• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สอด ส่อง เสี่ยง

มนุษย์เราจัดเป็นสัตว์ชั้นสูงที่มีความเฉลียวฉลาดและอยากรู้อยากเห็นมาก แม้แต่รูมด รูหนู รูปลวก หรืออื่นๆ ก็ยังพยายามหาวิธีนำกล้องสอดเข้าไปศึกษาดูชีวิตของพวกมัน เรียกว่า สอดได้สอด ส่องได้ส่อง เสี่ยงได้ก็จะเสี่ยง

แม้แต่ในวงการแพทย์ก็เช่นกัน มีการพัฒนาความรู้และวิธีการด้านการวินิจฉัยและรักษาโรคให้ดีขึ้นและทันสมัยมากขึ้น เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ก็ได้รับการพัฒนาและเกิดขึ้นมาใหม่อยู่เรื่อยๆ รวมถึงเครื่องมือที่ใช้สำหรับตรวจหรือสอดเข้าไปในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเพื่อวินิจฉัยโรค และบางครั้งก็ใช้ในการรักษาโรคได้ด้วย

การนำเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ มาสอด-ส่อง-เสี่ยงนี้ ก่อให้เกิดประโยชน์มาก เช่น การส่องกล้องตรวจดูความผิดปกติของปากมดลูก การส่องกล้องตรวจอุ้งเชิงกรานโดยการเจาะผ่านผนังหน้าท้องเพื่อตรวจสภาพภายในอุ้งเชิงกราน หรือที่พบบ่อยๆ คือการส่องกล้องเข้าไปดูในทางเดินอาหาร (มีทั้งแบบส่องส่วนบนดูกระเพาะ และส่องส่วนล่างเพื่อดูลำไส้) โดยจะช่วยวินิจฉัยความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับทางเดินอาหาร เช่น มีเนื้องอก มะเร็ง หรือมีแผลในทางเดินอาหาร เป็นต้น ซึ่งจะช่วยในการรักษาอย่างทันท่วงทีและถูกต้องแม่นยำขึ้น
จะเห็นได้ว่าเครื่องมือต่างๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดประโยชน์ในการตรวจรักษาอย่างมาก แต่เมื่อมองในอีกมุมหนึ่งแล้ว ถ้าไม่มีโทษอยู่บ้างก็คงจะไม่นำมาบอกกล่าวกัน
 

การสอดสายต่างๆ เข้าไปตามท่อเพื่อตรวจรักษาโรคมีหลายอย่าง บางอย่างนอกจากสอดสายเข้าไปแล้ว ยังมีการสอดกล้องขนาดจิ๋วแต่แจ๋วเข้าไปส่องดูภายในอวัยวะต่างๆ หรือถ้าไม่มีรูให้สอดก็ใช้เข็มหรือเครื่องมือบางอย่างเสียบเข้าไปแทน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ท่อของอวัยวะนั้นอักเสบ ท่อแตก ติดเชื้อ หรือท่อตัน เป็นต้น

นอกจากนี้ คงปฏิเสธไม่ได้ถึงเรื่องค่าใช้จ่ายในการตรวจซึ่งมักจะมีราคาสูง เพราะรวมถึงค่าแรงแพทย์ ค่าอุปกรณ์ และค่าบริการอื่นๆ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการทำหัตถการต่างๆ เหล่านี้มีตั้งแต่หลายพันไปจนถึงหลายแสนบาท ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น ความสำคัญของอวัยวะที่ตรวจ ความยากง่ายของการตรวจ ราคาของเครื่องมืออุปกรณ์ แพทย์ ทีมงาน และสถานที่ตรวจ เป็นต้น แพทย์บางคนใช้เวลา สอด-ส่อง ประมาณ ๑๕ นาที คิดค่าแรง ๑๐,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ บาท บางคนใช้เวลาไปมากกว่านั้นค่าแรงก็ต้องสูงขึ้น
      

ที่จริงแล้วเราควรให้ความเป็นธรรมกับแพทย์ด้วย เพราะแพทย์เองก็ต้องทุ่มเทไปมากทั้งแรงกายแรงใจและกำลังทรัพย์ในการศึกษา เรียนรู้และฝึกฝนการใช้เครื่องมืออุปกรณ์จนได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในการทำหัตถการต่างๆ ยิ่งทุกวันนี้มีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องเป็นเงินจำนวนมากหากเกิดความผิดพลาดขึ้น จนบางคนพูดว่า ค่าแรงแพทย์นั้นไม่เท่าไหร่ แต่ค่าใช้จ่ายที่ว่ามากนั้นเป็นค่าความเสี่ยงที่อาจจะถูกเอาคืนมากกว่า
      

ทางออกที่เหมาะสมเมื่อจะต้องมีการตรวจด้วยวิธีการ สอด-ส่อง-เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะใดก็ตาม ก่อนที่จะทำทุกครั้งแพทย์กับผู้ป่วยต้องพูดคุยกันให้เข้าใจ แพทย์ต้องอธิบายถึงความจำเป็นในการทำ มีเหตุผลและข้อบ่งชี้ที่หนักแน่นพอและก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยจริงๆ ตัวผู้ป่วยเองหากสงสัยตรงไหนก็ต้องซักถามจนมีความเข้าใจตรงกัน และต้องเป็นทางเลือกที่ดี โดยมีเหตุผลว่าไม่ทำไม่ได้ หรือไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า
     

นอกจากนี้ ถ้าแพทย์ลืมบอกถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ผู้ป่วยก็ควรสอบถาม เช่น มีอาการแทรกซ้อนอะไรบ้าง สังเกตได้อย่างไร และจะต้องทำอะไรถ้าเกิดอาการผิดปกติ เป็นต้น นอกจากนี้แพทย์ก็ต้องอธิบายขั้นตอนการทำโดยสังเขป รวมถึงประมาณค่าใช้จ่ายในการทำด้วย
    

เรื่องต่างๆ เหล่านี้เป็นสิทธิของผู้ป่วยที่สามารถสอบถามได้ อย่าเกรงใจแพทย์จนเกินไป การพูดคุยกันให้เข้าใจก่อนจะช่วยลดปัญหาที่ตามมา ทั้งในเรื่องของผลการรักษา ภาวะแทรกซ้อน และค่าใช้จ่ายต่างๆ      

แต่ถ้าหากผู้ป่วยยังรู้สึกคลางแคลงใจอยู่ จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญท่านอื่น เพื่อขออีกความคิดเห็นหนึ่ง ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้เช่นกัน
       

      

ข้อมูลสื่อ

375-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 375
กรกฎาคม 2553
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์