• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แบกน้ำหนัก แบกโรค ลดน้ำหนัก ลดโรค

ในวงเสาวนาเรื่อง "หลอดเลือดดี ชีวียืนยาว" ที่สำนักนักพิมพ์หมอชาวบ้าน เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มีสมาชิกวัย ๗๒ ปีท่านหนึ่งเล่าว่า

"แต่ก่อนดิฉันมีน้ำหนักตัวมาก หมอตรวจพบว่ามีทั้งโรคความดันสูง ไขมันสูง และปวดเข่าจากข้อเสื่อม ต้องคอยหาหมอกินยาอยู่ประจำ หลังจากได้ฝึกเรียนวิธีสร้างสมดุลร่างกาย โดยการควบคุมอาหาร บริหารร่างกาย ฝึกหายใจลึก โดยทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง สามารถลดน้ำหนักไปได้ ๗ กิโลกรัม (จาก ๗๘ เหลือ ๗๑) โรคต่างๆ ก็ทุเลาไป จนเวลานี้หมอไม่ต้องให้ยามากิน..."

คุณป้าเล่าด้วยความภูมิใจที่สามารถเอาสุขภาพคืนมาด้วยตนเองได้ พร้อมทั้งสาธิตวิธีบริหารร่างกายให้วงเสวนาดู


วงเสวนาได้หันมาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องของโรคอ้วน
ท่านหนึ่งอายุ ๘๐ ปี เป็นเบาหวาน กินยารักษามาหลายปี ได้สนใจออกกำลังกายเป็นประจำจนคุมน้ำหนักตัวและระดับน้ำตาลได้ดี เล่าว่ามีหลานชายน้ำหนักมาก

ที่ประชุมสงสัยว่าคุณปู่แสดงแบบอย่างที่ดีให้เห็นทำไมหลานจึงมีปัญหาเรื่องความอ้วน
สมาชิกท่านนี้ก็เฉลยว่า ลูกชาย (พ่อของหลานคนนี้) ไม่ได้ใส่ใจดูแลสุขภาพตนเอง พาลูกบริโภคอาหารขยะที่ไม่ส่งเสริมสุขภาพ จนมีน้ำหนักเกินทั้งคู่

สมาชิกอีกท่านหนึ่งที่เคยเป็นอาจารย์สอนในสถาบันการศึกษาก็ได้อภิปรายแสดงความเห็นเกี่ยวกับระบบการศึกษาที่ไม่สามารถสร้างคนให้มีความคิดความอ่าน เยาวชนคนรุ่นใหม่จึงมีค่านิยมในวัตถุและการบริโภค คล้อยตามแฟชั่นและค่านิยมผิดๆ ชอบกินอาหารขยะที่มีแป้งและไขมันสูง ทำให้เกิดโรคอ้วนระบาดกันไปทั่ว

แต่ก่อนเมื่อพูดถึงปัญหาทุพโภชนาการ มักหมายถึง ภาวะขาดอาหาร น้ำหนักน้อย แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นปัญหาการบริโภคเกิน น้ำหนักมาก ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นในหมู่เยาวชน จนบางคนกลายเป็นโรคเบาหวาน (จากความอ้วน) ตั้งแต่วัยเด็ก
การจัดการกับปัญหานี้ ต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวและโรงเรียน

พ่อแม่ผู้ปกครอง จะต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีในการดูแลสุขภาพตนเอง เอาใจใส่ปลูกฝังลูกหลานให้มีนิสัยที่ดีในการดูแลสุขภาพ รวมทั้งการบริโภคอย่างเหมาะสม บ่มเพาะเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้คิดเป็น แยกแยะได้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร อย่าให้กระแสวัตถุนิยม บริโภคนิยมครอบงำได้

โรงเรียนก็มีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังความคิดและนิสัยการรักสุขภาพ รวมทั้งการจัดสิ่งแวดล้อม ได้แก่ โรงอาหาร ที่ส่งเสริมการจำหน่ายอาหารสุขภาพ ปลอดจากอาหารขยะ
สังคมจะต้องตื่นตัวและพึงถือเอา "โรคระบาดใหม่" นี้ เป็นเป้าหมายในการรณรงค์แก้ไขอย่างจริงจัง

ทางการแพทย์มีหลักฐานชัดเจนว่า ภาวะน้ำหนักเกิน มีผลเสียหายต่อสุขภาพ ยิ่งอ้วนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีอันตรายมากขึ้นเท่านั้น

นอกจากทำให้เรารู้สึกเหนื่อยง่ายเวลาทำอะไร นอนหลับยาก นอนกรน ปวดหลัง ปวดข้อ มีผื่นแดงหรือโรคเชื้อราตามผิวหนัง (บริเวณขาหนีบ ขาพับ) แล้ว ความอ้วนยังก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาอีกมากมาย เช่น ความดันเลือดสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ไขมันเกาะตับ โรคหัวใจ อัมพฤกษ์ อัมพาต ข้อเข่าเสื่อม นิ่วในถุงน้ำดี มีบุตรยาก ประจำเดือนผิดปกติ โรคซึมเศร้า เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งหลายชนิด (เช่น มะเร็งปากมดลูก มดลูก รังไข่ เต้านม ลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมาก)

ดังนั้น จึงถือว่าความอ้วนเป็นโรคอย่างยิ่ง
ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน ควรหาทางลดน้ำหนักด้วยการควบคุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ดังกล่าว

สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกินมากๆ ก็อย่าท้อใจว่าจะต้องลดให้สู่เกณฑ์ปกติให้ได้ (ซึ่งอาจจะต้องลดถึง ๒๐-๓๐ กก.ขึ้นไป) มีหลักฐานพิสูจน์ว่าขอให้ตั้งใจลดน้ำหนัก แม้ได้เพียงบางส่วน (เช่น ๕-๑๐ กก.) ก็มีผลต่อการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้เช่นกัน

 

ข้อมูลสื่อ

375-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 375
กรกฎาคม 2553