• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคซึมเศร้า

หมอชาวบ้าน ฉบับเดือนมิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๓ นี้นำเรื่องโรคซึมเศร้า โดยคุณหมอสมรัก ชูวานิชวงศ์ แห่งโรงพยาบาลศรีธัญญา เป็นเรื่องขึ้นปก ประชาชนควรรู้จักโรคนี้กันให้มากที่สุดและดีที่สุด เพราะจะทำให้ช่วยชีวิตของญาติพี่น้อง เพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่ชีวิตของตัวเองได้

โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่พบมากในประชากร ทั้งชนิดที่เกิดจากพันธุกรรมและจากสิ่งแวดล้อมทางสังคม

โรคซึมเศร้าชนิด ๒ ขั้วนั้นมีอาการเด่นชัดรู้ได้ง่าย บางช่วงเป็นขั้วฟุ้งเฟื่อง (manic) จะว่องไว พูดมาก ใช้เงินมาก ก้าวร้าว คิดสร้างสรรค์เรื่องใหญ่ๆ บางคนถึงขั้นปราดเปรื่อง ในช่วงเช่นนี้เจ้าตัวจะไม่มีความทุกข์ แต่ก่อความทุกข์ให้ผู้อื่น เพราะก้าวร้าวรุกรานได้

แต่คนคนเดียวกัน บางช่วงก็จะเหวี่ยงไปอยู่ขั้วตรงข้าม คือ ฟุบแฟบซึมเศร้า (depressive) ซึ่งจะมีอาการซึม คิดอะไรไม่ออก แม้แต่เรื่องง่ายๆ ที่เคยทำได้ก็จะทำไม่ได้ กลัวไปหมด ขาดความมั่นใจในตัวเอง วิตกกังวล และมีความทุกข์สุดๆ จนกระทั่งทนไม่ไหวถึงกับฆ่าตัวตาย
ถ้าญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน ไม่รู้จักโรคนี้ ก็ไม่ได้ช่วยป้องกันการฆ่าตัวตายที่อาจจะเกิดขึ้น จึงควรศึกษาให้รู้จักโรคนี้กันให้มากๆ

มียาแก้โรคซึมเศร้า องค์การเภสัชกรรมก็ผลิตยานี้ขายประมาณเม็ดละ ๑ บาทเอง และกินวันละ ๑ เม็ดเท่านั้น ผู้ป่วยที่กินยาแก้โรคซึมเศร้าแล้วหลุดจากสภาวะนี้บางคนบอกว่ามีความสุขประดุจบรรลุนิพพาน

ฉะนั้น โรคซึมเศร้ามีทางรักษาให้หายได้ หวังว่ากรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข จะรณรงค์ให้สังคมไทยรู้จักโรคนี้กันอย่างกว้างขวาง และช่วยกันเยียวยาให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคนี้กลับคืนสู่สภาวะปกติ
 
 

ข้อมูลสื่อ

374-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 374
มิถุนายน 2553