• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ศัลยกรรมทำเหตุ

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๗๕

ผู้ป่วยรายนี้เป็นผู้ป่วยฝรั่งอีกคนหนึ่ง ที่เป็นข่าวลือลั่นไปทั่วโลกอีกเช่นเดียวกัน
เธอคือ นางงามอาร์เจนตินา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๗ นามว่า นางแม็กนาโน (Solange Magnano) ซึ่งในปัจจุบันอายุ ๓๘ ปี แต่งงานแล้ว และมีลูกแฝด ๒ คน อายุ ๘ ขวบ

เธอมีครอบครัวที่อบอุ่น เศรษฐฐานะดี มีความสมบูรณ์พร้อมทุกอย่าง และยังมีผู้เชิญเธอเป็นนางแบบในงานแฟชั่นโชว์ต่างๆ

แต่น่าเสียใจที่เธอคิดว่า สะโพก (บั้นท้าย) ของเธอยังไม่งามพอ จึงไปให้ศัลยแพทย์ตกแต่ง (plastic surgeon) ที่ศูนย์ศัลยกรรมตกแต่งในเมืองบัวโนสไอเรส (Buenos Aires) เมืองหลวงของประเทศอาร์เจนตินาทำการตกแต่ง "บั้นท้าย" ให้ ด้วยการฉีดของเหลว (ซิลิโคน) เข้าไปในบั้นท้ายของเธอเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๒

วันรุ่งขึ้น เธอมีอาการไม่สบาย หอบเหนื่อย และอ่อนแรง จึงถูกนำส่งโรงพยาบาล แพทย์ตรวจพบว่า ของเหลวที่ถูกฉีดเข้าไปในร่างกายเธอได้หลุดไปอุดหลอดเลือดปอด ทำให้ปอดของเธอไม่สามารถรับออกซิเจนได้ เธอจึงหอบเหนื่อยมาก และเสียชีวิตในวันต่อมาแม้แพทย์จะช่วยเธออย่างเต็มที่แล้ว

นับว่าเป็นการเสียชีวิตที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ในประเทศไทยก็มีข่าวการเสียชีวิตจากการเสริมความงามด้วยศัลยกรรมตกแต่งเป็นครั้งเป็นคราวอยู่เสมอ (ที่ไม่เป็นข่าวก็คงจะมีอีกมาก)

ในอดีต คำพังเพยไทยที่ว่า "ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง" นั้นหมายถึง การแต่งกาย ซึ่งรวมถึงการแต่งหน้าทาปาก ทำผม หรือใช้เครื่องปรุงแต่งภายนอกให้ดูสวยงาม หรูหรา ฟู่ฟ่า มากน้อยเพียงใดก็ได้ ซึ่งไม่ค่อยรบกวนสุขภาพมากนัก

ถ้าแต่งหน้ามาก ก็จะรู้สึกรำคาญ คัน หรือเหนอะหนะ
ถ้าใช้เสื้อผ้าที่รัดรูปมาก ก็จะรู้สึกแน่น คับ อึดอัด หายใจไม่สะดวก ก้มๆ เงยๆ ลำบาก
ถ้าใช้เครื่องประดับที่มีราคาแพง ก็ต้องคอยกังวลว่าจะสูญหายหรือถูกทำร้าย เป็นต้น

ในอดีต ไม่ค่อยมีใครที่อยากจะเจ็บตัวด้วยการผ่าตัดเพื่อเสริมความงาม ศัลยแพทย์ตกแต่งในสมัยก่อนจึงทำหน้าที่ช่วยเหลือคนพิการ เช่น ปากแหว่งเพดานโหว่ ใบหน้าฉีกขาด หรือมีแผลเป็นจากอุบัติเหตุ หรือไฟไหม้น้ำร้อนลวก จมูกหักเพราะอุบัติเหตุหรือโดนทำร้าย เป็นต้น

แต่เมื่อลัทธิ "วัตถุนิยม" (อกและสะโพกต้องใหญ่เท่านั้นเท่านี้ หนังตาต้อง ๒-๓ ชั้น แต่คอต้องไม่มี "ชั้น" หรือไม่มี "เหนียง" ฯลฯ) และ "บริโภคนิยม" จากฝรั่งเข้ามามอมเมาคนไทย จึงมีการเสริม "เต้า" เสริม "สะโพก" เสริม "ตา" ดึงหน้า-ดึงคอให้ตึง ฯลฯ

แพทย์จึงถูกครอบงำด้วย "วัตถุนิยม" และ "บริโภคนิยม" ด้วย จึงเห็นช่องทางในการหากินด้วยศัลยกรรมตกแต่งเสริมความงามให้แก่ประชาชนที่ไม่ได้เจ็บป่วยหรือพิการ ทำให้ศัลยกรรมตกแต่งเสริมความงามแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว กลายเป็น "ธุรกิจการแพทย์" ที่ทำเงินได้อย่างมหาศาล

อันที่จริง แพทย์ทุกคนควรมีจรรยาแพทย์ และควรจะให้การตรวจรักษา เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นต้องตรวจรักษาเท่านั้น

เพราะการตรวจและการรักษาแต่ละอย่างมักจะมีผลข้างเคียงและภาวะแทรกซ้อนได้เสมอ ซึ่งบางครั้งก็คาดไม่ถึงว่ามันจะเกิดขึ้นได้ และเมื่อเกิดขึ้นแล้ว บางครั้งก็เป็นอันตรายถึงชีวิต
แต่ในกรณีของนางงามอาร์เจนตินา ภาวะแทรกซ้อนเช่นนั้นเกิดขึ้นบ่อย และแพทย์ที่ดีไม่ควร "ตามใจ" คนปกติที่มาขอเสริมความงามเช่นนั้น

แพทย์ที่ดีควรชี้แจงผลเสียของการกระทำเช่นนั้น และย้ำไปได้เลยว่า การฉีดสารไปเสริมสะโพกนั้นมีอันตราย และจะคงรูปร่าง (คงความสวย) อยู่ได้ไม่นาน (ไม่ถาวร) สารเหล่านั้นอาจหลุดไปกองอยู่ตรงนั้นตรงนี้ ทำให้สะโพกเป็นก้อนผิดที่จนดูน่าเกลียดกว่าเดิมได้ และที่สำคัญคือ อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ถ้า "ลูกค้า" ยืนยันจะทำให้ได้ ก็ควรแนะนำให้ไปหาที่ทำที่อื่น เพราะแพทย์ที่ดีย่อมไม่ทำในสิ่งที่เป็นอันตรายโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะเมื่อคนคนนั้นเป็นคนปกติ (First principle is to do no harm)

ถ้าเป็นผู้ป่วย เช่น หลอดเลือดแตกในสมอง จำเป็นต้องผ่าตัดสมองเพื่อห้ามเลือด หรือนำเลือดที่คั่งออก แพทย์ก็จำเป็นต้องผ่าตัดสมองทั้งที่การผ่าตัดสมองอันตรายมาก แต่เมื่อมันเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยผู้ป่วยได้ แพทย์ก็จำเป็นต้องทำ เป็นต้น

การเป็นหมอ จึงไม่ใช่สักแต่ว่ามีความรู้และมีฝีมือแล้วก็จะเป็นหมอได้
ความรู้และฝีมือ ทำให้ตรวจผู้ป่วยและรักษาผู้ป่วยได้อย่างช่างซ่อมรถยนต์สามารถซ่อมรถยนต์ได้เท่านั้น

ดังนั้น คนที่ตรวจรักษาผู้ป่วยได้แบบช่างซ่อมรถยนต์นั้น ไม่ควรจะเรียกว่า "หมอ" ควรจะเรียกว่า "ช่างซ่อมสุขภาพ" (หรือ "ช่างเสริมความงาม" สำหรับกรณีของนางงามอาร์เจนตินา) จะถูกต้องและเหมาะสมกว่า

เพราะคน (ไม่ว่า "คนสุขภาพดี" หรือ "ผู้ป่วย") เป็นสิ่งมีชีวิตและมีจิตใจ
รถยนต์ไม่มีชีวิตและจิตใจ "ช่าง" จะทุบ ตี เคาะ ถอด เปลี่ยน "โป๊ว" อย่างไรก็ได้
แต่คนที่มาหาหมอมีชีวิต จิตใจ และความคิด ถ้าหมอจะรักและเมตตาคนที่มาหา เสียเวลาชี้แจง และอธิบายข้อดีข้อเสียของการตรวจ และ/หรือการรักษาแต่ละอย่างให้เขาเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งคงไม่มีใครที่อยากจะเจ็บตัว เสียเงิน เสียเวลา และอาจจะเสียชีวิตดังกรณีนางงามอาร์เจนตินา (ที่ชีวิตก็สมบูรณ์พร้อมอยู่แล้ว)

ความผิดจึงไม่ได้อยู่ที่คนมาหาหมอ (ไม่ว่าจะเป็น "คนสุขภาพดี" หรือ "ผู้ป่วย") แต่อยู่ที่ "หมอ" ที่ไม่ใช่ "หมอ" ต่างหาก

เพราะ "หมอ" คือ ผู้ที่รักและเมตตาผู้ป่วย (หรือ "คนสุขภาพดี") ที่มาหาหมอ และพยายามทำในสิ่งที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์ที่สุดต่อผู้ป่วย (หรือ "คนสุขภาพดี") นั้น

ไม่ใช่มุ่งแต่จะหาประโยชน์เข้าตนเอง จนมองไม่เห็นอันตรายที่จะเกิดกับผู้ป่วยจากการตรวจรักษาของตน

 

 

ข้อมูลสื่อ

374-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 374
มิถุนายน 2553
นพ.สันต์ หัตถีรัตน์