• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สุขภาพคนทำงาน ยกแขนสูงกว่าไหล่

การทำงานของคนเราโดยทั่วไปจะใช้แขนอยู่ในระดับต่ำกว่าไหล่หรือสูงเพียงระดับไหล่เท่านั้น อาจมีบางครั้งที่ต้องยกแขนเหนือกว่าระดับไหล่บ้าง แต่ถ้าการยกแขนนั้นเป็นการยกของหนัก หรือยกซ้ำๆ บ่อยๆ อาจเป็นต้นเหตุของเอ็นกล้ามเนื้อไหล่ถูกหนีบ (impingement syndrome) และเกิดอาการเจ็บ อักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อไหล่ได้ กลุ่มอาการเอ็นกล้ามเนื้อไหล่ถูกหนีบ

โรคเอ็นกล้ามเนื้อไหล่ถูกหนีบ เป็นกลุ่มอาการที่เอ็นของกล้ามเนื้อที่ประคองข้อไหล่และทำให้ข้อไหล่กระชับกับกระดูกสะบัก ถูกหนีบเมื่อเคลื่อนไหวข้อไหล่ ซึ่งกล้ามเนื้อดังกล่าวมีทั้งหมด ๔ มัด แต่ที่พบบ่อยที่สุดคือ กล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่กางแขน ซึ่งเกาะจากกระดูกสะบักบริเวณบ่ามาที่กระดูกต้นแขน

คนที่เป็นโรคนี้มีตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงสูงอายุ โดยผู้ที่อายุน้อยมักเกิดจากการทำงานซ้ำๆ กัน ทำให้มีการอักเสบของเอ็นนั้นๆ สำหรับวัยกลางคนจะพบการหนาตัวของเนื้อเยื่อและเอ็นบริเวณนั้น และถ้าในผู้สูงอายุ จะพบการเปลี่ยนแปลงของกระดูก คืออาจมีการงอกของกระดูก ทั้งกระดูกต้นแขนบริเวณที่เอ็นเกาะ และกระดูกสะบักบริเวณที่เหนือต่อกระดูกต้นแขน

อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บมากขึ้นเมื่อทำงานในท่าที่ ต้องยกแขนเหนือศีรษะ อาการเจ็บอาจเป็นลักษณะเป็นๆ หายๆ หรือเจ็บตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับระยะ   ของโรค และความรุนแรงของโรคอาการเจ็บจะอยู่บริเวณหัวไหล่ด้านหน้า และอาจมีการร้าวไปรอบๆ หัวไหล่ได้ เวลากลางคืนอาจมีการปวดเพิ่มขึ้น สาเหตุ เพราะนอนทับแขนที่เจ็บ การไหลเวียนของเลือดลดลง และขณะที่นอนไม่มีกิจกรรมใดๆ เข้ามาแทรกทำให้รู้สึกถึงความเจ็บได้ชัดเจนขึ้น บางรายถ้ามีการฉีกขาดของเอ็นจะมีอาการเจ็บค่อนข้างมาก ซึ่งพบมากให้ผู้ที่ใช้แรงงานหรือผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับความหนักของงาน

ถ้ามีการอักเสบอยู่ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บที่ไหล่ตลอดเวลา เมื่อการอักเสบนั้นลดลงผู้ป่วยจะมีอาการก็ต่อเมื่อยกแขนขึ้นหรือใช้งานแขนเท่านั้น โดยเมื่อยกหรือกางแขนจนถึงจุดหนึ่งคือประมาณ ๖๐-๗๐ องศาขึ้นไป กล้ามเนื้อที่เอ็นมีการอักเสบจะเริ่มทำงานและเมื่อยกขึ้นจนถึง ๙๐ องศาเอ็นนั้นจะไปสีกับกระดูกสะบักทำให้เกิดอาการเจ็บแปล๊บ จนกระทั่งยกขึ้นต่อไปไม่ได้ ทำให้ไม่อยากยกแขนหรือกางแขน และหากไม่ทำการรักษาอาจมีผลต่อเนื่องคือทำให้เยื่อหุ้มข้อไหล่ยึดรั้งและส่งผลทำให้ข้อไหล่ติดแข็ง เนื่องจากการไม่ใช้งานของข้อไหล่

บางรายอาจมีการอักเสบของถุงน้ำที่อยู่เหนือเอ็นนั้นร่วมด้วย ทำให้มีอาการเจ็บมากแม้อยู่เฉยๆ และสามารถเห็นการบวมแดงบริเวณด้านหน้าของไหล่อย่างชัดเจน เมื่อคลำดูก็จะมีอาการเจ็บเพิ่มขึ้น และรู้สึกได้ถึงความร้อนที่สูงขึ้น

สาเหตุ
สาเหตุที่ชัดเจนที่สุดคือ จากการทำงานที่ต้องยกแขนเหนือศีรษะบ่อยๆ หรือยกของหนักขึ้นที่สูง ทำให้เอ็นมีการเสียดสีกับกระดูกสะบักโดยถ้ายกของหนักด้วยจะทำให้กระดูกต้นแขนถูกดึงขึ้นข้อไหล่จึงมีแนวโน้มแคบลงทำให้เอ็นถูกหนีบได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นหากกระดูกสะบักชิ้นส่วนที่อยู่เหนือกระดูกแขนมีรูปร่างที่งุ้มก็จะหนีบเอ็นได้ง่ายขึ้น

อาชีพหรือกิจกรรมทำให้เกิดโรค
กีฬาชนิดต่างๆ
กีฬาหลายชนิดเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น
ว่ายน้ำที่นักกีฬาต้องยกแขนขึ้นเหนือศีรษะแล้วใช้แขนกดน้ำเพื่อดึงตัวไปข้างหน้า ขณะที่ต้องกดน้ำนั้นแขนจะอยู่ในท่าที่มีการหมุนบิดเข้าหาลำตัวซึ่งทำให้เอ็นสีกับกระดูกได้ง่ายขึ้น
แบดมินตันและวอลเลย์บอลก็เป็นกีฬาอีกประเภท ที่ต้องมีการตีลูกเหนือศีรษะด้วยความแรงจึงมีผลต่อการ บาดเจ็บของเอ็นนี้ได้ง่ายเช่นกัน
ทำงานบ้าน
แม่บ้านที่ต้องตากผ้า กวาดใยแมงมุมในที่สูง ถ้าทำบ่อยๆ ก็เข้าข่ายของการทำงานซ้ำๆ แต่ถ้านานๆ ทำครั้งแต่ทำมากก็มีผลทำให้เกิดการเสียดสีของเอ็นเช่นเดียวกัน
คนงานอุตสาหกรรม
งานในโรงงานอุตสาหกรรมที่พนักงานต้องยกแขน เงยหน้าเพื่อการประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เช่น การประกอบ รถยนต์ที่พนักงานต้องอยู่ใต้รถยนต์
งานบริการบนเครื่องบิน
งานที่ต้องยกของเก็บของขึ้นที่สูง เช่น พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินที่ต้องยกกระเป๋าผู้โดยสารขึ้นที่เก็บสัมภาระเหนือที่นั่ง หรือกลุ่มพนักงานเบิกจ่ายของ ที่ต้อง หยิบและเก็บของบ่อยๆ
      
การตรวจร่างกาย
การตรวจร่างกาย หากทำการกางแขนโดยให้ผู้อื่น ช่วยกาง (ผู้ป่วยไม่ได้กางเอง) อาการที่เกิดขึ้นจะน้อยกว่าหรือไม่มีอาการเลย
ขณะที่ถ้าผู้ป่วยกางแขนเอง อาจเริ่มมีอาการที่ ๖๐-๗๐ องศา แต่ถ้าหากกางแขนเลย ๑๒๐ องศาไปแล้วจะไม่เกิดการหนีบของเอ็น ซึ่งอาการจะแสดงออกมาได้ชัดคืออาการเจ็บลดลง
หากให้ผู้ป่วยกางแขน พร้อมทั้งหมุนแขนเข้าด้านใน แล้วบอกให้หมุนแขนออก โดยที่ผู้ตรวจทำการต้านการหมุนแขนออกจะพบอาการเจ็บและอ่อนแรง ไม่สามารถต้านแรงได้เต็มที่ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบการทำงานได้กับอีกข้างหนึ่ง และถ้าหากจับแขนผู้ป่วยให้กางออกให้เลย ๑๒๐ องศา แล้วทำการปล่อยแขนผู้ป่วยลงทันที ผู้ป่วยจะเจ็บมาก หรือไม่สามารถเกร็งแขนไว้ได้  ระยะเริ่มแรกหากทำการถ่ายภาพเอกซเรย์ จะไม่พบความผิดปกติใดๆ แต่ถ้าอาการรุนแรงถึงขั้นเอ็นฉีกขาด อาจพบความห่างของข้อไหล่มากกว่าปกติ
      
การรักษา
การรักษาจะเป็นไปตามระยะของโรค หากมีการอักเสบอยู่ การใช้ความเย็นประคบและการพักการใช้งานเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ทางระบบกระดูกซึ่งอาจมีการรักษาทางยา การฉีดยา และอาจมีการผ่าตัดเล็กโดยการส่องกล้องเพื่อตัดชิ้นส่วนของเอ็นหรือกระดูกเพื่อลดการเสียดสี

อย่างไรก็ตาม การรักษาเมื่อเริ่มมีอาการระยะแรกๆ เป็นสิ่งที่ดีที่สุด และควรปรับสภาพงานให้เหมาะสม โดยเฉพาะต้องลดงานที่ต้องใช้แขนอยู่เหนือศีรษะ นอกจากนั้นต้องระมัดระวังท่าทางการทำงาน การยกของ และต้องออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ต่อสู้กับงานหนักได้
      
การยกของขึ้นหรือลงจากที่สูง
การยกของขึ้นหรือลงจากที่สูงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะสามารถทำให้เกิดอาการปวดหลังและอาการเอ็นกล้ามเนื้อไหล่ถูกหนีบได้
การยกของขึ้นมีหลักการดังนี้
- ทดสอบน้ำหนักก่อน ถ้าหนักเกินไปให้ขอความ ช่วยเหลือ
ผู้ยกควรอยู่ใกล้ของมากที่สุด หลังตรง อย่าบิด หรือเอียงตัวขณะที่ยก
- ถ้าของหนักหรือขนาดใหญ่ ให้ยกแล้วพักที่ขอบของชั้นที่วางของก่อน
จากนั้นให้ดันของเข้าไปข้างใน
- ถ้ามีผู้ยกมากกว่า ๑ คน ให้ส่งสัญญาณ เพื่อให้ยกพร้อมกัน

การยกของลงมีหลักการเช่นเดียวกันคือ ให้ลากของออกมาวางไว้ที่ขอบแล้วค่อยๆ ยกลง ไม่เหวี่ยงและที่ดีที่สุดคือขอความช่วยเหลือในการยก
 
การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายสำหรับผู้ที่มีปัญหา จะต้องเป็น ท่าออกกำลังกายเฉพาะ และไม่ควรทำจนมีอาการเจ็บเพราะถูกหนีบ เพราะการเจ็บเป็นตัวบ่งบอกว่าเอ็นถูกกระตุ้นและอาจทำให้การบาดเจ็บซ้ำ ดังนั้นควรออกกำลังกายแค่เริ่มแตะอาการเจ็บแล้วค่อยๆ เพิ่มระยะหรือ ความหนัก และหมั่นสังเกตว่า เมื่อหยุดออกกำลังกายอาการเจ็บจะต้องไม่เพิ่มขึ้น

ท่าออกกำลังกายที่สำคัญคือการออกกำลังกายเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบข้อไหล่ ซึ่งทำได้โดยการนั่งหรือยืนศอกงอ แขนแนบลำตัว แล้วทำการดึงยางเข้าหาลำตัวและออกจากลำตัวสลับกัน โดยทำทีละน้อยๆ เช่น ๑๐ ถึง ๒๐ ครั้ง ไม่หักโหม แต่ทำบ่อยๆ ได้ 

 

ข้อมูลสื่อ

342-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 342
ตุลาคม 2550
คนกับงาน
ดร.คีรินท์ เมฆโหรา