ปัจจุบันมะเร็งถือเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ และมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับการตายจากอุบัติเหตุและภาวะเฉียบพลันของโรคหลอดเลือดหัวใจ
ปี พ.ศ.๒๕๔๙ ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง ๖๖,๐๐๐ ราย
ผู้ชายพบมะเร็งปอดมากที่สุด ๕,๕๓๕ ราย รองลงมาคือมะเร็งตับ
ผู้หญิงพบมะเร็งปากมดลูกมากที่สุด ๑,๔๘๔ ราย รองลงมาคือมะเร็งปอด มะเร็งเต้านม
โรคมะเร็งในทัศนะแพทย์แผนปัจจุบัน
มะเร็ง คือ กลุ่มของโรคที่เกิดขึ้นจากการแบ่งเซลล์ที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เซลล์เหล่านี้เข้าไปทำลายเนื้อเยื่ออื่นๆ รอบข้าง เมื่อเซลล์เจริญเติบโตมากขึ้น จะเข้าไปเบียดเนื้อเยื่ออื่นๆ (การบุกรุก) หรือเกิดการกระจายของเซลล์มะเร็งไปยังที่อื่นๆ ที่ไกลออกไป (การแพร่กระจายของเนื้อร้าย)
สาเหตุ
เชื่อว่ามะเร็งเกิดจากการกลายพันธุ์ของดีเอ็นเอภายในเซลล์ ทำให้ข้อมูลทางพันธุกรรมที่ควบคุมการทำงานของเซลล์สูญเสียไป
มะเร็งกำเนิดจากเซลล์ร่างกายที่สามารถแบ่งเซลล์ได้ แต่การแบ่งเซลล์ได้พัฒนาจนไม่สามารถควบคุมให้หยุด มีการแบ่งเซลล์ต่อไปเรื่อยๆ สาเหตุเนื่องจากมีการวิวัฒนาการ เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครโมโซมภายในเซลล์ ทำให้ผลิตเอนไซม์ที่สร้างทีโลเมีย (telomere) ในเซลล์อย่างไม่หมดสิ้น เป็นเหตุให้ไม่สามารถหยุดแบ่งเซลล์ได้
ทีโลเมีย (telomere) เปรียบเหมือนนาฬิกาที่นับถอยหลังไปเรื่อยๆ เซลล์แต่ละเซลล์มีอายุจำกัด ขณะนั้นเซลล์ยังสามารถแบ่งเซลล์ต่อไป ในภาวะปกติทีโลเมียจะหดสั้นลงเรื่อยๆ และเมื่อสายทีโลเมีย (telomere) หมดก็จะทำให้เซลล์หยุดแบ่งตัว ทำให้มนุษย์ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ จึงต้องหยุดเจริญเติบโต สำหรับเซลล์มะเร็งทีโลเมีย (telomere) ไม่หดสั้น ทำให้ไม่สามารถควบคุมและหยุดยั้งการแบ่งเซลล์เหมือนภาวะปกติได้
วิธีการตรวจวินิจฉัย
การตัดเนื้อเยื่อ (tissue biopsy)
การส่องกล้องตรวจวินิจฉัยระบบทางเดินอาหารส่วนต้นและส่วนปลาย โดย Endoscopy, bronchoscopy หรือ nasoendoscopy
การตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์สแกน (CT Scan) เครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI) การทำอัลตราซาวนด์ และการตรวจทางด้านรังสี เครื่อง SPECT, PET/CT
การตรวจเลือด และการตรวจหา Tumor markers เพื่อช่วยวินิจฉัยโรคมะเร็งในระยะเริ่มแรก หรือช่วยในการติดตามผลของการรักษา ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ป่วยที่จะมีโอกาสหายจากมะเร็งได้มากขึ้น
เทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันสามารถตรวจสอบการเกิดของเนื้องอกได้ในระดับหนึ่ง เรียกว่า ตัวบ่งชี้เนื้องอก หรือ Tumor marker ซึ่งเป็นการตรวจจากเลือด หรือสารคัดหลั่ง (biological fluid) แต่เป็นการตรวจเบื้องต้นทางชีวเคมี เพื่อหาสารที่ไม่พบในภาวะปกติ หรือเป็นสารปกติ
การรักษาโรคมะเร็งตามแนวคิดแบบตะวันตก
มีหลักการรักษาดังนี้ คือ
๑. การผ่าตัด
๒. การฉายรังสี
๓. การใช้เคมีบำบัด
๔. การใช้การรักษาทั้ง ๓ วิธีร่วมกัน
๕. การรักษาโดยการเสริมภูมิคุ้มกัน
๖. การรักษาทางภาวะจิตใจ
การผ่าตัด ฉายรังสี และเคมีบำบัด เป็นการรักษาด้านหลัก มีความสามารถในการทำลายก้อนมะเร็งค่อนข้างสูง ขจัดเซลล์มะเร็งออกจากร่างกายได้ แต่ขณะเดียวกันก็ทำลายเซลล์ปกติของร่างกายด้วย จึงก่อให้เกิดผลข้างเคียงตามมาเป็นจำนวนมาก สำหรับโรคมะเร็งนั้นแพทย์แผนปัจจุบันจะใช้วิธีการรักษาเพื่อยืดอายุผู้ป่วยให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้นานที่สุด
การผ่าตัด
การผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาที่ได้ทั้งการมุ่งหวังให้โรคหายขาด ในกรณีที่โรคยังเป็นน้อย และเพื่อเป็นการบรรเทาอาการชั่วคราวในกรณีที่โรคเป็นมากแล้ว มีรายงานทางการแพทย์ที่กล่าวถึงประวัติของการรักษาโรคมะเร็งโดยวิธีผ่าตัดมาตั้งแต่ ๕ ศตวรรษก่อนคริสตกาล ปัจจุบันนี้ ศัลยแพทย์ผู้ผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งจะต้องชำนาญ และฝึกฝนมาทางด้านนี้โดยเฉพาะ และจะต้องรู้ประวัติธรรมชาติของโรคมะเร็งเป็นอย่างดี
วิธีการผ่าตัด อาจจะตัดเฉพาะก้อนมะเร็งออกเท่านั้น หรือเลาะต่อมน้ำเหลืองและเนื้อเยื่อที่ดีบริเวณใกล้เคียงออกไปด้วย
นอกจากจะผ่าตัดโดยใช้มีดผ่าธรรมดาแล้ว ในปัจจุบันยังมีวิวัฒนาการ โดยการผ่าตัดด้วยมีดไฟฟ้า การผ่าตัดโดยใช้ความเย็นระหว่าง -๒๐ ถึง -๑๕๐ องศาเซลเซียส การผ่าตัดร่วมกับการใช้ยาจี้ให้ผิวหนังไหม้ในการรักษามะเร็งผิวหนัง และการใช้แสงเลเซอร์แทนมีดผ่าตัด การผ่าตัดเหล่านี้ทำให้ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออกได้ง่ายขึ้น เสียเลือดน้อยลงและใช้เวลาในการผ่าตัดน้อยลงด้วย
การผ่าตัดนอกจากจะมีบทบาทในด้านการรักษาแล้ว ยังมีบทบาทในด้านการวินิจฉัยโดยการนำชิ้นเนื้อมาตรวจ
รังสีรักษา
รังสีรักษา เป็นวิธีการรักษาที่ใช้ได้ทั้งการมุ่งหวังให้โรคหายขาดและเพื่อการบรรเทาอาการชั่วคราว ผู้ป่วยชาวไทยส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ ๖๐-๘๐ ของผู้ป่วยมะเร็งทั้งหมดมักจะได้รับการรักษาด้วยรังสีเพราะอยู่ในระยะที่เป็นมากแล้ว และการรักษาด้วยรังสีเพื่อบรรเทาอาการ
รังสีที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง มี ๒ กลุ่มใหญ่ (มีเทคนิคใหญ่ๆ ๒ แบบ) คือ ต้นกำเนิดรังสีอยู่ภายนอกร่างกายของผู้ป่วย ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของการฉายรังสีลึก เช่น จากเครื่องฉายรังสีเอกซ์ชนิดลึก และอีกแบบหนึ่งอยู่ในรูปของต้นกำเนิดรังสีอยู่ภายในร่างกายของผู้ป่วย ได้แก่ การฝังแร่เรเดียมในการรักษามะเร็งในช่องปาก การสอดใส่แร่เรเดียมในการรักษามะเร็งปากมดลูก หรือการกินไอโอดีน ๑๓๑ ในการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ เป็นต้น
การใช้เคมีบำบัด
ชนิดของยาอาจจะแบ่งออกเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ ไม่ใช่ฮอร์โมน และฮอร์โมน หรือจะแบ่งตามลักษณะการออกฤทธิ์ของยาทางจลนศาสตร์ของเซลล์ได้เป็น ๒ ประเภท คือ
ออกฤทธิ์ต่อเซลล์ได้ทุกระยะในวงชีพของเซลล์โดยไม่จำกัดเวลา เช่น ยาประเภทไนโตรเจน มัสตาร์ด เป็นต้น
ออกฤทธิ์จำกัดได้เฉพาะระยะใดระยะหนึ่ง ในวงชีพของเซลล์เท่านั้น เช่น ยาประเภทแอลคาลอยด์ (alkaloid) จากพืชบางอย่างออกฤทธิ์ได้เฉพาะเซลล์ที่กำลังอยู่ในระยะแบ่งตัวหรือยาเมโทรเทรกเซต (methotrexate) จะออกฤทธิ์เฉพาะเซลล์ที่กำลังมีการสร้างดีเอ็นเอเท่านั้น
ยารักษามะเร็ง
การใช้ยารักษามะเร็ง แบ่งได้ตามวิธีใช้ คือ
๑. ใช้ยาเฉพาะที่ เช่น ในรูปของการใช้ทา การฉีดเข้าไขสันหลัง
๒. การใช้ยาให้ซึมซาบทั่วร่างกาย เช่น ในรูปของการกิน
๓. การใช้ยาฉีดเข้าหลอดเลือด อาจรักษามะเร็งเฉพาะที่หรือทั้งระบบป้องกันการกระจาย
การใช้ยารักษามะเร็ง แบ่งตามรูปแบบการรักษา
๑. ใช้ยารักษาเป็นหลัก คือ ใช้ยา (ชนิดเดียวหรือหลายชนิดก็ได้) รักษาเพียงวิธีเดียว เช่น การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือมะเร็งระยะกระจายตัวแล้ว
๒. ใช้ยาร่วมกับการรักษาวิธีอื่น เช่น การให้ยารักษามะเร็งภายหลังการผ่าตัด เพื่อหวังในการป้องกันการแพร่กระจาย หรือร่วมกับการฉายรังสี
การใช้การรักษาทั้ง ๓ วิธีร่วมกัน
ปัจจุบันนี้นิยมใช้วิธีการรักษาหลายๆ วิธีร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้นหรือสะดวกขึ้น เช่น
- การผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษา เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด โดยการผ่าตัดเอามะเร็งปฐมภูมิออก และฉายรังสีไปที่มะเร็งทุติยภูมิที่ต่อมน้ำเหลือง
- การผ่าตัดร่วมกับสารเคมีบำบัด เช่น มะเร็งปอด การผ่าตัดร่วมกับรังสีรักษาและสารเคมีบำบัด เช่น มะเร็งของไตในเด็ก
- รังสีรักษาร่วมกับสารเคมีบำบัด เช่น มะเร็งของอวัยวะต่างๆ ที่อยู่ในระยะที่เป็นมากแล้ว
ยาสารเคมีที่ให้ในการรักษามะเร็ง อาจให้การรักษาด้วยยาเคมีบำบัดอย่างเดียว หรือให้ร่วมกับการรักษาวิธีอื่น ยาเคมีบำบัดเมื่อให้เข้าสู่ร่างกายจะไปทำลายเซลล์มะเร็ง และทำลายเซลล์ปกติบางส่วนด้วยทำให้เกิดอาการข้างเคียง
ยาเคมีบำบัดจะเข้าไปขัดขวางกระบวนการเจริญเติบโตของวงจรชีวิตเซลล์ทำให้เซลล์ตาย ยาแต่ละตัวออกฤทธิ์แตกต่างกันในการรักษา และประกอบด้วยยาหลายชนิดที่ให้ร่วมกัน
ยาเคมีบำบัดสามารถบำบัดอาการดังนี้
- รักษาโรคมะเร็ง
- ป้องกันการขยายตัวของเซลล์มะเร็ง
- บรรเทาอาการปวดของโรคมะเร็ง
การรักษามะเร็งนั้นมักขึ้นอยู่กับการตรวจวินิจฉัยจุดที่เป็นโรค และมีวิธีที่ให้การรักษาแบบ ผสมผสานของศัลยกรรม รังสีรักษา เซลล์มะเร็ง เคมีบำบัด การรักษาโดยการใช้ฮอร์โมน และการรักษาโดยการเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เพื่อที่จะได้กำจัดเซลล์มะเร็งให้หมดไปจากร่างกาย เพื่อให้ผู้ป่วยหายจากโรคมะเร็ง
ภายหลังจากการรักษาดังกล่าวแล้ว ก็จะมีการฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย เป็นการดูแลให้ร่างกายฟื้นตัวหลังผ่าตัด ฉายแสง หรือหลังการได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ซึ่งร่างกายต้องการสารอาหารและการพักผ่อน ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยง เช่น งดสุรา บุหรี่ ไม่นอนดึก และพฤติกรรมการกิน เฝ้าระวังการกลับเป็นซ้ำ โดยการตรวจติดตามเป็นระยะ โดยการตรวจเลือด และตรวจทางรังสี
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดมะเร็ง
ตลอดระยะเวลา ๒๐ ปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์พบว่ามีหลายปัจจัยเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง
๑. อาหารเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง การกินอาหารที่ทำมาจากพืช รวมทั้งการรักษาน้ำหนักให้เหมาะสม และการออกกำลังกายจะทำให้ร่างกายสามารถต่อต้านโรคมะเร็งได้ เนื่องจากสารอาหารและวิตามินในพืชช่วยให้ร่างกายซ่อมแซมเซลล์ได้ดี ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และยังทำลายสารที่จะก่อให้เกิดมะเร็ง นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าการกินผักและผลไม้เพิ่ม ๒ หน่วยร่วมกับการออกกำลังกายเพิ่มจะสามารถป้องกันมะเร็งได้ร้อยละ ๖๐-๗๐ เช่น การเปลี่ยนขนมปังธรรมดาเป็นขนมปังธัญพืช
๒. การกินเนื้อสัตว์ให้น้อยลงลดอัตราการเกิดมะเร็ง
๓. ความอ้วน ควรรักษาน้ำหนักที่เหมาะสมและออกกำลังกายเป็นประจำ ความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งต่างๆ เช่น มะเร็งมดลูก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งลำไส้ มะเร็งที่ไต มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งทรวงอก มะเร็งไขกระดูก มะเร็งที่ตับอ่อน มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮอดจ์กิ้น และมะเร็งรังไข่
๔. ลดการดื่มสุราและสูบบุหรี่
๕. อาหารที่มีปริมาณไขมันสูง ควรเลือกกินอาหารที่มีปริมาณไขมันต่ำ
เชื่อว่าอาหารมันและเกลือจะเพิ่มโอกาสเป็นมะเร็งโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัวและไขมัน trans fats (partially hydrogenated oils) ซึ่งไขมันทั้งสองเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อมะเร็งและโรคหัวใจ แต่มิได้ห้ามกินอาหารมันเพราะอาหารมันก็มีประโยชน์ต่อร่างกายแต่ไม่ควรรับมากเกินไป
๖. ปรุงอาหารอย่างถูกต้อง การปรุงอาหารพวกเนื้อสัตว์โดยเฉพาะการย่างด้วยไฟที่อุณหภูมิสูงจะทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง เนื่องจากน้ำมันที่ถูกไฟไหม้จะก่อให้เกิดสาร polycyclic aromatic hydrocarbons ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง ควรจะเลี่ยงไปใช้วิธีอื่น เช่น การอบ การใช้ไมโครเวฟ การต้ม การทอดในน้ำ เป็นต้น
๗. การไม่สำส่อนทางเพศ เพราะการมีเพศสัมพันธ์จะทำให้เกิดการติดเชื้อเริม และเชื้อไวรัสโรคเอดส์ ซึ่งทั้งสองโรคดังกล่าวจะทำให้เกิดมะเร็ง
๘. การใช้ครีมป้องกันแสงแดดโดยเฉพาะตอน ๑๐.๐๐-๑๕.๐๐ น. หากใช้ครีมที่มี SPF อย่างน้อย ๑๕ จะช่วยลดการเกิดมะเร็งผิวหนังได้
๙. ความเครียดทางอารมณ์ เป็นสาเหตุของการเกิดอนุมูลอิสระและทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำ
ฉบับหน้า อ่าน "โรคมะเร็ง" ในทัศนะแพทย์แผนจีน
-
- อ่าน 5,823 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้