาบ (ไม่ละเอียดพอ) ประกอบกับทุรสมบัติ "ศรีธนญชัย" ของคนไทยส่วนหนึ่งด้วยแล้ว ผู้ป่วยที่หมดหวังหรืออยู่ในระยะสุดท้าย หรือได้รับความทุกข์ทรมานอย่างถาวรอาจประสบความยุ่งยากกว่าเมื่อก่อนมีกฎหมายหรือกฎระเบียบก็ได้

อ่านเพิ่มเติมได้ในหนังสือ "การดูแลผู้ป่วยให้ตายดี" โดยสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน
 

 

ข้อมูลสื่อ

373-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 373
พฤษภาคม 2553
นพ.สันต์ หัตถีรัตน์